ปปง.เร่งขอข้อมูล ICIJ ตรวจสอบทางลับคนไทย 16 ชื่อ โผล่ใน "ปานามา เปเปอร์ส"

อาชญากรรม
8 เม.ย. 59
12:48
259
Logo Thai PBS
ปปง.เร่งขอข้อมูล ICIJ ตรวจสอบทางลับคนไทย 16 ชื่อ โผล่ใน "ปานามา เปเปอร์ส"
รักษาราชการเลขาธิการ ปปง.ยืนยันยังไม่พบความผิดปกติกรณีมีรายชื่อคนไทยในปานามา เปเปอร์ส แต่ได้ประสานกับสำนักงานใหญ่ ICIJ วอชิงตันดีซี เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว

วันนี้ (8 เม.ย.2559) พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ ที่ปรึกษา และรักษาการเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยถึงการตรวจสอบข้อมูลจากปานามา เปเปอร์ส เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลและบุคคลในไทยว่า ตัวเลขที่ตรวจสอบพบรายชื่อเพียง 16 รายชื่อ จาก 21 รายชื่อ ซึ่งเป็นบุคคลทั้งหมด และเบื้องต้นยังไม่พบความผิดปกติ แต่ทาง ปปง.ประสานขอข้อมูลเพื่อตรวจสอบเชิงลึกทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานใหญ่ ICIJ วอชิงตันดีซี และหนังสือพิมพ์เอ็มดีที่เยอรมันที่เปิดเผยข้อมูลนี้ และทั้งสองแห่งไม่ใช่หน่วยงานรัฐ ดังนั้น การตรวจสอบจำเป็นต้องขอข้อมูลยืนยันจากนานาประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อยืนยันข้อมูลร่วมด้วย

สำหรับการตรวจสอบทาง ปปง.มีการตรวจสอบทางลับ เนื่องจากเป็นเรื่องกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งการตรวจสอบของ ปปง.จะทำได้ตามเอาผิดในมูลฐานการฟอกเงิน ส่วนประเด็นการเลี่ยงภาษีหรือไม่ จะเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากรในการตรวจสอบ

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่มีคนไทย 21 คนอยู่ในรายชื่อของเอกสารลับจากปานามาว่า ตามปกติแล้วการลงทุนในต่างประเทศนั้น บริษัทส่วนใหญ่มักจะไปจดทะเบียนในต่างประเทศที่ไม่มีการจัดเก็บภาษี ทำให้นักลงทุนไทยเลือกไปใช้สิทธิประโยชน์ส่วนนั้นมากกว่า ซึ่งยืนยันไม่ได้ว่าเป็นการเลี่ยงภาษีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรจะตรวจสอบในรายละเอียดอีกครั้งว่าการจดทะเบียนบริษัทของนักลงทุนไทยทั้ง 21 รายนั้น เพียงเพื่อทำธุรกิจหรือเพื่อเทคนิคในการเลี่ยงภาษีหรือเป็นเรื่องทางการเมืองหรือไม่

ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ประสานกับ ปปง.ถึงบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องดังกล่าว แต่ยังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบของ ปปง.อยู่ ดังนั้น หาก ปปง.ตรวจสอบแล้วพบว่าฟอกเงินจริง ก็เป็นหน้าที่ของ ปปง.ที่จะดำเนินการต่อ แต่หากเป็นเรื่องในการตรวจสอบภาษีก็จะส่งต่อมาให้กรมสรรพากรพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตามยังไม่ได้รับข้อมูล ดังนั้นก็เป็นไปได้ว่าจะมากกว่า 21 คน และตามปกติการไปเปิดบริษัทในต่างประเทศอาจเป็นการทำธุรกิจในต่างประเทศนั้น เป็นเรื่องปกติที่ทุกบริษัทสามารถทำได้ จึงไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายหรือการเลี่ยงภาษี และเมื่อปีก่อนกรมสรรพากรได้แก้ไขกฎหมายให้นักลงทุนที่จดทะเบียนเพื่อทำธุรกิจในต่างประเทศไม่ต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับประเทศอื่น เพื่อจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาตั้งบริษัทในไทยมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง