นักวิเคราะห์ชี้เหตุรุนแรงส่งท้ายเดือนถือศีลอด ผู้ก่อเหตุมุ่งโจมตีเป้าหมายเปราะบาง

ภูมิภาค
5 ก.ค. 59
19:54
137
Logo Thai PBS
นักวิเคราะห์ชี้เหตุรุนแรงส่งท้ายเดือนถือศีลอด ผู้ก่อเหตุมุ่งโจมตีเป้าหมายเปราะบาง
นักวิเคราะห์ชี้เหตุรุนแรงส่งท้ายเดือนถือศีลอด ผู้ก่อเหตุมุ่งโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ ขณะที่คืนนี้ชาวไทยมุสลิมเตรียมเฝ้ามองดูดวงจันทร์ ก่อนจะประกาศว่าวันพรุ่งนี้ (6 ก.ค.) จะเป็นวันสิ้นสุดเดือนถือศีลอดหรือไม่ เพื่อเข้าสู่บรรยากาศของการเฉลิมฉลอง

เสียงระเบิดในรถยนต์ที่ดังขึ้นข้างฐานปฎิบัติการเกาะหม้อแกง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บ 3 คน เป็นความรุนแรงครั้งใหญ่ที่สุด ในเดือนถือศีลอด หรือรอมฎอนปี 2559 ซึ่งความเสียหายภายในฐานปฎิบัติการใหญ่ ที่เปรียบเสมือนหน้าด่านเข้าสู่เมืองปัตตานี ทำให้เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย ต้องปรับแผนดูแลพื้นที่และฐานปฎิบัติการ โดยเฉพาะคืนสุดท้ายก่อนเข้าสู่การสิ้นสุดเดือนถือศีลอด หรือ ฮารีรายอ

ไม่เพียงแต่ผู้ก่อความไม่สงบจะพุ่งเป้าก่อเหตุกับเป้าหมายแข็งแต่ในช่วงเดือนถือศีลอดปีนี้ ยังเลือกใช้ยุทธวิธีคู่ขนานก่อเหตุรุนแรงกับเป้าหมายอ่อนแอ โดยเฉพาะเสียงระเบิดจากกระสุนเอ็ม 79 ที่ยิงเข้าใส่บ้านของชาวบ้าน และด้านหน้ามัสยิดอิสลามมียะห์ อ.บังนังสตา จ.ยะลา เมื่อคืนที่ผ่านมา (4 ก.ค.) ทำให้ครอบครัวของนายอับดุลเลาะห์แม โต๊ะตาหยง ต้องขาดเสาหลัก และยังทำให้มีผู้บาดเจ็บ 2 คน โดยหนึ่งในนั้น คือ เด็กชายไฟซอล ซาคอ วัย 11 ขวบ ที่ยังนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

พฤติกรรมการก่อเหตุรุนแรงที่พุ่งเป้าไปยังศาสนสถานโดยตรงโดยเฉพาะการยิงกระสุนเอ็ม 79 ด้านหน้ามัสยิด ในอ.บังนังสตา หรือเหตุลอบวางระเบิดด้านหน้ามัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บ 3 คนเมื่อวันที่ 3 ก.ค. เป็นปรากฎการณ์ที่ ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มองว่า ผู้ก่อเหตุได้ปรับเปลี่ยนยุทธวิธีโดยมุ่งเน้นการสร้างสถานการณ์กับเป้าหมายเปราะบาง เพื่อสร้างให้เกิดรอยร้าว นอกเหนือจากเหตุทำร้ายผู้นำศาสนา ยิงราษฎร์หญิง หรือเด็ก ทำให้ในปีนี้เกิดความเสียหายต่อชีวิตจำนวนมาก และเป้าหมายของการก่อเหตุก็มีความหลากหลายในเชิงสัญลักษณ์

ข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ พบว่าตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2559 เกิดเหตุรุนแรงในช่วงถือศีลอดถึง 49 เหตุการณ์ ลดลงกว่าปี 2558 ซึ่งเกิดเหตุรุนแรง 104 เหตุการณ์ แต่ปีนี้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 22 คน บาดเจ็บ 47 คน โดยในช่วง 10 วันแรกของเดือนรอมฎอน มีผู้เสียชีวิต 5 คน บาดเจ็บ 24 คน 10 วันที่ 2 มีผู้เสียชีวิต 5 คน บาดเจ็บ 11 คน และในช่วง 5 วันของ 10 วันสุดท้ายเกิดเหตุสูงถึง 15 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 12 คน และบาดเจ็บ 12 คน โดยพื้นที่ที่เกิดเหตุมากที่สุด คือ อ.เมืองปัตตานี พื้นที่ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ อ.เมืองยะลา จำนวน 4 คน และพื้นที่ที่มีผู้บาดเจ็บมากที่สุด 22 คน คือ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง