กสทช.เลื่อนประมูล 4G รอบใหม่เป็น 27 พ.ค.-เสนอ คสช.ใช้ ม.44 คุมการประมูล

เศรษฐกิจ
12 เม.ย. 59
07:51
296
Logo Thai PBS
 กสทช.เลื่อนประมูล 4G รอบใหม่เป็น 27 พ.ค.-เสนอ คสช.ใช้ ม.44 คุมการประมูล
กสทช.เลื่อนการประมูล 4G คลื่่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์รอบใหม่ออกไปอีก 1 สัปดาห์จากกำหนดเดิมในวันที่ 22 พ.ค.2559 เป็น 27 พ.ค.เนื่องจากบริษัทที่คาดว่าจะเข้าร่วมประมูลเตรียมหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่ทัน พร้อมกับเสนอให้หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 คุมการประมูล

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวภายหลังการประชุมวานนี้ (11 เม.ย.2559) ว่าสำนักงาน กสทช. ได้เสนอร่างประกาศหลักเกณฑ์การจัดประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ รอบใหม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.แล้ว โดยมีการปรับแก้บางส่วน แต่ยังยึดแนวทางการจัดประมูลเหมือนเดิม

นายฐากรระบุว่า ร่างประกาศหลักเกณฑ์การจัดประมูล 4G ฉบับนี้ประกอบด้วยหลักเกณฑ์การประมูลของ กสทช. และบันทึกความตกลงร่วมกันเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูลได้มากนัก แต่ในเบื้องต้นจะมีการเปลี่ยนแปลงวันจัดประมูลจากวันที่ 22 พ.ค.2559 เป็นวันที่ 27 พ.ค.2559 เนื่องจากบริษัทที่คาดว่าจะเข้าร่วมประมูลไม่สามารถจัดหาหลักทรัพย์ค้ำประกัน (แบงก์การันตี) ได้ทัน นอกจากนี้ แต่ละบริษัทจะต้องไปเจรจาและขออนุมัติกับที่ประชุมคณะกรรมการบริหารบริษัทด้วย กสทช.จึงเห็นว่าไม่ควรจะเร่งรัดจัดการประมูล เพราะหากบริษัทที่เข้าร่วมประมูลไม่มีเอกสารเตรียมแบงก์การันตี ก็ไม่มีประโยชน์

 

"ขณะนี้ สำนักงานกฤษฎีกาอยู่ระหว่างตรวจทานข้อมูลต่างๆ ที่ สำนักงาน กสทช.เสนอไป เพื่อส่งต่อให้นายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน กสทช.ได้แจ้งไปทางผู้ประกอบการให้ทราบถึงแนวทางที่จะดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดยหลักการเดิมยังจัดประมูลเหมือนเดิม แต่จะเป็นการออกประกาศจัดประมูลภายใต้คำสั่งมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่ใช่การจัดประมูลโดยคำสั่งของ กสทช." นายฐากรกล่าว

ทั้งนี้ กสทช.ได้จัดประมูล 4G คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ใบอนุญาตเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ผู้ชนะการประมูลใบอนุญาตที่ 1 คือ บ.แจส โมบาย บรอดแบนด์ ในราคา 75,654 ล้านบาท และ บ.ทรูมูฟ เอชฯ ชนะการประมูลใบอนุญาตที่ 2 ในราคา 76,298 ล้านบาท แต่ปรากฏว่า บ.แจส โมบายฯ ไม่มาจ่ายเงินค่าประมูลงวดแรกตามกำหนดเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2559 ทำให้ กสทช.ต้องดำเนินการจัดประมูลครั้งใหม่

โดยในการเตรียมจัดประมูลรอบใหม่นั้น กสทช.ได้เสนอให้ คสช. ใช้มาตรา 44 ให้ผู้ที่เสนอราคาประมูลลำดับถัดไปรับช่วงคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ต่อจาก บ.แจส โมบายฯ ในราคา 75,654 ล้านบาท และขอขยายมาตรการเยียวยาซิมดับจากเดิมที่จะครบกำหนดในวันที่ 14 เม.ย.2559 และยังได้เสนอให้ คสช. ใช้มาตรา 44 มาปรับแก้และลดกระบวนการประมูลให้เร็วขึ้น โดยยึดร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่ผ่านมติของที่ประชุม กสทช.

ก่อนหน้านี้ นายฐากรเคยชี้แจงว่า สาเหตุที่ขอให้ คสช.ใช้มาตรา 44 ทำให้กระบวนการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เร็วขึ้น เพื่อให้ปราศจากการแทรกแซงหรือเหตุอื่นที่อาจทำให้การประมูลต้องสะดุดหยุดลง ทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดรายได้เข้าสู่รัฐ และประชาชนได้ใช้คลื่นเร็วขึ้นอีกด้วย

ส่วนประเด็นการคุ้มครองลูกค้าที่ใช้โทรศัพท์ระบบสัญญาณ 2G ของเครือข่ายเอไอเอสนั้น นายฐากรกล่าวว่า ขณะนี้ได้เสนอแผนให้หัวหน้า คสช.พิจารณาแล้วเช่นกัน แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด แต่ยืนยันว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อการใช้งานของประชาชน

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม กล่าววานนี้ (11 เม.ย.) ว่ารัฐบาลยังไม่ได้ข้อสรุปว่าต้องใช้มาตรา 44 คุมการประมูล 4G คลื่น 900 MHz รอบใหม่หรือไม่ ขณะนี้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทสและการสื่อสาร (ไอซีที) กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อยู่ระหว่างการหารือกัน

ขณะนี้ยังถือเป็นอำนาจของ กสทช.ในการดำเนินการโดยใช้ช่องทางตามกฎหมายปกติ แต่หากไม่สามารถทำได้ ก็สามารถอาศัยคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ได้ อย่างไรก็ตาม อำนาจการตัดสินใจไม่ได้ขึ้นอยู่กับเลขาธิการ กสทช.เพียงคนเดียว ต้องให้บอร์ด กสทช.ทุกคนร่วมตัดสินใจ ซึ่งหากผลเป็นอย่างไร ทุกฝ่ายก็ต้องมีการพูดคุยร่วมกัน และในขณะนี้มีการรายงานต่อนายกรัฐมนตรีให้ทราบเป็นระยะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง