ม.รังสิต ออกแถลงการณ์ต้านรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ-หนุนเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง

สังคม
10 ก.ย. 59
16:41
476
Logo Thai PBS
ม.รังสิต ออกแถลงการณ์ต้านรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ-หนุนเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง

วันนี้ (10 ก.ย.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะผู้บริหาร คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยรังสิต ออกจดหมายเปิดผนึก “สนับสนุนให้ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่มีชีวิตคนอยู่กับโบราณสถานได้” โดยระบุว่า ตามที่กรุงเทพมหานคร มีแนวทางการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬเพื่อเป็นสวนสาธารณะและแหล่งท่องเที่ยว จนมีความขัดแย้งกับชุมชนป้อมมหากาฬมายาวนานกว่า 20 ปีและมีการวิพากษ์วิจารณ์จากเครือข่ายชุมชน นักประวัติศาสตร์นักโบราณคดี เครือข่ายนักวิชาการ ภาคประชาสังคมจำนวนมาก รวมทั้งองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มุ่งหวังให้กรุงเทพมหานคร คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเกาะกรุงรัตนโกสินทร์และคณะรัฐมนตรี ปรับกรอบแนวคิดและแนวทางการพัฒนามาสู่หลักการที่บริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน ให้ชุมชนอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้และคัดค้านแนวทางการรื้อชุมชนประวัติศาสตร์เก่าแก่แห่งเดียวที่เหลืออยู่ของกรุงเทพฯ ในขณะที่มีงานวิจัยที่นำเสนอทางเลือกในการแก้ปัญหาอย่างชัดเจนและยั่งยืนต่อกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2549 แต่ไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใดจนถึงปัจจุบัน

การเข้ารื้อบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 และ 4 ก.ย.2559 ที่ผ่านมา แม้จะเริ่มด้วยบรรยากาศที่ตึงเครียด แต่ในที่สุดก็มีแนวทางที่ดีร่วมกันในการแก้ไขปัญหา โดยกรุงเทพมหานคร ยอมรับเข้าร่วมเจรจากับหลายฝ่ายต่อหน้าประจักษ์พยานทั้งสื่อมวลชนและเครือข่ายประชาสังคมต่างๆ โดยตกลงรื้อเฉพาะบ้าน 12 หลังที่สมัครใจเท่านั้นและเตรียมตั้งคณะกรรมการพหุภาคีเพื่อออกแบบวางแผนการพัฒนาชุมชนที่อยู่ร่วมกับโบราณสถานได้โดยพิจารณาองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และกรอบแนวคิดการพัฒนาที่กลมกลืนกับการอนุรักษ์โบราณสถานที่มี “คน” “ประวัติศาสตร์ชุมชน” เป็นตัวตั้งและดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอจากการเจรจาครั้งล่าสุด ประกอบกับงานวิจัยและการเสนอความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขา ยังไม่มีผลนำไปสู่ทางออกที่เป็นจริงและยังคงมีข่าวการเตรียมไล่รื้อต่อไป ทำให้สถานการณ์ไม่เป็นผลดีต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน

คณะผู้บริหารและคณาจารย์ ของมหาวิทยาลัยรังสิตที่ติดตามเรื่องราวของปัญหาและความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ ในฐานะนักวิชาการที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมและยึดถือการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมที่ยั่งยืนจึงขอมีส่วนร่วมในการเสนอทางออกของการแก้ไขปัญหาดังนี้

1.เป็นที่ประจักษ์ในข้อเท็จจริงร่วมกันว่า พื้นที่ป้อมมหากาฬเป็นโบราณสถานเก่าแก่ที่มีความหมายในเชิงประวัติศาสตร์และขณะเดียวกันก็มีชุมชนป้อมมหากาฬเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีบ้านไม้โบราณ มีต้นไม้ใหญ่กลางกรุงและมีรากเหง้าทางวัฒนธรรมอยู่คู่กันมายาวนาน จึงไม่ควรไล่รื้อชุมชนออกไป

2.กรอบแนวคิดและทิศทางการพัฒนาในยุคปัจจุบันมีทิศทางที่ก้าวหน้าต่างจากเดิมมากแล้ว รวมทั้งมีบทเรียนที่ดีในการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่มีชีวิตในต่างประเทศ ในสังคมไทยก็ได้เรียนรู้พัฒนาคุณค่าและความหมายของการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม การพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงควรที่จะต้องเปลี่ยนแปลงแผนแม่บทการพัฒนาเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ให้มีการยอมรับหลักการที่คนและชุมชนอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้ พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีจิตวิญญาณของประวัติศาสตร์ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเคารพในหลักการการอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วมบนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน

3.ทางออกที่เหมาะสมและเป็นไปได้ คือ การยุติการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬและขอสนับสนุนให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยหลายฝ่ายมากำหนดกรอบแนวคิดแนวทางการพัฒนาในการสร้างพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่มีชีวิตทำให้ชุมชนป้อมมหากาฬและกำแพงเมืองเป็นแบบอย่างของการอนุรักษ์โบราณสถาน ที่มี “ชุมชน” อยู่ร่วม และมีกติการ่วมกันในการรับผิดชอบดูแลโดยชุมชน ซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์และพัฒนาที่ยั่งยืนที่สุด

คณะผู้บริหารและคณาจารย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ตามรายชื่อแนบท้ายนี้ ขอเสนอความเห็นเพื่อมีส่วนร่วมรับผิดชอบสังคมร่วมกับทุกฝ่าย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร จะร่วมกับภาคประชาสังคมและชุมชนป้อมมหากาฬ ดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ลุล่วง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่มีชีวิตและงดงามคู่กับสังคมไทย

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง