เครือข่ายแรงงาน-นักวิชาการชี้โครงการสมัครใจลาออกอาจเลี่ยงจ่ายเงินชดเชยพิเศษ

เศรษฐกิจ
15 ก.ค. 59
12:37
451
Logo Thai PBS
เครือข่ายแรงงาน-นักวิชาการชี้โครงการสมัครใจลาออกอาจเลี่ยงจ่ายเงินชดเชยพิเศษ
เครือข่ายแรงงานและนักวิชาการเห็นตรงกันว่าการเปิดโครงการสมัครใจให้ลูกจ้างลาออกของบริษัทผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ อาจต้องการหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชยพิเศษ และเรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการช่วยเหลือ ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ มากกว่ามองเรื่องภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

วันนี้ (15 ก.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเสวนาหัวข้อ "เลิกจ้างแรงงานเหมาค่าแรง เศรษฐกิจชะลอตัว นำเข้าเครื่องจักร หรือเทคนิคแพรวพราวของทุน" จากกรณีบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เลิกจ้างลูกจ้างเหมาค่าแรง และเปิดโครงการสมัครใจลาออก จากกันด้วยใจ

นายวิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์ รองประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมีความผิดปกติ และเจตนาหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินตามกฎหมาย ตามมาตรการ 121 และมาตรา 122 ว่าด้วยเรื่องของการนำเครื่องจักร หรือเทคโนโลยีใหม่มาใช้แทนการผลิตด้วยกำลังคน นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการเปิดโครงการสมัครใจลาออก โดยที่บริษัทจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานและเพิ่มเติมพิเศษ เป็นเพียงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทเท่านั้น

ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่บริษัทอ้างถึงผลจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้านเศรษฐกิจ ทำให้ต้องลดจำนวนแรงงานลง อาจจะไม่ใช่เหตุผลหลัก และมีนัยแอบแฝง โดยเฉพาะหากมีการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้ามาทำงานแทนแรงงาน รัฐบาลต้องหามาตรการรองรับแรงงานที่ได้ผลกระทบ แต่ที่ผ่านมารัฐกลับไม่มีความชัดเจนเรื่องนี้ มองแต่เรื่องของเศรษฐกิจ การตลาดและอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้มองเรื่องปากท้องของแรงงานเหล่านี้

ทั้งนี้ สถิติกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เดือนกรกฎาคม ระบุว่า ประเทศไทยมีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจำนวน 8,584,659 คน กระจายในสถานประกอบการ 355,985 แห่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง