นายกฯ เผยประชาคมโลกยกย่อง “ดอยตุง โมเดล” เป็นแบบอย่างแนวทางการพัฒนา

การเมือง
18 พ.ย. 59
20:54
799
Logo Thai PBS
นายกฯ เผยประชาคมโลกยกย่อง “ดอยตุง โมเดล” เป็นแบบอย่างแนวทางการพัฒนา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เผยประชาคมโลกยกย่องให้ “ศาสตร์พระราชา” ภายใต้ “ดอยตุง โมเดล” เป็นแบบอย่างของแนวทางการพัฒนาที่นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

วันนี้ (18 พ.ย.2559) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน” ประจำวันที่ 18 พ.ย.2559 โดยมีเนื้อหาว่า วันนี้ อยากให้ทุกคนได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ อย่างหาที่สุดไม่ได้แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดย “ศาสตร์พระราชา” ของพระองค์นั้น อันประกอบด้วย “ตำราแม่ฟ้าหลวง” ด้วย แห่งองค์สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี “สมเด็จย่า” ของปวงชนชาวไทย ได้สร้างความสำเร็จภายใต้ “โครงการพัฒนาดอยตุง” อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ใช้เวลากว่า 30 ปี

ในการพลิกฟื้น “ดอยตุง” จากพื้นที่ทุรกันดาร ให้เป็นพื้นที่ทำกินของชาวไทยภูเขาและชนกลุ่มน้อย 6 เผ่า ซึ่งในอดีตนั้นมีสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ไม่มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไม่มีถนน ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีประปา ทำให้คนในพื้นที่ต้องหาทางรอด ด้วยการทำไร่หมุนเวียน ไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น ค้ายาเสพติด แล้วก็กลายเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในขณะนั้น

ทั้งนี้ ด้วยการพัฒนาอย่างมีระบบ แบบแผน และมียุทธศาสตร์ ทำให้ “ภูเขาหัวโล้น” กลายเป็นพื้นที่ป่า การทำไร่หมุนเวียนหมดไป มีป่าอนุรักษ์ ป่าใช้สอย และป่าเศรษฐกิจมาแทนที่ ทุกคนได้รับสัญชาติไทย ได้เข้าถึงระบบการศึกษา ซึ่งเป็นการ “สร้างคนด้วยความรู้และการศึกษา” ในด้านวิชาการและวิชาชีพให้มีรายได้เลี้ยงดูตัวเองได้ เข้มแข็ง ยืนบนลำแข้งของตนเองได้ ในที่สุด ครอบครัวก็ได้อยู่ด้วยกัน ไม่ต้องเข้าไปหางานในเมือง

ปัจจุบัน ชาวไทยภูเขาและชนกลุ่มน้อย มีอาชีพหลักเป็น “เกษตรกรรับจ้าง” และ “พนักงานของโครงการ” สามารถเพิ่มรายได้จากในอดีต เฉลี่ยไม่ถึง 4,000 เป็น 12,000 บาทต่อคนต่อปี จะเห็นว่าเพิ่มขึ้น 3 เท่า หลายคนที่มาทำงานกับโครงการฯ จนเก่ง เชี่ยวชาญ ก็สามารถกู้เงินไปทำกิจการของตัวเองได้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการขยายผลแห่งความสำเร็จดังกล่าวนั้น รัฐบาลร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้น้อมนำองค์ความรู้ของ “ศาสตร์พระราชา” และ “ตำราแม่ฟ้าหลวง” เรื่องของการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ดิน และน้ำ ไปปรับใช้ ในโครงการปลูกป่าสร้างคนบนวิถีพอเพียง เพื่อรักษาต้นน้ำ และบรรเทาอุทกภัย ในพื้นที่ 250,000 ไร่ ใน 3 อำเภอ ของ จ.น่าน เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ รวมทั้งให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และส่งเสริมให้ชุมชนอยู่ร่วมกันกับป่าได้อย่างยั่งยืน ผลการดำเนินการในขณะนี้นะครับ สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ขึ้นจาก 40% เป็น 60% และเปลี่ยนพื้นที่การปลูกข้าวโพดบนพื้นที่สูง ให้เป็นป่าเศรษฐกิจได้ และมีผลตอบแทนสูงกว่าการปลูกข้าวโพด รวมทั้งช่วยลดการเกิดไฟป่าจาก 76,000 กว่าไร่ เหลือเพียง 89 ไร่ ในปี 2558

นอกจากนั้นรัฐบาล โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้นำแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ตาม “ดอยตุงโมเดล” ไปดำเนินการตามยุทธศาสตร์บูรณาการ สำหรับการจัดการป่าเสื่อมสภาพ บนพื้นที่สูงชัน ที่เรียกว่าภูเขาหัวโล้น เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า ใน 13 จังหวัดภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในปีนี้ รัฐบาลได้น้อมนำแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ไปใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยการบูรณาการหน่วยงานของรัฐ อย่างมียุทธศาสตร์ เสริมด้วยกลไก “ประชารัฐ” ในพื้นที่อีกด้วย

ปัจจุบันนั้น “ศาสตร์พระราชา” ภายใต้ “ดอยตุง โมเดล” ได้รับการยกย่องและยอมรับจากประชาคมโลกให้เป็นแบบอย่างของแนวทางการพัฒนาที่นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน หลายประเทศนำไปขยายผล อาทิเช่น โครงการส่งเสริมปศุสัตว์และพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ธนาคารแกะ ครอบคลุม 500 ครัวเรือน ใน 15 หมู่บ้าน จ.บัลห์ สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน และโครงการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน จ.อาเจะห์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวอาเจะห์ และเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัด หลังประสบความขัดแย้งภายในประเทศมานานกว่า 30 ปี และเผชิญภัยภิบัติ “สึนามิ” เมื่อปี 2549

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ให้การรับรอง “ศาสตร์พระราชา” นี้ ให้เป็น “หลักปฏิบัติสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือก (UNGPs)” อีกด้วย จะเห็นได้ว่าความสำเร็จของโครงการพัฒนาดอยตุง หรือโครงการพัฒนาใดๆ รวมทั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีอยู่กว่า 4,000 โครงการนั้น ล้วนเป็นการดำเนินงานที่มียุทธศาสตร์ อาศัยระยะเวลา ค่อยเป็นค่อยไป อาจใช้เวลานานนับ 10 - 20 ปี 30 ปีก็ได้ องค์ประกอบที่สำคัญสู่ความสำเร็จ 3 ประการ คือ (1) ความจริงใจของรัฐบาลและผู้ปฏิบัติ (2) ความร่วมมือจากประชาชนผู้ที่รับการพัฒนา และ (3) การดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ มีเป้าหมายชัดเจน

ทั้งนี้ รัฐบาลได้น้อมนำศาสตร์พระราชาที่สำคัญก็คือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาประยุกต์ใช้ ร่วมกับศาสตร์อื่นๆ ให้เหมาะสมกับบริบทของประชาชน ท้องถิ่น สถานการณ์ และสภาพของปัญหา ด้วยการ “ระเบิดจากข้างใน” จากตัวประชาชนเอง เกษตรกรเอง ไม่ยัดเยียด เน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น

โดยให้ทุกกระทรวง จัดทำยุทธศาสตร์ เป็นแผนที่นำทาง ระยะเวลา 20 ปี ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ สำหรับการทำงานร่วมกันของรัฐบาล, สถานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ให้มีการทำงานอย่างประสานสอดคล้องกัน รวมถึงการจัดทำแผนการใช้งบประมาณของประเทศทั้งในการลงทุน, การวางรากฐาน และการพัฒนาประเทศ ในด้านต่างๆ อย่างบูรณาการ เราจะต้องยึดหลัก “ธรรมาภิบาล” 6 ประการ ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า เป็นสำคัญ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันนั้นรัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี โดยมีกระบวนการที่เน้นความสอดคล้องและการบูรณาการทั้งแผนงานโครงการและแผนงานงบประมาณ ดังนี้ 1. ในระดับรัฐบาล จะมีการกำหนดวิสัยทัศน์, กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ย่อย จัดทำแผนแม่บทที่ระบุทุกกิจกรรมหลักๆ ช่วง 20 ปีข้างหน้าที่จะเกิดขึ้น ทยอยเกิดขึ้นเราได้แบ่งออกเป็นห้วงเวลาการปฏิบัติ ตาม Road map หรือแผนที่นำทางของเรานั่นก็คือ 5 ปีแรกคือ 1+4 คือ 1 ในปีนี้ 59-60 แล้วบวกอีก 4 ปีข้างหน้า จากนั้นก็เป็นไปตมแผนสภาพัฒน์ฯ อีก 3 แผน 5, 5, 5 คือแผนที่ 13 - 14 - 15

วันนี้ เราอยู่แผน 12 ช่วง 5 ปีแรก คือ 1+4 หมายถึงปีงบประมาณ 2560 บวกกับอีก 4 ปี ที่เหลือในวันข้างหน้า และต่อๆ ไป ก็ทุกช่วง ช่วงๆ ละ 5 ปี สามารถปรับเปลี่ยนได้นะครับ เรามีแผนแม่บทวางไว้ให้เห็นอนาคตไว้ แต่ทั้งนี้ถ้าทำดีขึ้น ก็เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก ปัจจุบันนั้นอย่างที่เรียนไปแล้วว่า เรามีแผน 12 อยู่ เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการให้เกิดมีการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปอย่างแท้จริง เราต้องวางแผนระยะยาวนะครับ 12 ต่อไป 13 ไป 14 ไป 15 นั่นแหละคือคำว่า 20 ปี เราต้องแสดงให้เห็นว่าเราจะเกิดการเปลี่ยนแปล มีการปฏิรูป กิจกรรมได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทาง “กายภาพ” อะไรบ้าง อย่างไรบ้าง

ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกระดับ ทุกอาชีพ จะดีขึ้นได้อย่างไร รวมทั้งผลประโยชน์ของชาติโดยรวมนั้นจะดีขึ้น มากขึ้นได้อย่างไร อาทิเช่น รายได้, ชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งนี้ก็จะเป็นการกำหนดผลประโยชน์ของประเทศไว้ล่วงหน้าทุกๆ 5 ปี เราสามารถจะ ประมาณการล่วงหน้าให้เป็นเป้าหมายไว้ได้เพื่อจะเดินตามนั้นว่ารายได้ประชาชน รายได้ประเทศ คุณภาพชีวิต แต่ละกลุ่มจะดีขึ้นอย่างไร โดยจะต้องกำหนดตัวชี้วัดเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ ที่ประเมินค่าได้จริงนะครับ

2. คือในระดับกระทรวง รัฐวิสาหกิจ ก็ต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์, ยุทธศาสตร์, แผนแม่บท เป็นของตนเอง ในระยะ 20 ปี เช่นกัน ให้สอดรับยุทธศาสตร์ชาติ และตอบโจทย์แผนแม่บทของชาติ ซึ่งแผนแม่บทระดับกระทรวง รัฐวิสาหกิจนี้ ต้องมีรายละเอียด รายกิจกรรม จัดทำเป็นแผนงาน โครงการ ที่มีแผน การใช้จ่ายงบประมาณประกอบ พร้อมทั้งวาง Road map ระยะ 20 ปี ไปด้วยนะครับ 4 ช่วงๆ ละ 5 ปี โดยทำพร้อมกันในช่วงการเริ่มต้นนี้ ให้สามารถติดตาม ตรวจสอบ ประเมินได้ว่าอะไรทำเสร็จแล้ว อะไรจะเริ่มใหม่ อะไรที่ยังไม่เสร็จ อะไรต้องทำต่อ ให้สามารถจับต้องได้ตลอดเวลา

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แผนก็คือแผนย่อมมีการปรับปรุงได้ตามความเหมาะสมนะครับ เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยน ปัจจัยภายใน ภายนอก อาจจะมีส่งผลกระทบกับแผนที่วางไว้ ก็ต้องสามารถแก้ไขได้นะครับ อาจจะต้องมีการทบทวน รายปี ราย 5 ปี โดยการประเมินจากปัจจัยต่างๆ ตลอดเวลาจะทำให้การตัดสินใจในวันข้างหน้านั้นได้ดีขึ้นนะครับ ทำในสิ่งที่ดีกว่าแผนในปัจจุบัน ให้ทันกับสถานการณ์ทั้งในประเทศและสถานการณ์โลกนะครับที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ การทำ “แผนปฏิบัติการ” ของทุกหน่วยงานนั้น ต้องมีรายละเอียด แยกงานตามกลุ่มกิจกรรม อันแรกคือ (1) คืองานฟังก์ชั่น ภาษาไทยก็คืองานตามหน้าที่พันธกิจ ภารกิจที่มีอยู่เดิมของทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน รัฐวิสาหกิจด้วย (2) คืองานบูรณาการ ที่เรียกว่างานนโยบาย ภาษาอังกฤษเรียกว่า Agenda (3) ก็เป็นงานอื่นๆ งานเกี่ยวกับเรื่องหนี้สาธารณะ เรื่องการบริหารการเงิน การคลัง ทำนองนี้ มันมีแผนงานย่อยอีกผมให้ความสำคัญกับ 2 แผนงานนี้ กับแผนงานหนี้สาธารณะที่จะต้องปรับให้สอดคล้องกันทั้งหมด

สำหรับ “แผนการใช้จ่ายงบประมาณ” ทั้ง 2 งบงาน (งานฟังก์ชั่น–งานบูรณาการ) นั้นต้องมีความชัดเจน และให้ความสำคัญกับ “ช่วง 5 ปีแรก” คือ “1+4” (ปี 59 - ปี60 และ 4ปีข้างหน้า) นี้ก่อน ซึ่งผมเน้นย้ำเสนอ ถึงต้องมีการพิจารณาอย่างระมัดระวัง ไม่เกิดผลกระทบจากการใช้จ่ายงบประมาณประเทศ ต้องอยู่ภายใต้กรอบของวินัยการเงินการคลัง ในภาพรวมของประเทศนั้น ต้องมีรายรับ “เพิ่มเติม” ให้กับทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย รายได้ประเทศจะต้องสามารถชี้แจงได้ว่าจะหามาจากไหน อย่างไร หรือผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ จะมีอะไรบ้าง ใครจะได้รับผลประโยชน์เหล่านั้นบ้าง อันนี้เพื่อให้ประชาชนทุกคนนั้นรู้ถึงอนาคต

นอกจากนั้น สิ่งที่สำคัญที่ผมต้องการเน้นย้ำ คือ (1) ความสอดคล้องกัน ในระดับชาติ – กระทรวง – รัฐวิสาหกิจ – หน่วยงานข้างล่าง ที่เกี่ยวข้อง (2) การบูรณาการ ทั้งแผนงานโครงการและแผนงบประมาณ ในกิจกรรมเดียวกัน เกี่ยวข้องกัน ที่อาจจะส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน ต้องมีการวางแผนร่วม ลดความซับซ้อน ใช้งบประมาณอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ สมเหตุสมผล (3) ความสมบูรณ์ของแผนปฏิบัติการ อันนี้ต้องด้วยเหตุด้วยผล ด้วยหลักการ แล้วก็มีการจัดทำแผนที่นำทาง คือ Road map อย่างชัดเจน แจกแจงการใช้จ่ายงบประมาณได้ ทั้งงบงานฟังชั่นและงบในการบูรณาการ และ (4) แผนจะต้องมีความอ่อนตัว สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ กรณีที่เกิดปัญหา ก็ต้องเตรียมมาตรการแก้ไขรองรับได้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ปัญหาที่ผ่านมา คือเราไม่เคยทำงานอย่างมียุทธศาสตร์ ถ้าเราไม่เริ่มทำกันวันนี้ มันก็ไม่สามารถจะตอบโจทย์ แก้ปํญหาชาติไม่ได้ “แบบเบ็ดเสร็จ” แก้ปัญหาหนึ่ง ติดอีกอย่างหนึ่ง สร้างปัญหาใหม่ เดินไปไม่ได้ เหมือนติดกับดักตัวเองอยู่ หากเราไม่บูรณาการกัน นะครับ “แยกคิด แยกทำ” กันเหมือนเดิม ก็ไม่มีผลดีเกิดขึ้น ทำไม่ได้อีกเช่นเดิม

เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลนี้เริ่มต้นทำให้ เป็นกระบวนการที่มีเหตุมีผล มีที่มาที่ไป รัฐบาลต่อไปก็ทำหน้าที่ประสานต่อ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เราก็ไม่สามารถจะบังคับใครได้ทั้งหมด อยู่แล้ว อำนาจฝ่ายบริหาร เราจะไม่ก้าวล่วงตรงโน้น แต่เรามียุทธศาสตร์ชาติที่เป็น “กรอบงาน” แต่วิธีทำนั้นก็เป็นเรื่องของแต่ละรัฐบาลไปหาวิธีการดำเนินการต่อไป แต่ผลสัมฤทธิ์จะกำหนดไว้ล่วงหน้า ประชาชนต้องรับรู้ไว้ก่อนว่าพอใจ หรือไม่พอใจอย่างไรในผลงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยทั้งนี้ ประชาชน ข้าราชการ จะต้องเป็นผู้ติดตาม ดูแล ตรวจสอบ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ด้วยหลักการและเหตุผล ที่ “สมเหตุสมผล” ด้วยเช่นกัน

สำหรับหลักการ – นโยบาย – ยุทธศาสตร์ ในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนี้ ตั้งแต่ปี 57 – 58 – 59 – 60 และในอนาคต อีก 20 ปีข้างหน้า เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ประเทศ นำไปสู่“ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ด้วยการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อจะนำพาประเทศชาติและประชาชน ให้ “อยู่ดี กินดี” อย่างแท้จริง ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยแบ่งออกเป็นด้านต่างๆ ดังนี้

ด้านการปฏิรูป และการพัฒนาประเทศ คือการเดินหน้าสู่อนาคตของประเทศ โดยมี “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” เป็นผู้กำหนดความต้องการ ภายใต้อัตลักษณ์ของความเป็นไทย วัฒนธรรม ประเพณี อันงดงาม ด้วยความรัก ความสามัคคี ความมีศรัทธาอย่างแรงกล้า เป็นการสร้างความฝันสู่อนาคตร่วมกัน และการทำตามความฝัน ให้เป็นความจริง ด้วยการขับเคลื่อนกลไก “ประชารัฐ” มีการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ ทั้ง “แกนตั้ง – แกนนอน” และเป็นการสื่อสาร “2 ทาง” รับฟังความเห็น ความห่วงใย และความเป็นจริงจากทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความร่วมมือ นำไปสู่การปฏิบัติ ผลักดันไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ทั้งนี้ ทุกคน ทุกฝ่าย และ “ประชาชน” ต้องยอมรับในความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น อันจะนำพาไปสู่การปฏิรูปประเทศได้ เพื่อให้ทุกคนนั้นมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทาง –หลักการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งจากพระบรมราโชบาย และการปฏิบัติที่ได้ทรงทดลองทำเป็นแบบอย่างไว้ให้แล้ว เราจะต้องนำมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยภายนอกของประชาคมโลก และปัจจัยภายในประเทศของพวกเรากันเองที่จะทำให้เราและต่างประเทศเข้าใจซึ่งกันและกัน

ปัจจุบัน ยังมองต่างกันอยู่ทั้งในแง่ความคิด, อัตลักษณ์พื้นฐาน และการปฏิบัติหลายอย่าง อาจจะทำได้ในหลายประเทศในโลก สำหรับประเทศไทยนั้นมีความละเอียดอ่อน อาจจะทำไม่ได้ ก็ต้องทำให้ได้ เราต้องทำให้เกิดความชัดเจน เข้าใจให้ตรงกัน มีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน

ทั้งนี้ การปฏิรูปเราจะต้องครอบคลุม ทั้งงานความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การต่างประเทศ และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นระดับชาติ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ภายในระยะเวลา 5 ปี นะครับ ผมจะเริ่มต้นไว้ก่อน 1 ปีแรกก็ช่วยกันทำให้เกิดความต่อเนื่อง ยั่งยืน และต่อๆ ไปในทุกรัฐบาล ในอนาคต

ในด้านเศรษฐกิจ ในการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น เรามี ทั้งระดับประเทศระดับฐานราก และก็รวมความไปถึง การคบค้าสมาคม ผู้ค้า ผู้ลงทุนกับต่างประเทศ ทั้งทวิภาคี และพหุภาคีด้วยนั้น เราจำเป็นต้อง “คิดใหม่ให้ครบวงจร ทำใหม่อย่างบูรณาการ” ขณะเดียวกันต้องปรับเปลี่ยนพัฒนาสิ่งที่มีอยู่เดิม ให้ทันสมัย ด้วยเทคโนโลยีดิจิทอล หมายรวมถึง การสนับสนุนและส่งเสริม ทั้ง S-Curve เดิม และ New S-Curve ไปพร้อมๆ กัน ในการนำพาประเทศไปสู่ Thailand 4.0

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เราจะต้องไม่ทอดทิ้ง 3.0 ลงไป คือประชาชนหลายระดับที่มีอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งเราต้องเร่งกระบวนการพัฒนา “ทรัพยากรมนุษย์” ด้วยการปฏิรูปการศึกษา ให้ได้โดยเร็ว มีผลจับต้องได้ อาทิเช่น เราจะต้องสมารถผลิตแรงงานในประเทศ ได้เท่าไหร่ ที่ตรงความต้องการ กี่ประเภทบ้าง เพียงพอหรือไม่ เราต้องมีการว่าจ้างบุคลากรภายนอกเพิ่มเติมในระยะแรกหรือไม่ เท่าไหร่ เหล่านี้ ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงแรงงาน ได้ไปบูรณาการในวิธีปฏิบัติมา ร่วมมือกับทางสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน

ส่วนกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ นั้น เราจะเร่งในเรื่องของการวิจัย พัฒนา ให้ทันต่อเทคโนโลยีของโลกในศตวรรษที่ 21นั้น เราต้องจัดให้มีการศึกษา– การจัดกลุ่มงาน– การขับเคลื่อน ให้เดินหน้าไปพร้อมๆ กันบนหลักการ “พึ่งตนเอง” ให้ได้ในอนาคต นำมาใช้ให้ได้ คิดแล้วทำ ผลิตแล้วใช้

ให้เป็นการปฏิรูปครบวงจรทั้งในด้านเกษตรกรรม เราต้องทำให้ครบวงจรอย่างยั่งยืนด้วย เราต้องดำเนินการให้สอดคล้องไปกับการปฏิรูปอุตสาหกรรม อย่างสมดุล อุตสาหกรรมสีเขียว โดยต้องดำเนินการ “คู่ขนาน” กัน ทั้งด้านเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม มันจะต้องทำให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก สถานการณ์โลก การค้าขายโลกในปัจจุบันนี้ด้วย

เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในแต่ละพื้นที่ – จังหวัด – กลุ่มจังหวัด – ภูมิภาค เป็นหน้าที่ทุกคนต้องไปคิดมาด้วยตามนโยบายที่ผมกล่าวไปแล้ว ด้วยการสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง, ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และการใช้ทรัพยากรของชาติที่มีอยู่จำกัดในแต่ละพื้นที่ ให้เกิดความสมดุลกับการใช้ประโยชน์ เรามีทรัพยากรธรรมชาติไม่มากนัก แต่เราต้องใช้ให้ยั่งยืน ให้สมดุลกันระหว่างการพัฒนาและการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ มันต้องไปด้วยกันให้ได้ โดยทั้งนี้ประชาชนต้องเป็นผู้ได้ใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราจะต้องลดการแข่งขันกันเอง แย่งตลาดกันเอง มันทำให้ราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น อาทิเช่น อย่างที่ผ่านมา หลายอย่างเราต้องลดราคาแข่งกันอะไรต่างๆ โดยที่ไม่ได้ดูเรื่องคุณภาพ มันเลยทำให้ทุกอย่างนั้นเป็นมาตรฐานเดียวกันไปหมด เราต้องสร้างแบรนด์ของคนไทยให้ได้ โดยเฉพาะแบรนด์ด้านการเกษตร แบรนด์ของข้าว ข้าวหอมมะลิ ที่มีความแตกต่างกับข้าวหอมอื่นๆ ในโลกใบนี้ เราต้องเชื่อมโยงในทุกห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทางให้ได้ ผมพูดหลายครั้งแล้ว ด้านสังคม ก็ได้แก่ การส่งเสริม ขับเคลื่อน ผลักดัน ให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ หลุดพ้นกับดักจากความยากจน และได้รับการพัฒนาอย่างเท่าเทียม ให้ได้โดยเร็ว

มีมาตรการหลายมาตรการ ที่จะต้องลดความเหลื่อมล้ำลงให้ได้ ในการเข้าถึงบริการภาครัฐและสวัสดิการ ของประชาชนทุกช่วงวัย ทุกคนต้องร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็ก วัยรุ่น ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ เราจะต้องทำให้ประชาชนทุกคน ทุกช่วงวัย ได้มีการพัฒนาตนเองตลอดเวลา แต่ทั้งนี้ขึ้นกับตัวเองด้วยนะครับ คือบอกไปทำไปถ้าไม่ร่วมมือมันก็ไม่เกิดขึ้นทุกอย่าง เพราะฉะนั้นเราต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา อ่านหนังสือ มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต

สร้างหลักประกันทางสังคม ด้วยการสร้างสังคมที่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สังคมมีความสงบสุข มีสันติ อาทิเช่น ง่ายๆ ก็ไม่มีเด็กแว้นท์อีกต่อไป ไม่มีการตีกัน ไม่ทำให้สังคมมันเป็นสังคมแห่งความรุนแรง เราจะต้องมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างพอเพียง สมแก่ฐานะ สามารถดูแลครอบครัวได้ อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี ทุกคนมีศักดิ์ศรีและเกียรติยศเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดรายได้ใด ในทุกระดับ รวมทั้งรัฐบาลนี้ให้มีการพัฒนาที่อยู่อาศัย – พัฒนาอาชีพ–พัฒนารายได้ และเข้าถึงหลักประกันอื่นๆ อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม ต้องใช้เวลาทั้งหมด

ความต้องการสร้างสังคมที่สันติสุข ประชาชนมีแต่ความสุข ไม่ใช่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่พอกินไม่พอใช้ เราจะต้องมีการศึกษาเรียนรู้ที่ดี ซึ่งมันเป็นอนาคตของประเทศเลยเรื่องการศึกษาเนี่ย ทำให้เราอยู่ร่วมกันได้พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เข้าอกเข้าใจกัน มีความคิดพื้นฐานที่มันใกล้เคียงกันนะครับ เราจะต้องสร้างห่วงโซ่ความเชื่อมโยงกัน ในทุกๆ มิติ เราแยกกันทำงานอิสระไม่ได้ แยกกันคิดไม่ได้ ต้องแยกกันคิดแล้วมารวมกัน สรุปให้ได้ แล้วไปหาวิธีการทำ ด้วยกันนะครับ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เราจะต้องจัดระเบียบบ้านเมือง ทั้งในสังคมชนบทและสังคมเมือง ให้เกิดเป็น “ห่วงโซ่” ของความมั่นคงและปลอดภัย มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งไปพร้อมๆ กัน ทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรของประเทศ สำหรับเพื่อใช้ประโยชน์ สร้างเพิ่มมูลค่า ให้กับส่วนรวม ได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ การอยู่ร่วมกันในสังคม จะต้องเน้นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ทังในประเทศและต่างประเทศ ให้เกิดความเป็นมิตร มีความสัมพันธ์ต่อกัน มันเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดนะครับ เราจะเริ่มในระดับประชาชนให้มากที่สุด อันจะเกิดความผาสุกท่ามกลางความแตกต่าง เป็นการสร้างสีสันทางวัฒนธรรม นะครับต่างประเทศก็สนใจนะครับ ของเรามากมายเราก็แลกเปลี่ยนกับเขาได้นะครับ แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม

และที่สำคัญ อีกประการ คือการสร้างแรงกระตุ้นในการขับเคลื่อนประเทศ ด้วยการพัฒนาสร้างศักยภาพของประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม ด้วยความเข้าใจถึงแก่นแท้ ของประชาธิปไตยไทยไทยนะครับ คือ เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชนอย่างยั่งยืน อันถือว่าเป็น “หลักชัย” ร่วมกันของคนไทยทั้งชาติ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้านความมั่นคง ความมั่นคงปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สิน ความมีเสถียรภาพของประเทศ เป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศเสมอ เราต้องสนับสนุน ส่งเสริม ให้ประชาชนทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในงานด้านความมั่นคง ทั้งนี้เพื่อลดอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศจากสถานการณ์ในปัจจุบันนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การช่วยกันเฝ้าระวัง,มีการตรวจตรา การสร้างกลไก “ประชารัฐ” สร้างเครือข่ายในงานด้านความมั่นคง เราคงไม่เน้นว่าให้ประชาชนไปปราบปราม ไปจับกุม คงไม่ใช่อย่างนั้น เพียงแค่ใช้ตา ใช้ปาก ในการที่จะสังเกต ในการที่แจ้งเจ้าหน้าที่ มันก็ทำให้ทุกพื้นที่ปลอดภัยได้เพราะมีประชาชนอยู่ทุกพื้นที่ ตำรวจ ทหารนั้นก็อยู่ในเฉพาะพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เราไม่สามารถจะวางกำลังทหาร ตำรวจไว้ทุกพื้นที่ทุกตารางนิ้วได้

ทั้งนี้ มันจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการปลูกฝังอุดมการณ์ ความเสียสละ ความรักชาติ รักสถาบัน เพื่อจะรวมพลังให้เข้มแข็ง เป็นพลังที่เข้มแข็งของประชาชน เพื่อให้เกิดความมีเสถียรภาพประเทศชาติอย่างยั่งยืนตลอดไป ในส่วนของการเชื่อมโยงนั้นเราต้องมีความเชื่อมโยงให้ได้ เราต้องไปแบ่งแยกซึ่งกันและกัน ระหว่างประชาชน ต่อ ประชาชน, กลุ่มอาชีพ ต่อกลุ่มอาชีพ และก็พื้นที่ต่อพื้นที่ นับว่าเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้าง “พลังอำนาจของชาติ” ทั้งที่มีตัวตน “จับต้องได้” และไม่มีตัวตน “จับต้องไม่ได้” แต่ล้วนมีพลัง มีศักยภาพเสริมซึ่งกันและกัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากนั้น ต้องไม่ลืมที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกระทรวงกลาโหม, กองทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้มีความทันสมัย มีความพร้อมทั้งอำนาจกำลังรบที่มีตัวตน และไม่มีตัวตนที่เหมาะสม เพื่อให้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้ในทุกโอกาส บนพื้นฐานของความไว้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง