แพทย์แนะวิธีป้องกัน-รักษาผิวหนังโดนรังสียูวี-เฝ้าระวังเด็ก-คนชราเป็นฮีทสโตรก

สังคม
15 เม.ย. 59
16:39
1,415
Logo Thai PBS
แพทย์แนะวิธีป้องกัน-รักษาผิวหนังโดนรังสียูวี-เฝ้าระวังเด็ก-คนชราเป็นฮีทสโตรก
แพทย์ สพฉ.เตือน ห้ามป้ายยาสีฟัน-แกะผิวหนังไหม้พุพองจากรังสียูวี เหตุติดเชื้อง่าย ระบุต้องเฝ้าระวังเด็ก-คนแก่ กลุ่มเสี่ยงโรคฮีทสโตกจากอากาศร้อนร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

จากกรณี เว็บไซต์พยากรณ์อากาศของอังกฤษ ระบุว่า ช่วงวันที่ 14-17 เม.ย.นี้ เขต กทม.ของไทยจะมีค่ารังสียูวีเข้มข้นระดับสูงสุดที่ 12 พร้อมเตือนให้ประชาชนอยู่ในที่ร่ม และสวมใส่เสื้อผ้า หมวก แว่นกันแดด กางร่ม รวมถึงทาครีมกันแดดเมื่อต้องออกนอกบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงอาการแสบผิว บวมแดง ถึงขั้นอักเสบ และลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็วผิวหนัง

วันนี้ (15 เม.ย. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสำรวจพื้นที่ในเขต กทม.พบว่ามีประชาชนประกอบอาชีพที่ไม่สามารถเลี่ยงรังสียูวีและอากาศร้อนอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ตำรวจจราจร คนสวน พนักงานรักษาความปลอดภัยในสวนสาธารณะ แคดดี้ จักรยานยนต์รับจ้าง กระทั่งแม่ค้าพ่อค้าในสวนสาธารณะ ฯลฯ ซึ่งแต่ละคนมีวิธีคลายร้อน และป้องกันผิวจากรังสียูวีต่างกันไป

โดย นายคนอง รูปสวย อาสาจราจร สภ.เมืองนนทบุรี กล่าวว่า ลักษณะงานที่ต้องโบกรถหน้าห้างสรรพสินค้าเพื่อจัดระเบียบการจราจร เริ่มตั้งแต่ 09.00-18.00 น. ทำให้ผิวหนังบริเวณใบหน้า คอด้านหลัง และแขนทั้งสองข้างถูกแสงแดดโดยตรงวันละหลายชั่วโมง ทำให้เกิดอาการแสบร้อนที่ผิว มีอาการเหนื่อย และหายใจไม่ทันในบางครั้ง ซึ่งสิ่งที่ทำได้คือหลังจากโบกรถ 20-30 นาที ก็ถอยเข้าที่ร่ม และนำผ้าเช็ดหน้าชุบน้ำคอยเช็ดเหงื่อและช่วยให้ผิวที่โดนแสงแดดเย็นลง

 ผิวหนังช่วงแขนและลำคอของ อาสาจราจร สภ.เมืองนนทบุรี แสบแดงเพราะแดด

ส่วน นายธนินทร์ ประเสริฐศรีศักดิ์ จักรยานยนต์รับจ้างบริเวณประตูเหล็ก เขตจตุจักร กทม. เผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไม่ดีทำมอเตอร์ไซค์วินหลายคนยอมวิ่งวินในช่วงกลางงวัน ทั้งที่จากเดิม 10.00-11.00 น. ก็กลับเข้าบ้านกันหมด ก่อนออกมาใหม่ตอนเย็น

“วิ่งช่วงกลางวัน บางครั้งไป-กลับก็ตกชั่วโมงกว่า เมื่อเจอกับอากาศร้อนยิ่งปีนี้ร้อนมากเป็นพิเศษก็มีป่วยไข้เหมือนกัน การเตรียมตัวของพวกมอเตอร์ไซค์วินส่วนมากจะใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมถุงมือ มีโม่งคลุมหัวที่ชายผ้ายาวปิดลำคอ และหมวกกันน็อก เพื่อป้องกันผิวโดนแสงแดด แม้จะอับร้อนอยู่บ้างแต่พอกลับมาถึงวินก็ปลดถอดให้อากาศระบาย นอกจากนี้ ขวดน้ำดื่มคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ เวลาขับไปแล้วรู้สึกวิงเวียนตาลายจากอากาศร้อน จะขอลูกค้าแวะข้างทางเพื่อเอาน้ำล้างหน้าและดื่มให้ดีขึ้น” นายธนินทร์ ระบุ

 ธนินทร์บอกใช้โม่งคลุมหัวกันแดด ร้อนหน่อยแต่ดีกว่าลมร้อนปะทะหน้าตลอดเวลา

 

 

ขณะที่ นางตุ๊ก (ของสงวนนามสกุล) แม่ค้าขายขนมและเครื่องดื่มในสวนสาธารณะจตุจักร กล่าวว่า ด้วยความที่คนขายของมีหลายเข้า จำเป็นต้องอาศัยการเดินเข้าหานักท่องเที่ยว ถึงจะขายของได้ ทำให้ในแต่ละวันโดดแดดไม่ใช่น้อย เพื่อป้องกันผิวไหม้ที่อาจไปซ้ำกับโรคผิวแพ้ง่าย จึงต้องใส่เสื้อแขนยาว ขายาว โดยเน้นสีดำเพราะช่วยดูดซับรังสียูวี และใส่หมวกบังแสงแดด นอกจากนี้ หากอากาศร้อนมาก ๆ ก็จะใช้ผ้าชุบน้ำเย็นมาเช็ดตัวให้คลายร้อน และหยุดพักใต้ร่มเงาไม้เมื่อมีอากาศเหนื่อย หรือหายใจไม่ออก

 นางตุ๊ก แม่ค้าขายในสวนสาธารณะจตุจักร ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดหน้าบรรเทาความร้อน

 

 รปภ.ภายในสวนสาธารณะจตุจักร อาศัยผ้าเช็ดหน้าชุบน้ำเช็ดคลายร้อนเช่นกัน

ด้าน นพ.สาฬวุฒิ เหราบัตย์ ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ให้คำแนะนำเพื่อป้องกันและแก้ไขภัยอันตรายที่เกิดจากรังสียูวีและอุณภูมิร้อนระอุอย่างถูกต้องว่า อันตรายจากรังสียูวีแม้จะรังสีจะมีความเข้มข้นมาก แต่มักไม่เห็นผลในทันที ต้องโดนบ่อย ๆ และแต่ละครั้งใช้เวลาพอสมควร จึงจะทำให้เกิดอาการผิวลอก ไหม้ บวมแดง แต่ไม่ถึงชีวิต นอกจากจะไปกระตุ้นให้เซลล์พัฒนาเป็นมะเร็งผิวหนัง ซึ่งขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายแต่ละคน โดยหากเป็นคนกลุ่มผิวสีจะเสี่ยงน้อยกว่า

“ส่วนวิธีป้องกันคือให้ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูง เช่น SPF 50-60+ หากต้องออกจากบ้านในช่วงที่ค่ารังสียูวีเข้มข้น และสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด แต่หากโดยรังสียูวีจนผิวไหม้เกิดเป็นแผลพุพอง เบื้องต้นควรหาผ้าชุบน้ำอุณภูมิห้องมาประคบคลายความแสบร้อน และไม่ควรเจาะหรือสะกิดเพื่อให้แผลพุพองแตก หรือใช้ยาสีฟันมาโปะแผล เนื่องจากแผลลักษณะดังกล่าวติดเชื้อได้ง่ายมาก สุดท้ายให้ทาว่านหางจระเข้หรือเจลว่านหางจระเข้ แต่หากเป็นมากควรไปพบแพทย์โดยด่วน” ผอ.สำนักจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ชี้แจง

นพ.สาฬวุฒิ กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่อันตรายไม่แพ้รังสียูวีในหน้าร้อน ก็คืออุณหภูมิที่ร้อนระอุจนเลยจุดที่ร่างกายจะตอบสนองต่อการปรับอุณภูมิภายใน และทำให้เกิดโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการมึนหัว เวียนศีรษะ ในรายที่เป็นหนักอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยกลุ่มเสี่ยงคือเด็กและผู้สูงอายุ

“หากต้องทำงานในที่ที่มีอุณภูมิสูงควรเน้นเสื้อผ้าที่ปกปิดแต่ระบายได้ดี และใช้เวลาอยู่ในแต่ละครั้งไม่นานมาก โดยหากอุณภูมิอยู่ที่ 40 องศาเซียลเซียสขึ้นไป ไม่ควรอยู่นานเกิน 30 นาที ส่วนอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส แต่ไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส อยู่ได้ 2-3 ชั่วโมง” ผอ.สำนักจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ให้ข้อมูลเพิ่ม

นพ.สาฬวุฒิ กล่าวว่า เมื่อพบคนที่เข้าข่ายเป็นโรคลมแดด ให้พาเข้าที่ร่มและมีอากาศถ่ายเททันที จากนั้นให้ปลดเสื้อผ้าเพื่อให้ความร้อนระบายออก และหาผ้าสะอาดชุบน้ำอุณหภูมิปกติเช็ดตามซอกร่างกาย ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้ใช้น้ำแข็งสัมผัสร่างกายโดยตรง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง