“ระบำคนหูหนวก” ในบาหลี ...แสง สี เสียง แห่งความสุขที่ไร้อุปสรรค

Logo Thai PBS
“ระบำคนหูหนวก” ในบาหลี ...แสง สี เสียง แห่งความสุขที่ไร้อุปสรรค
ความบกพร่องทางกายที่ไม่สามารถได้ยินเสียงใดๆ ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับนักแสดงระบำในหมู่บ้านบนเกาะบาหลี พวกเขาหาช่องทางในการสื่อสาร และสร้างสรรค์การเต้นรำขึ้นมาใหม่ เพื่อให้คนหูหนวกและคนหูดีแสดงร่วมกันได้อย่างมีความสุขไร้อุปสรรค

วันนี้ (30 ก.ย. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเต้นรำที่แทบไม่ต่างจากการแสดงพื้นบ้านที่เห็นได้โดยทั่วไปในอินโดนีเซีย แต่ที่พิเศษก็คือเหล่านักแสดงล้วนเป็นนักเต้นหูหนวกจากหมู่บ้านเบงกาลา หมู่บ้านเล็กๆ ทางตอนเหนือของเกาะบาหลี ที่ขึ้นชื่อเรื่องการแสดงระบำและการแสดงศิลปะป้องกันตัว ทุกวันนี้มีนักท่องเที่ยวจากยุโรปและเมืองจีน เดินทางมาชมการแสดงไม่ขาดสาย

เบงกาลา เป็นที่รู้จักในฐานะหมู่บ้านที่มีสมาชิกเป็นคนหูหนวกจำนวนมาก สัดส่วนประชากร 3,000 คน จะมีผู้สูญเสียการได้ยินโดยสิ้นเชิงถึง 40 คน

แต่เดิมชาวบ้านเชื่อว่า เป็นผลกรรมจากคำสาปแช่งที่ทำให้คนในหมู่บ้านหลายคนต้องเกิดมาเป็นคนหูหนวก แต่ในปี1960 การพิสูจน์ทางการแพทย์พบว่าอาการหูหนวกเป็นความผิดปกติทางโครโมโซม ที่ถ่ายทอดระหว่างคนในชุมชนผ่านทางพันธุกรรม

แทนที่จะให้ความพกพร่องมาแบ่งแยกคนในชุมชน หมู่บ้านเบงกาลาได้คิดค้น ภาษา “กาตา โกโลก” ภาษาสัญลักษณ์ที่ใช้สื่อสารระหว่างคนในหมู่บ้าน โดยใช้กันอย่างแพร่หลายถึงร้อยละ 80 ของประชากร ในเบงกาลายังมีการสอนภาษากาตา โกโลก ให้กับเด็กในหมู่บ้านตั้งแต่ชั้นประถม โดยไม่แบ่งว่าผู้เรียนจะเป็นจะเป็นเด็กที่สูญเสียการได้ยินหรือเด็กหูดี

แต่การไม่มีชั้นเรียนมัธยมสำหรับคนหูหนวกในหมู่บ้าน ทำให้เด็กๆ หลายคนต้องหยุดเรียนไว้แค่ชั้นประถม กระนั้น คนหูหนวกในเบงกาลาก็ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา หลายคนฝึกฝนฝีมือด้านหัตถกรรมเพื่อนำงานประดิษฐ์ไปจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งยังเป็นแรงงานสำคัญในการทำนาปลูกข้าว

เช่นเดียวกับทีมนักเต้นของคณะระบำคนหูหนวก ที่ใช้เวลาหลายเดือนในการจดจำท่วงท่าร่ายรำแทนการฟังเสียง เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าอาการหูหนวกไม่ใช่อุปสรรคสำหรับการอยู่ร่วมกันกับผู้คนในชุมชนแห่งนี้

ความพิเศษของภาษากาตา โกโลก คือการเป็นภาษาที่มีความเป็นเอกเทศ ไม่เกี่ยวข้องกับภาษาบาหลีหรือภาษามือที่ใช้สำหรับคนหูหนวกในที่อื่นๆ แต่อย่างใด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง