ปัญหาการออมต่ำรายได้ไม่เพียงพอยามเกษียณ

เศรษฐกิจ
17 พ.ย. 59
12:42
1,324
Logo Thai PBS
ปัญหาการออมต่ำรายได้ไม่เพียงพอยามเกษียณ
ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งในปีงบฯ 2559 รัฐต้องจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ และเงินสมทบต่างๆ กว่า 2.9 แสนล้านบาท ครม.จึงผ่านความเห็นชอบมาตรการรองรับสังคมสูงอายุ โดยการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติเพื่อเป็นหลักประกันรายได้ในวัยเกษียณ

ผู้ใช้แรงงาน พนักงาน ลูกจ้างบริษัทนิติบุคคล เพียง 3 ล้านคน ที่มีเงินออมผ่านระบบกองทุนสำรองเลี้่ยงชีพ ซึ่งหักเงินเดือนลูกจ้างส่วนหนึ่งและนายจ้าง ร่วมจ่ายเงินสมทบ เพื่อเป็นสวัสดิการแก่พนักงาน ให้มีเงินก้อนหนึ่งไว้ใช้ยามเกษียณ แต่ยังมีแรงงานอีกกว่า 11 ล้านคน ขาดหลักประกันนี้

นางสมพิศ ทองบาง พนักงานบริษัทเอกชนส่วนหนึ่ง บอกว่า บริษัทที่ทำงานอยู่มีลูกจ้างจำนวนมากแต่ไม่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เหมือนบริษัทอื่น จึงไม่มีเงินเก็บออมในส่วนนี้

ปัจจุบัน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เปิดโอกาสให้จัดตั้งขึ้นตามความสมัครใจ ของทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราการจ่ายสมทบตั้งแต่ ร้อยละ 3 -15 ของเงินเดือน ก่อนมอบหมายให้บริษัทจัดการกองทุนบริหารเงินในกองทุน เพื่อสร้างผลตอบแทน กระบวนการทำงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคสมัครใจเหมือนกับ กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ซึ่งคณะรัฐมนตรี เพิ่งผ่านความเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการ แต่ต่างกันที่ กบช.คือ การออมภาคบังคับ เนื่องจากกฎหมายนี้ กำหนดให้ นิติบุคคล ทุกแห่ง ต้องมีกองทุน กบช. โดย 3 ปีแรก หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คน ต้องจัดตั้งกองทุน จนถึงปีที่ 7 สถานประกอบการที่มีแรงงานเพียง 1 คนก็ต้องจัดตั้ง

 

 

พร้อมกำหนดอัตราการจ่ายเงินสมทบ ในระยะ 7 ปี เพื่อให้สถานประกอบการมีเวลาปรับตัว บริหารต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น โดย 3 ปีแรก เริ่มจ่ายสมทบฝ่ายละ 3 เปอร์เซ็นต์ สำหรับลูกจ้างที่มีเงินเดือนไม่เกิน 60,000 บาท ทำให้ลูกจ้างบริษัทเอกชน ระบุว่า รู้สึกดีใจมาก ที่จะได้มีเงินออม หลังเกษียณบ้าง

 

 

สำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง วิเคราะห์ว่า ลูกจ้าง อายุ 25 ปี ที่มีเงินเดือน 15,000 บาท หากส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ร้อยละ 3 ของเงินเดือน และกองทุน กบช. จะมีรายได้หลังเกษียณ ร้อยละ 66 ของรายได้ก่อนเกษียณ หรือ จะมีเงินบำนาญรวม 51,000 บาท และได้เงินผลประโยชน์รวมไม่น้อยกว่า 130,000 บาท เป็นหลักประกัน

ทั้งนี้ กองทุนกบช. ยังกำหนดให้ ลูกจ้างสามารถเลือกระดับความเสี่ยง และจัดพอร์ตลงทุนตามเงื่อนไข ที่ สศค. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ กำหนด เพื่อรับผลตอบแทนให้สอดคล้องกับแผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณของแต่ละคน คาดว่ากฎหมายฉบับนี้ จะบังคับใช้ในปี 2561 โดย กบช.จะเป็นกองทุนแยกอิสระออกจากกองทุนการออมประเภทอื่นๆ ที่มีอยู่เดิม ทั้งประกันสังคม และกองทุนการออมแห่งชาติ แต่ สศค.เชื่อว่าหากรวมกองทุนทุกประเภท และมาตรการอื่นๆ ที่ออกมา น่าจะครอบคลุมแรงงานทุกประเภท ทั้งในและนอกระบบทุกคน ได้มีบั้นปลายชีวิตที่มั่นคงระดับหนึ่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง