หนังสือ "ขังหญิง" ของธนัดดา สว่างเดือน คว้ารางวัลชมนาดครั้งที่ 5

Logo Thai PBS
หนังสือ "ขังหญิง" ของธนัดดา สว่างเดือน คว้ารางวัลชมนาดครั้งที่ 5
วงการวรรณกรรมคึกคักเป็นพิเศษ มีการประกาศผลและมอบรางวัลกันถึง 3 งาน ทั้งวรรณกรรมการเมือง "พานแว่นฟ้า" ผลรอบสุดท้ายซีไรต์ ประเภทกวีนิพนธ์ และการประกวดสารคดีรางวัลชมนาด เวทีของนักเขียนหญิง บอกเล่าชีวิตจริงที่สะท้อนปัญหาสังคม

วันที่ 8 ก.ย.2559 สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้จัดโครงการประกวดงานวรรณกรรมยอดเยี่ยมประเภทสารคดี (NON-FICTION) ของนักเขียนหญิง รางวัลชมนาดครั้งที่ 5 ปีนี้ โดยผลงานรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ "ขังหญิง" โดยธนัดดา สว่างเดือน ภายใต้นามปากกา "นวกันต์"

 

 

ประสบการณ์ต้องโทษในเรือนจำนานกว่า 3 ปี และชีวิตที่ถูกสังคมตั้งข้อรังเกียจหลังพ้นโทษ คือบาดแผลในใจของธนัดดา สว่างเดือน จนถึงวันนี้ และยังสะท้อนใจทุกครั้งเมื่อเห็นเพื่อนร่วมชะตากรรมในเรือนจำ จึงนำประสบการณ์มาถ่ายทอดเป็นเรื่องราวในงานเขียนสารคดีชิ้นนี้ ก่อนหน้านี้ ธนัดดาเคยได้รางวัลชมนาดมาแล้วจากผลงาน “ฉันคือเอรี่” ที่บอกเล่าชีวิตของตัวเองในฐานะหญิงบริการข้ามชาติ จนถึงวันที่สามารถกลับมายืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง

"สังคมไม่ได้ให้โอกาสแก่คนที่ได้รับอิสรภาพ นี่คือแรงบันดาลใจที่อยากตีแผ่ เพื่อให้กำลังใจแก่คนที่พ้นโทษออกมา คนเหล่านั้นควรจะได้รับสิทธิ์เท่าเทียมกับคนทั่วไป" ธนัดดา ระบุ

 

 

ตรีศิลป์ บุญขจร กรรมการตัดสินรางวัลชมนาด เปิดเผยว่า ขังหญิงทำให้เห็นชีวิตในคุกที่มีความแตกต่างทางชนชั้น มีนักโทษรวย จน มีเรื่องราวของคนในคุกที่อยู่ในสภาพทุกข์ยากจนต้องเอาตัวรอด และการเอาตัวรอดของคนเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างมีสีสัน มีชีวิตชีวา

รางวัลชมนาด เป็นทั้งกำลังใจและเวทีจุดประกายให้นักเขียนหญิงหน้าใหม่หลายคน ผลิตผลงานอย่างต่อเนื่อง อย่างธนัดดา สว่างเดือน หลังจากได้รางวัลเมื่อ 5 ปีก่อน ก็เขียนหนังสือออกมารวม 6 เล่ม และยังมีคอลัมน์ในนิตยสาร หรือ พญ.สุดานี บูรณเบญจเสถียร เจ้าของผลงาน หนังสือ "เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน" ก็มีผลงานต่อเนื่องหลังได้รับรางวัล เรื่องราวและประสบการณ์ ที่เหล่านักเขียนหญิงแบ่งปันผ่านเวทีรางวัลชมนาด ยังทรงคุณค่าในฐานะบันทึกปัญหาสังคม และ ยังสร้างแรงบันดาลใจ ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง

นอกจากรางวัลชมนาดแล้ว อีกเวทีคือรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์อาเซียนหรือซีไรต์ปี 2559 ได้ประกาศผล ผลงานเข้ารอบสุดท้ายประเภทกวีนิพนธ์มาแล้ว 6 เล่ม ได้แก่
1.ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา - โรสนี นูรฟารีดา
ผลงานตีพิมพ์เล่มแรกของกวีรุ่นใหม่ นักเขียนหญิงคนเดียวที่เข้ามาถึงรอบสุดท้าย บอกเล่ามุมมองต่อพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

2. ทางจักรา - ศิวกานท์ ปทุมสูติ
ถ่ายทอดแง่มุมชีวิตของกวีรุ่นใหญ่ ที่ร้อยเรียงบทกวีให้สัมพันกันตั้งแต่บทแรกถึงบทสุดท้าย

3. นครคนนอก - พลัง เพียงพิรุฬห์
คนนี้มีผลงานทั้งกวีและเรื่องสั้น เรื่องนี้มีลูกเล่นกับความร่วมสมัย เช่น ใช้เครื่องหมาย แฮชแท็ก มาใส่ในกวี

4. บางคนอาจเดินสวนทางเราไป - บัญชา อ่อนดี
เรื่องนี้เคยได้รางวัลเซเว่นบุ๊กอวอร์ด มาแล้ว โดดเด่นด้วยน้ำเสียงเสียดสีสังคม

5. พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล - วิสุทธิ์ ขาวเนียม
กวีชาวไร่ ใช้ธรรมชาติบอกเล่าภาพสังคม ผ่านงานกวีฉันทลักษณ์ผสมกลอนเปล่า

6. เพลงแม่น้ำ - โขงรัก คำไพโรจน์
พูดถึงวิถีแห่งสายน้ำที่กวีเติบโตมา และปรัชญาชีวิตผ่านกลอนสุภาพ

สำหรับรางวัลซีไรต์ จะมีการประกาศผลภายในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนรางวัลวรรณกรรมการเมือง "พานแว่นฟ้า" ปีนี้ ผลงานเรื่อง "สงบงงในดงงู" ของจันทรา รัศมีทอง คว้ารางวัลประเภทเรื่องสั้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง