นายกฯ เชื่อ "เกษตรแปลงใหญ่" คือทางออก ตั้งเป้าขยายเป็น 1,000 แปลงในปี 60

การเมือง
11 พ.ย. 59
21:25
529
Logo Thai PBS
นายกฯ เชื่อ "เกษตรแปลงใหญ่" คือทางออก ตั้งเป้าขยายเป็น 1,000 แปลงในปี 60
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชวนเกษตรกรรวมกลุ่มกันทำ "เกษตรแปลงใหญ่" ตามนโยบายของรัฐบาล ชี้การรวมกลุ่มทำให้เกษตรกรเข้มแข็ง และช่วยให้รัฐบาลบูรณาการงบประมาณสนับสนุนได้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากรัฐบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะแก้ปัญหาแบบรายหัวได้

ในรายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน" ประจำวันที่ 11 พ.ย.2559 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึง 3 ประเด็นหลัก คือ การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาข้าว การบริหารจัดการน้ำและนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลที่เน้นเรื่องการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก

"เกษตรแปลงใหญ่" คือทางออก

นายกฯ กล่าวว่าแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยนั้น รัฐบาลสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกันเป็นกลุ่ม เชื่อมโยงเข้าด้วยกันให้เกิดเป็น “เกษตรแปลงใหญ่” ซึ่งจะมีการกำหนดความต้องการน้ำให้เหมาะสม จัดหาเครื่องมือสำหรับใช้ร่วมกัน ตลอดจนวางแผนปลูกพืชให้สอดคล้องกับตลาดรับซื้อ ทั้งบริโภคเองในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ

"ปัจจุบันมีสหกรณ์อยู่กว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ เป็นสหกรณ์ภาคการเกษตร กว่า 4,000 แห่ง จำเป็นต้องได้รับการเสริมสร้างความเข้มแข็ง โดยหากมีการรวมตัวกันอย่างเป็นทางการ มีการลงทะเบียนที่ชัดเจน รัฐก็สามารถจัดสรรงบประมาณลงไปตรงจุดแก้ปัญหาอย่างมีระบบตรงตามเป้าหมาย และความต้องการซึ่งรวมทั้งการลดต้นทุน การจัดหาเครื่องจักร เครื่องสี เครื่องอบ เราไม่สามารถแจกจ่ายทุกครัวเรือนได้ หรือจะแก้ปัญหาทุกอย่างรายหัวได้ เพราะฉะนั้นประชาชน เกษตรกร จะต้องสร้างความเข้มแข็งของตนเองด้วย"

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า หากว่าเกษตรสามารถสร้างความเข้มแข็งในระดับฐานรากได้ พ่อค้าคนกลางก็จะไม่สามารถผูกขาดราคาได้ หากเกษตรกรเข้มแข็ง พ่อค้าก็ต้องปรับตัว โรงงานโรงสีก็ต้องปรับตัวไปด้วย ทั้งนี้นายกฯ ได้ขอให้พ่อค้าและโรงสีข้าวช่วยลดกำไรที่จะได้ลงเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ พร้อมกับกล่าวถึงการขายผลผลิตทางการเกษตรทางออนไลน์ว่า ไม่ได้เป็นการแย่งตลาด แต่เป็นการเปิดช่องทางเพื่อสร้างเครือข่ายและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ

 

สำหรับความก้าวหน้าของนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ของรัฐบาลนั้น ขณะนี้มีจำนวน 600 แปลง มีเกษตรกรได้รับผลประโยชน์แล้วประมาณ 97,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 1.5 ล้านไร่

"แต่ยังเหลือพื้นที่อีกหลายล้านไร่ ถ้าหากรวมเป็นกลุ่มกันได้ รัฐบาลพอจะจัดหางบประมาณ มาส่งเสริม เติมเต็มในส่วนที่ขาด ได้ตรงความต้องการ ตรงศักยภาพของแต่ละพื้นที่...หากต้องดูทั้งหมด ทุกกลุ่ม ทุกประเด็นปัญหา งบประมาณเราไม่มีพอนะครับ กระจัดกระจายกันมากเกินไป เพราะฉะนั้น การรวมกลุ่มกันได้นั้น นอกจากจะช่วยสร้างความเข้มแข็งด้วยตัวเองแล้ว รัฐบาลก็ยังจะหาทางให้การสนับสนุนอย่างบูรณาการ เช่น กรณีสินค้าข้าวสามารถเพิ่มผลผลิตเฉลี่ย ร้อยละ 13 และลดต้นทุนการผลิตได้ ร้อยละ 19 นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยเหลือเกษตรกร ในเรื่ององค์ความรู้, การบริหารจัดการ, การเข้าถึงแหล่งเงินทุน, การแปรรูป, การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และการตลาด เป็นต้น"

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในปี 2560 มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่การทำเกษตรแปลงใหญ่อีก 400 แปลง ซึ่งนโยบายนี้เป็นไปตามแนวทางพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมุ่งหวังให้เกิดการรวมกลุ่มประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาหลักของชุมชนชนบท ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาแบบพึ่งพาตนเอง โดยเฉพาะการรวมตัวกันเป็นรูปของสหกรณ์

"ในทุกพื้นที่ที่เสด็จพระราชดำเนินได้มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นมาไม่ว่าลักษณะใด จะทรงเน้นเสมอถึงความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวกัน ในรูปแบบต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ชุมชนเผชิญอยู่ร่วมกัน หรือเพื่อให้การทำมาหากินของชุมชนโดยส่วนรวมนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประหยัด พอเพียง จนเห็นได้ว่ากลุ่มสหกรณ์ในโครงการพระราชดำริ ประสบความสำเร็จหลายโครงการนั้น ก็ได้พัฒนาขึ้นมาจากการรวมตัวกันของราษฎรกลุ่มเล็กๆ ทั้งสิ้น"

วอนเอ็นจีโอ-นักอนุรักษ์ อย่าคัดค้านโครงการจัดการน้ำของรัฐ

การจัดการน้ำเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นายกฯ กล่าวถึงในสัปดาห์นี้ โดยกล่าวถึงสภาพปัญหาว่าขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่ในเขตชลประทานเพียงร้อยละ 20 หรือ 30 ล้านไร่เท่านั้น แต่พื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทานถึงร้อยละ 80 หรือราว 120 ล้านไร่ ซึ่งนายกฯ ฯ ยอมรับว่า รัฐบาลไม่สามารถหาน้ำให้ได้ทั้งหมด

"ถ้าเราเก็บกักน้ำไม่ได้ ประชาชนขัดขวางในเรื่องของการขุด การสร้างเขื่อนที่จำเป็น หรือการทำแก้มลิง หรือการทำทางระบายน้ำ เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ปริมาณน้ำมากขึ้น เราจะบริหารจัดการได้อย่างไรไม่ให้ท่วม ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ไม่ให้เกษตรกรเดือดร้อน และเราจำเป็นต้องมีน้ำเหลือไว้ใช้ในยามแล้งอีกด้วยนะครับ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว "หากเราไม่มีระบบระบายที่ดีแล้ว ก็เสี่ยงต่อสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ตลอดเวลา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่ผ่านมาก็เกิดเหตุการณ์ น้ำล้นตลิ่งอยู่เสมอ หากไม่สามารถน้อมนำแนวทางพระราชดำริศาสตร์พระราชาเรื่องแก้มลิงมาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หาพื้นที่ทำแก้มลิงไม่ได้ สร้างที่เก็บน้ำหรือเขื่อนอะไรไม่ได้เลย เราจะระบายน้ำไปที่ไหนครับ เราจะเก็บกักน้ำไว้ได้ที่ไหนในหน้าแล้ง"

นายกฯ คาดการณ์ว่าถ้าปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากไม่ได้รับการแก้ไขเพราะโครงการต่างๆ ของรัฐถูกคัดค้าน พื้นที่น้ำท่วมก็จะเพิ่มขึ้นในอนาคต จาก 1.66 ล้านไร่ เป็น 4.12 ล้านไร่ ซึ่งจะสร้างความเสียหายมากขึ้นจากประมาณ 25,000 ล้านบาทต่อปี เป็น 150,000 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งรัฐบาลยังต้องเสียงบประมาณจำนวนมากในการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัย

"ขอร้องให้ช่วยกันคิดหน่อยนะครับ รัฐบาลปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้อยู่แล้ว แต่การแก้ไขอย่างยั่งยืน ต้องทำทั้งระบบ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ขอร้อง NGO นักอนุรักษ์ นะครับ ก็ต้องพยายามมองในมุมนี้ด้วย เพราะฉะนั้น ผลงานด้านสิทธิมนุษยชน ด้านอนุรักษ์อาจออกมาดีนะครับในสายตาของโลกภายนอก แต่ประชาชนของเรายากจน เกษตรกรเดือดร้อน พัฒนาไปด้วยไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวทางการจัดการน้ำไว้แล้วทั้งหมด เราได้ทำสำเร็จไปแล้วบ้าง ขณะที่บางพื้นที่ทำไม่ได้เพราะประชาชนยังไม่เข้าใจและมีการต่อต้านจาก NGO"

นายกฯ กล่าวว่าการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการทั้งระบบของรัฐบาลชุดนี้มีความก้าวหน้าอย่างเมื่อเทียบกับช่วง 27 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2530 - 2557) เช่น การจัดหาแหล่งน้ำบาดาลช่วยภัยแล้งซึ่งไม่มีดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา แต่นับจากปี 2557 รัฐบาลนี้ได้ขุดแหล่งน้ำบาดาลแล้วจำนวน 2,500 กว่าแห่ง, น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 27 ปีที่ผ่านมา ทำได้เพียง 1,300 กว่าแห่ง รัฐบาลนี้ ทำได้ 2,300 กว่าแห่ง, ประปาหมู่บ้าน 27 ปีที่ผ่านมา ทำได้ 12,000 กว่าแห่ง 2 ปีรัฐบาลนี้ ทำได้ 5,700 กว่าแห่ง และการป้องกันและลดการพังทลายหน้าดิน ซึ่งไม่เคยดำเนินการมาก่อน รัฐบาลนี้ได้ดำเนินการในพื้นที่กว่า 670,000 ไร่ ใน 2 ปีที่ผ่านมา

เดินหน้ายุบโรงเรียนขนาดเล็ก

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงปัญหาด้านการศึกษาของไทยว่า ปัญหาหนึ่งคือโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่จำนวนมากกว่า 15,000 โรงเรียน กว่า 900 โรงเรียนมีนักเรียน น้อยกว่า 20 คน บางโรงเรียนมีนักเรียนเพียง 15 คน แต่มีครู 3 คน แต่รัฐบาลยังคงต้องสนับสนุนงบประมาณ เพื่อการศึกษาและจัดหาสื่อการเรียนการสอน ให้กับทุกโรงเรียน นับว่าเป็นรากเหง้าของปัญหาครูไม่ครบชั้น – นักเรียนได้รับการศึกษาคุณภาพต่ำ – การบริหารงบประมาณ ไม่คุ้มค่า ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น เหล่านี้เป็นปัญหาสะสมกันมายาวนานปัญหาหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบทั้งด้านเศษรฐกิจ การเมือง และสังคม ของประเทศ

รัฐบาลนี้ได้แก้ไขปัญหาในเรื่องของการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กโดยให้ชุมชนเลือก "โรงเรียนดีใกล้บ้าน" หรือ "โรงเรียนแม่เหล็ก" สำหรับเป็นโรงเรียนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้มีคุณภาพการศึกษาที่ดีและได้มาตรฐาน, มีสัดส่วนครูที่เหมาะสม, มีสื่อการเรียนรู้ ห้องเรียน สนามกีฬา และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

"ขณะนี้มีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กไปแล้ว 286 โรงเรียน และจะดำเนินการในปีการศึกษาหน้าอีก 309 โรงเรียน ส่งผลให้มีจำนวนครู เกือบ 2,000 คน จากโรงเรียนที่ถูกยุบ ย้ายไปสอนใน 'โรงเรียนดีใกล้บ้าน' 310 แห่ง ทำให้ โรงเรียนดีใกล้บ้านมีครูเพิ่มเฉลี่ย 6 คนต่อโรงเรียน" นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในวันที่ 14 พ.ย.2559 ครบ 30 วัน การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัฐบาลได้ผ่อนผันให้ทุกภาคส่วนในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ แต่ขอให้คำถึงความรู้สึกของประชาชนและบรรยากาศของสังคมด้วย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง