กรมศิลปากรแจงให้ไอคอนสยามยืมศิลปวัตถุ-ศรีศักรเตือนให้ตระหนักคุณค่า ปวศ.มากกว่าอำนาจกลุ่มทุน

Logo Thai PBS
กรมศิลปากรแจงให้ไอคอนสยามยืมศิลปวัตถุ-ศรีศักรเตือนให้ตระหนักคุณค่า ปวศ.มากกว่าอำนาจกลุ่มทุน
กรมศิลปากรจัดเวทีชี้แจงเปิดให้ "ไอคอนสยาม" ยืมโบราณวัตถุ จัดในพิพิธภัณฑ์เอกชน ยันทำถูกต้องตามขั้นตอน ด้าน อ.ศรีศักร เตือนกรมศิลป์ฯ ตระหนักคุณค่าประวัติศาสตร์ มากกว่ากลัวอำนาจเหนือกระทรวงที่มาจากการตลาดหรือกลุ่มทุน

วันนี้ (14 ก.ค. 2559) ที่ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มีการจัดเสวนาเรื่อง “ประชารัฐกับการบริหารจัดการมรดกวัฒนธรรม : กรณีศึกษาไอคอนสยาม” สืบเนื่องจากกรณีที่กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมเผยแพร่คุณค่าศิลปะและวัฒนธรรมไทย กับ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด ด้วยการให้ยืมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่เก็บรักษาอยู่ในคลังกลางของกรมศิลปากร มาจัดแสดงใน ไอคอนสยาม เฮอริเทจ มิวเซียม (ICONSIAM Heritage Museum) บนพื้นที่โครงการไอคอนสยาม

 

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากรตระหนักดีว่ามรดกทางวัฒนธรรมเป็นของชาติ แต่บริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การทำกิจกรรมก็ต้องเปลี่ยนไป แต่การจับมือกับเอกชนนั้นเป็นไปด้วยความรอบคอบ ซึ่งทำให้เห็นว่ากรมศิลปากรไม่ได้ปิดกั้นและพร้อมรับความเห็นที่หลากหลาย สำหรับข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จำนวน 41 แห่ง ของกรมศิลปากร มีจัดแสดง 39,305 รายการ ถูกจัดเก็บในคลังและยังไม่ถูกนำมาจัดแสดง 196,195 รายการ และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำทะเบียน 12,399 รายการ

นายสหภูมิ ภูมิธฤติรัฐ รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า โครงการจัดแสดงวัตถุโบราณของบริษัท ไอคอนสยาม ไม่ได้ยืมวัตถุโบราณจากกรมศิลปากรทั้งหมด แต่มีการยืมจากที่อื่นด้วย และยืนยันว่ามีภัณฑารักษ์ ของกรมศิลปากรเข้าไปดูแลความถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมทั้งอาจมีนักวิทยาศาสตร์เข้าไปดูสภาพห้องจัดแสดงไม่ให้มีผลกระทบใดๆ ต่อโบราณวัตถุ

“ส่วนข้อกังวลว่าเอกชนสามารถระบุเลือกชิ้นงานวัตถุโบราณนำไปจัดแสดงนั้น ทางเอกชนต้องทำหนังสือและขอเข้าคัดเลือก แต่ไม่ใช่การอนุญาตทุกประเภท ทุกชิ้น ซึ่งชิ้นที่หายาก ทางกรมฯ ไม่ให้อยู่แล้ว แต่อาจให้ยืมกรณีที่มีซ้ำหรือคล้ายๆ กัน แต่ก็ต้องเป็นไปตามระเบียบกรมฯ” รองอธิบดีกรมศิลปากร ระบุ

นายสหภูมิ กล่าวถึงขั้นตอนการอนุญาตให้เอกชนเข้าขอยืมโบราณวัตถุของกรมศิลปากร ว่า ที่ผ่านมา บ.ไอคอนสยาม ทำหนังสือมาถึงกรมศิลปากร โดยได้เชิญสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาหารือหลายครั้ง จนได้ข้อสรุปในการจัดทำบันทึกข้อตกลงจัดพิพิธภัณฑ์ จากนั้นเชิญนิติกรมาร่วมดูข้อกฎหมายในบันทึกข้อตกลงซึ่งยังไม่มีรายละเอียด แต่ขั้นตอนการยืมของไปจัดแสดงจะมีรายละเอียดมาก และมีความรัดกุม เช่น ของเสียหายต้องรับผิดชอบ ต้องทำประกันภัย วางแล้วขยับไม่ได้ ซึ่งไอคอนสยามจะต้องทำตามระเบียบของกรมศิลปากร โดยหลังทำบันทึกข้อตกลงแล้วทางบริษัทต้องทำหนังสือขอยืมโบราณวัตถุ เพื่อพิจารณาคัดเลือก ดูความบอบบางเหมาะสม จากนั้น อธิบดีจะส่งเรื่องเข้าคณะกรรมการประเมินค่าทรัพย์สินและเสนออธิบดีอีกรอบ จึงเข้าสู่ขั้นตอนการทำประกันภัย แล้วจึงเข้าสู่การเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นหลักของกรมศิลปากร

ด้าน ศ.พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการอาวุโสด้านศิลปวัฒนธรรม กล่าวว่า ขณะนี้ เกิดปรากฏการณ์คนในสังคมสนใจวัตถุโบราณมากกว่าเมื่อก่อน แต่การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม และการเคลื่อนไหวของฝ่ายทุนที่อยากจะขอยืม จะทำให้กรมศิลปากรกลายเป็นจำเลยสังคม เพราะโบราณวัตถุของกรมศิลปากรที่เอกชนนำไปจัดแสดงส่วนใหญ่เป็นศิลปวัตถุ ซึ่งคุณค่าของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จะสำคัญกว่า ดังนั้น การอนุญาตให้เอกชนยืมต้องระวัง ไม่เช่นกรมศิลปากรนั้นจะเกิดปัญหา เพราระในประเทศญี่ปุ่นจะไม่ให้ห้างสรรพสินค้ายืมอะไรที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เลย

“ฉะนั้น กรณีของไอคอนสยามต้องพิจารณาว่าจะให้อะไรไป เอาไปต้องรักษาคุณค่า และไม่ต้องไปคำนึงถึงเรื่องอำนาจเหนือกระทรวงที่อาจมีผลต่อธุรกิจหรือการตลาด มากกว่าคุณค่าทางประวัติศาสตร์” ศ.พิเศษ ศรีศักร ชี้แจงเพิ่มเติม

 

ขณะที่ นางศิริพร นันตา นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ กล่าวว่า เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไป การที่ราชการปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอเรื่องโบราณวัตถุให้สังคมเข้าใจได้อย่างกว้างขวางขึ้นน่าจะเป็นเรื่องที่ดี จะมาเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ไม่ได้แล้ว ซึ่งการนำโบราณวัตถุไปจัดแสดงที่อื่นนั้น ก็เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว เช่น ในปี 2525 นำไปจัดแสดงที่ประเทศญี่ปุ่น โดยนำตู้พระธรรมประดับมุกซึ่งเป็นของมาสเตอร์พีช แต่การเคลื่อนไหวก็ดูแลกันเข้มข้น ส่วนกรณีของไอคอนสยาม มองว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ประชาชน จะได้มีโอกาสรับชมโบราณวัตถุในศูนย์การค้า และเชื่อว่ากรมศิลปากรจะดูแลบริหารจัดการโดยไม่ให้เกิดปัญหาได้ เหมือนที่เคยเคลื่อนย้ายมาแล้วเหมือนเมื่อ 30 ปีก่อน

นายปฐมฤกษ์ เกตุทัต อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาชุมชนและวัฒนธรรมเมือง เปิดเผยว่า กรณีนี้ ไม่ได้เริ่มมาจากกรมศิลปากร แต่มีคนที่มีอำนาจจากนอกกรมฯ เป็นผู้สั่งการ โดยตั้งข้อสังเกตว่ากรมศิลปากรได้คำนึงถึงผลดีหรือผลเสียที่ให้เอกชนยืมอย่างไรบ้าง รวมถึงข้อมูลของบริษัทไอคอนสยาม มีพื้นที่สำหรับการจัดประมูลของเก่าด้วย ทางกรมศิลปากรจะดำเนินการอย่างไร และต้องคำนึงว่ากรมศิลปากรเป็นสมาชิกสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ หรือ ICOM (International Council of museums) หากมีการดำเนินการก็ควรทำอย่างเหมาะสม พร้อมเสนอขอให้กรมศิลปากรเปิดเว็บไซต์ถามความเห็นประชาชน เพื่อประมวลความเห็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง