กุมารแพทย์ฯ เรียกร้องออกกฎหมายวิธีพิจารณาคดีทางแพทย์

สังคม
20 เม.ย. 59
07:45
1,122
Logo Thai PBS
กุมารแพทย์ฯ เรียกร้องออกกฎหมายวิธีพิจารณาคดีทางแพทย์
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาตั้งข้อสังเกตการพิจารณาคดีที่ศาลฎีกาตัดสินให้แพทย์ชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ป่วยวัณโรคใน จ.เลย ว่าเป็นการใช้ระบบกล่าวหาแทนการไต่สวน ขณะที่กุมารแพทย์เรียกร้องให้ออกร่างกฎหมายวิธีพิจารณาคดีทางแพทย์ ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อการรักษาคนไข้

เมื่อวานนี้ (19 เม.ย.2559) พล.ต.หญิง รศ.พญ.ฤดีวิไล สามโกเศศ ผู้แทนราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีการตัดสินคดีของน้องหมิวที่ป่วยเป็นวัณโรค จนต้องพิการตลอดชีวิตว่า การวินิจฉัยของแพทย์ถูกต้องตามมาตรฐานสากลทุกอย่าง และกรณีการฟ้องร้องแพทย์และมีการตัดสินความผิดจะยิ่งทำให้แพทย์กังวลในการรักษามากยิ่งขึ้นเพราะกลัวตกเป็นจำเลย จึงอาจส่งผลเสียต่อการรักษาและวินิจฉัยโรคได้ จึงต้องการเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยออกร่างกฎหมายวิธีพิจารณาคดีทางแพทย์ เพื่อให้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเกี่ยวกับการแพทย์เข้ามาช่วยพิจารณาคดี และคดีความที่เกี่ยวกับการแพทย์ ไม่ควรพิจารณาโดยใช้รูปแบบของผู้บริโภค

นายชวเลิศ โสภณวัต อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา กล่าวว่า ฝ่ายแพทย์ที่ถูกฟ้องได้นำผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อมาเป็นพยานในเรื่องนี้ แต่ศาลกลับอ้างภาระหน้าที่ของคู่ความตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคมาตรา 29 ซึ่งเป็นหลักการของระบบกล่าวหา เพราะเหตุใดศาลจึงไม่ค้นหาความจริงตามหลักระบบไต่สวน โดยขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นประกอบการพิจารณาคดีนี้

สำหรับคดีนี้ผู้ปกครองเป็นฝ่ายยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุข เรียกค่าเสียหาย 12 ล้านบาท หลังน้องหมิวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเลย ระหว่างวันที่ 26-28 มิ.ย.2547 ด้วยอาการไข้สูง ปวดหัว กระทั่งน้องหมิวมีอาการทรุดหนัก จึงถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ขอนแก่น แพทย์พบว่าสมองติดเชื้อ เลือดไม่ไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้น้องหมิวกลายเป็นผู้พิการ และเมื่อเดือน ต.ค.2558 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้กระทรวงสาธารณสุขจ่ายค่าเสียหาย 2 ล้านบาทให้ครอบครัวน้องหมิว โดยศาลเห็นว่าแพทย์ที่ทำการรักษาวินิจฉัยโรคล่าช้า ทำให้ไม่สามารถรักษาโรควัณโรคได้ทันท่วงที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง