ผู้ว่าฯน่าน เตรียมประกาศเขตภัยพิบัติสารเคมี ระบุเคยเสนอใช้ม.44 ห้ามใช้สารเคมีมาแล้ว

สิ่งแวดล้อม
12 ก.ค. 59
18:09
1,071
Logo Thai PBS
ผู้ว่าฯน่าน เตรียมประกาศเขตภัยพิบัติสารเคมี ระบุเคยเสนอใช้ม.44 ห้ามใช้สารเคมีมาแล้ว
ผู้ว่าฯ น่าน ประชุมหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาสารเคมีการเกษตรปนเปื้อนแล้ววันนี้ พร้อมเชิญนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมเป็นคณะทำงานบริหารจัดการปัญหาการใช้สารเคมีในภาคเกษตรจังหวัดน่านด้วย

วันนี้ (12 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า การประชุมหารือเพื่อแก้ปัญหาสารเคมีการเกษตรปนเปื้อนที่จ.น่าน มีนายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายกมลโลจฒน์ เชียงวงศ์ รองผู้ว่าฯ น่าน เป็นประธาน โดยมีพล.ต.ชัยณรงค์ แกล้วกล้า ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 38 รวมถึงผู้แทนจากสาธารณสุขจังหวัดน่าน สำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 3 พิษณุโลก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรือถึงการแก้ปัญหาสารเคมีในภาคการเกษตรในพื้นที่จังหวัดน่าน

การหารือเริ่มต้นจากการแจ้งที่มาของการวิจัยการบูรณาการ ศึกษาการจัดการความเสี่ยงสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในพื้นที่ต้นน้ำน่าน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ยืนยันว่า ข้อมูลที่เปิดเผยผ่าน ไทยพีบีเอส มีผลการศึกษาการปนเปื้อนสารเคมีเกินค่ามาตรฐาน ทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำประปาหมู่บ้าน ในพืชผักและปลา และส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน สำนักงานสาธาณสุขจังหวัด แต่ยังไม่ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ เนื่องจากยังไม่มีทางออกที่เป็นรูปธรรม ทีมวิจัยจึงมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในระยะที่ 2 เพื่อให้การแก้ปัญหาถูกขับเคลื่อนผ่านคนในท้องถิ่น

 

รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล หัวหน้าคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร บอกว่า ปัญหาสารเคมีที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะน้ำประปาในระดับหมู่บ้านเป็นปัญหาเร่งด่วน เพราะเป็นอัตรายต่อประชาชน เนื่องจากสารปนเปื้อนชนิดพาราควอท และอาธาซีน เกินค่ามาตรฐานในระดับที่รุนแรงต่อการบริโภค ทีมวิจัยจึงได้ทำโมเดลประปาต้นแบบ ในอำเภอสันติสุข โดยจัดทำระบบน้ำประปาหมู่บ้านใหม่ทั้งหมด นำสารที่ใช้ในการกรองสารพิษมาใช้ นอกจากนี้ยังให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับประชาชน ในการขับเคลื่อนการลดใช้สารเคมี

อย่างไรก็ตามปัญหาสารเคมีปนเปื้อน ไม่ได้เกิดขึ้นและเป็นปัญหาเฉพาะในพื้นที่จังหวัดน่านเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของทั้งประเทศ แต่เชื่อว่าจากการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีต่อการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม และเชื่อว่าน่านจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการแก้ปัญหา และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

 

ด้านนายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าฯ น่าน ในฐานะประธานการประชุมแก้ปัญหาสารเคมีในการเกษตร กล่าวว่าการนำเสนอข่าวการปนเปื้อนสารเคมีในภาคการเกษตรพื้นที่ทางจังหวัดไม่ติดใจกับการนำเสนอข่าวของไทยพีบีเอส เพราะไม่ใช่มีแค่งานวิจัยของนักวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ถูกเผยแพร่ไปแล้วเท่านั้น ยังมีงานวิจัยหลายฉบับที่มีการศึกษา และบ่งชี้ถึงปัญหาสารเคมีในภาคการเกษตรและปัญหานี้ก็ไม่ต่างจากปัญหาเขาหัวโล้น

ผู้ว่าฯ น่าน กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการตั้งคณะทำงานบริหารจัดการปัญหาการใช้สารเคมีในภาคการเกษตรการติดตามแก้ปัญหา และเคยเสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้มาตรา 44 ในการประกาศห้ามใช้ยาฆ่าหญ้าในพื้นที่ต้นน้ำ แต่ก็มีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ เพราะในระดับนโยบายยังเปิดเสรีทางการค้าระหว่างประเทศ หรือ ทีพีพี (TPP) และยังให้นำเข้าสินค้าประเภทยาฆ่าหญ้า การหารือครั้งนี้จึงเป็นการนำข้อมูลจากทุกฝ่ายมาร่วมแก้ปัญหา และให้ตั้งคณะทำงานย่อย ติดตามเฉพาะเรื่องด้วย

“เบื้องต้น จากข้อมูลการปนเปื้อนสารเคมีในน้ำประปา และน้ำบริโภคมีสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน จะให้สำนักงานประปาภูมิภาคตรวจสอบ หากมีการปนเปื้อนจริง อาจพิจารณาให้พื้นที่จ.น่าน ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยทางสารเคมี เนื่องจากน้ำประปาที่ผลิตใช้ในพื้นที่จ.น่าน เป็นน้ำที่มาจากแม่น้ำน่าน เนื่องจากเรื่องน้ำประปาเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงกว้าง”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง