ย้อนอ่าน "ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน" พูดถึงรัฐธรรมนูญไทย: ต้องเป็นที่ยอมรับ-ปฏิบัติได้จริง

การเมือง
21 พ.ย. 59
09:14
1,294
Logo Thai PBS
ย้อนอ่าน "ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน" พูดถึงรัฐธรรมนูญไทย: ต้องเป็นที่ยอมรับ-ปฏิบัติได้จริง
แม้วงการรัฐศาสตร์ไทยสูญเสียนักวิชาการคนสำคัญ ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งด้วยวัย 75 ปี เมื่อวานนี้ (20 พ.ย.2559) แต่ความรู้และทัศนะที่เผยแพร่ต่อสาธารณะตลอดชีวิตการเป็นนักรัฐศาสตร์ของ ศ.ดร.ลิขิต ฝากไว้ ยังมีคุณค่าและคุณูปการต่อสังคมไทย

เดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งอยู่ระหว่างทางของการร่างรัฐธรรมนูญ ศ.ดร.ลิขิต ให้สัมภาษณ์ "อรุชิตา อุตมะโภคิน" ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ถึงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ (พฤศจิกายน 2559) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ทูลเกล้าฯ เพื่อรอลงพระปรมาภิไธยแล้ว

เพื่อเป็นการรำลึกถึง ศ.ดร.ลิขิต ผู้จากไป "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ขอนำบทสัมภาษณ์เรื่อง "เลคเชอร์ รัฐธรรมนูญ กับ ลิขิต ธีรเวคิน" ซึ่งเผยแพร่เป็นครั้งแรกในเว็บไซต์ www.aftershake.net เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2558 มานำเสนออีกครั้ง

ในฐานะที่ได้มีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับแล้ว มองว่ามีอะไรที่เป็นบทเรียนสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

บทเรียนสำคัญที่สุด คือ หนึ่ง-รัฐธรรมนูญต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชน เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สอง-ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ไม่ใช่ฝัน จนกระทั่งไม่สามารถนำไปใช้ได้ อย่างนั้นไม่เป็นประโยชน์ สองอย่างนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

มาว่าที่เรื่องแรก เป็นที่ยอมรับของประชาชน เหมือนกับการสร้างบ้าน ไม่ใช่เราอยู่คนเดียวนะ ต้องอยู่กับครอบครัว อยู่กับคนอื่นๆ ด้วย ถ้าสร้างตามที่เราต้องการแต่คนอื่นไม่ได้อยู่กับเรา นั่นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น รัฐธรรมนูญต้องร่างขึ้นโดยที่ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ

พอพูดถึงรัฐธรรมนูญ ทำไมต้องมีรัฐธรรมนูญ มันคือ กติกาของการอยู่ร่วมกันในชุมชนการเมือง เช่น ประเทศประเทศหนึ่งก็ต้องมีรัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นอย่างนี้ อยู่ร่วมกันโดยสันติแปลว่า ต้องตกลงกติกาว่าอยู่ร่วมกันอย่างไร

คำว่ารัฐธรรมนูญ ภาษาอังกฤษคือ Constitution หมายถึง โครงสร้าง ถ้าพูดถึงภาษาร่างกาย เช่น Constitution ของคนนี้เป็นคนสูง เตี้ย ผอม โปร่ง เป็นต้น แล้วโดยทั่วไปมี 2 มิติใหญ่ๆ มิติแรกของรัฐธรรมนูญคือ Citizenship ความเป็นประชาชน อันที่ 2 Constitutionalism วิถีรัฐธรรมนูญ ความเป็นประชาชนคือพูดถึงประชาชน

วิถีรัฐธรรมนูญพูดถึงโครงสร้างอำนาจและการใช้อำนาจ ซึ่งเป็นอำนาจรัฐ 2 อย่างนี้ใหญ่ที่สุด ประชาชนและรัฐ ซึ่งหมายความว่าผู้ใช้อำนาจรัฐคือรัฐบาล 2 อันนี้ต้องพูดต้องตกลงให้ได้และเป็นที่ยอมรับ นี่คือหลักใหญ่ที่สุด

รัฐธรรมนูญของไทยที่ผ่านมา ทำหน้าที่ทั้ง 2 ข้อนี้เต็มที่หรือยัง

ในอดีตที่ผ่านมา ก็ร่างกล้อมแกล้มไปตามที่ต้องการจะอยู่แบบมีระบอบประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันมันก็มีการร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะที่เรียกว่า มีระเบียบวาระซ่อนเร้น อย่างรัฐธรรมนูญปี 2521 มันมีบทเฉพาะกาล และ บทเฉพาะกาลกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่แท้จริง ส่วนตัวรัฐธรรมนูญเป็นของประดับ อันนี้เป็นการรักษาอำนาจของผู้ที่ยึดอำนาจรัฐในขณะนั้น จึงเป็นปัญหา 

ในปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 99 คน ที่มาจากการคัดเลือกในจังหวัด แล้วจึงมาเลือกในสภาอีกทีหนึ่ง ทั้งหมดมี 70 กว่าจังหวัด แล้วก็มี 20 กว่าคนซึ่งเป็นนักวิชาการสายนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และผู้ซึ่งมีประสบการณ์ในการบริหารประเทศ รวมทั้งการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งหมด 99 คน

เดิมมีปัญหาว่านายกรัฐมนตรีไม่สามารถแสดงความเป็นผู้นำทางการเมืองได้ เพราะว่าถูกกดดันโดยพรรคร่วมรัฐบาลและในพรรคของตนเอง ทำอย่างไรจึงให้นายกรัฐมนตรีมีความสามารถในการเป็นผู้นำที่แท้จริงได้ ไม่ใช่แค่ผู้ประสานงานอย่างเดียว นี่คือ หลักการใหญ่ที่สุดของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

รัฐธรรมนูญปี 2540 พูดถึงกรอบใหญ่ๆ 4 กรอบ คือ สิทธิเสรีภาพของประชาชน, การเข้าสู่ตำแหน่งและอำนาจ, การควบคุมการใช้อำนาจ และการเมืองภาคประชาชน--ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เป็นการเมืองระบบที่นายกสามารถแสดงความเป็นผู้นำทางการเมืองได้

ปัญหาที่รุมเร้าระบบการเมืองไทยยุคนั้น คือ 1) ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง จะมีการซื้อเสียงอย่างดาษดื่น จึงทำให้หมดความศักดิ์สิทธิ์ 2) ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลจะมีการแทรกแซง ฆ่ากันประจำ อยากให้คนนั้นคนนี้ขวัญเสีย การบริหารราชการโดยการฆ่ากันประจำจึงมีปัญหา 3) มีการแย่งตำแหน่งรัฐมนตรีกันระหว่างพรรคต่างๆ ไปๆ มาๆ ก็กลายเป็นว่าต้องการเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจ แล้วก็แย่งกัน ตกลงกันไม่ได้ ต้องมีการต่อรอง กระทรวงก็แบ่งเป็นเกรดเอ บี ซี แล้วแต่อำนาจต่อรอง 4) มีการใช้ประโยชน์จากตำแหน่ง เกาะเกี่ยวอำนาจรัฐ ในการใช้งบประมาณแผ่นดิน พูดง่ายๆ คือนำไปสู่การฉ้อราษฎร์บังหลวง 5) ผู้กุมอำนาจรัฐมักจะเสนอโครงการใหญ่ๆ ที่เรียกว่า เมกะโปรเจ็กต์ เพื่อจะได้ค่าคอมมิชชั่นจากบริษัทใหญ่ๆ ทั้งหลายทั้งมวลนี้มันทำให้บิดเบือนการเป็นประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญปี 2540 พยายามที่จะแก้ปัญหานี้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีใช้ได้ แต่ไม่ใช่ไม่มีข้อบกพร่องนะ เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิเสรีภาพประชาชน และอย่างอื่น มีทั้งการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต แบบบัญชีรายชื่อ แต่ต่อมาก็เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดตั้งแต่วันนั้น

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่อิงรัฐธรรมนูญปี 2540 คล้ายกันมาก แต่ทำให้ดีขึ้น ให้สิทธิสภาพประชาชนมากยิ่งขึ้น ประเด็นสำคัญ คือ มีการลงประชามติ เมื่อมีการลงประชามติแปลว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเป็นผู้รับรอง หลังจากนั้นก็มีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งในแง่นี้เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะมันเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการลงประชามติ

แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จะไม่มีการลงประชามติเหมือนฉบับปี 2550 แต่กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นของประชาชนจริงๆ อาจารย์คิดว่ารูปแบบนี้สามารถดึงจุดแข็งบางอย่างของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมาใช้สำหรับปัจจุบันได้อย่างไร

จุดแข็งแต่ละฉบับมันเป็นรายละเอียดเกินไป แต่หลักใหญ่ๆ คือ หนึ่ง-ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน สอง-ผู้ใช้อำนาจรัฐต้องถูกควบคุมการใช้อำนาจในระบบ เช่น มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมทั้งการถอดถอนอะไรก็ว่าไป อันนั้นเป็นรายละเอียด แต่สำคัญที่สุดผู้ใช้อำนาจรัฐนั้นต้องมีจริยธรรมในการควบคุมตัวเองด้วย  และสาม-ต้องสามารถบริหารโดยใช้ทรัพยากรนั้นแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศได้ ข้อสามนี้เรียกว่าเป็น "รัฐธรรมนูญที่กินได้" 

มีการพูดว่า รัฐธรรมนูญไทยแต่ละฉบับเป็นเพียงแค่กฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น รัฐธรรมนูญไทยสะท้อนเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ดีมากเพียงพอหรือยัง

แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เมื่อเป็นลายลักษณ์อักษรขอให้ทราบอย่างนี้นะครับ มันมีภาษาอังกฤษประโยคหนึ่งบอกว่า "You cannot legislate human behavior" คุณไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ด้วยการออกเป็นกฎหมายได้ เพราะไม่ใช่ว่าเขียนกฎหมายแล้วคนจะทำตามนั้น อาจเป็นได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

แต่รัฐธรรมนูญต้องสะท้อนว่า หนึ่ง-ผู้มีอำนาจรัฐหรือคนที่อยู่ในสถานะมีอำนาจรัฐ มีศรัทธาในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สอง-ประชาชนมีวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย และพร้อมที่จะจรรโลงและธำรงไว้ซึ่งระบอบการปกครองประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยจะอยู่ได้ต้องช่วยกันรักษา แต่ถ้าหากปล่อยให้ใช้เงินซื้อเสียงหรือทำอะไรต่อมิอะไรต่างๆ ที่ไม่ชอบมาพากลก็เกิดไม่ได้

มีการพูดกันว่าฟิลิปปินส์และอินเดียประสบความสำเร็จในการเป็นประชาธิปไตย ซึ่งอาจเป็นความจริงในระดับหนึ่ง  เพราะว่าประชาชนเขาต้องการมีประชาธิปไตยและสำคัญที่สุด ผู้นำประเทศเขามีความเป็นประชาธิปไตย คำถามที่ต้องถาม คือ ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ผู้นำมีความจริงใจ มีศรัทธา มีจิตวิญญาณของการเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ถ้าตอบในแง่บวกไม่ได้ ก็ยากที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยได้ถึงแม้จะร่างรัฐธรรมนูญดีอย่างไรก็ตาม การมีกฎหมายเป็นเรื่องหนึ่ง การบังคับกฎหมายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นำไปปฏิบัติ รัฐธรรมนูญอาจเขียนไว้อย่างดี แต่ท่านไม่ปฏิบัติ ก็เปล่าประโยชน์

รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่นี้ พยายามที่จะยกระดับประชาชนด้วยการใช้คำใหม่ๆ เช่น คำว่า "พลเมือง" อาจารย์มองว่าในทางปฏิบัติสามารถเป็นได้จริงหรือไม่

เบื้องต้นนะครับ การใช้คำว่า "พลเมือง" ผมก็ไม่เข้าใจ และเป็นเรื่องไม่จำเป็นที่ต้องใช้คำดังกล่าว เพราะคำว่า พลเมือง ถ้าไปดูตามราชบัณฑิตยสถาน พลเมือง คือ ประชาชน ราษฎร และชาวประเทศ เอาเหตุผลมาจากไหนว่า พลเมือง นั้น พล, พละ คือ มีอำนาจ ไม่มี ประชาชน citizen คำเดียวพอแล้ว การใช้คำใหม่อย่างนี้แล้วจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมโนทัศน์ ผมว่าไม่มีเหตุมีผลพอ พูดตรงๆ ว่าเคยพูดหลายครั้งแล้ว รกรุงรัง มันทำให้กฎหมายฉบับที่ใช้คำว่า "ประชาชน" เสียหาย

ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 มาตรา 5 ระบุชัดว่า ประชาชนชาวไทย ไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใดๆ ย่อมอยู่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐธรรมนูญนี้โดยเท่าเทียมกัน อำนาจสูงสุดเป็นของปวงชนชาวไทย เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามฯ ไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า "พลเมือง" หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ผมไม่เห็นว่ามันให้อำนาจอะไรขึ้นมาเลย
คำว่า "ราษฎร" ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 เป็นคนเริ่มใช้ เพราะสมัยก่อนเรียกว่า "ไพร่" ตอนหลังก็เปลี่ยนเป็นราษฎร ที่บอกว่า "ข้าพเจ้าไม่ยินดีมอบอำนาจให้คณะใดคณะหนึ่ง แต่ต้องให้กับราษฎรทั่วไป" อันนี้เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันใช้คำว่า "ประชาชน" มันมีความหมายในตัวอยู่แล้ว มันคือ citizen ส่วนความเป็นรัฐธรรมนูญคือ Constitutionalism อันนี้คือหลักใหญ่

เส้นทางหลังจากนี้จนกว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งใหม่ คิดว่าอะไรเป็นจุดสำคัญที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ทุกคนเห็นร่วมกัน โดยที่ไม่ให้เกิดความขัดแย้งบานปลาย 

ก่อนลงประชามติ ต้องตั้งคำถามว่า รัฐธรรมนูญที่จะออกมาเป็นฉบับสุดท้าย มีการพูดคุยกันหรือไม่ ประชามติโดยทั่วๆ ไป เขาต้องคุยกันเป็นเวลานานมาก ผมจำได้ สวิตเซอร์แลนด์คุยกันตั้ง 20 ปี อันนี้อยู่ๆ ก็ร่าง แล้วบางคนร่างอยู่ในใจ แบบนั่งเทียนร่างก็มี พูดตรงๆ ผู้ร่างหลายคนไม่เคยผ่านการเลือกตั้ง ไม่เข้าใจประชาชนในชนบท ไม่เข้าใจผู้ลงคะแนนเสียงของกลุ่มต่างๆ เสร็จแล้วก็ร่างโดยหลักวิชาการ คิดเอาเอง

ผมยกตัวอย่างให้เห็นชัดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาอะไรบ้าง

ข้อที่หนึ่ง ผู้เข้าสู่ตำแหน่งอำนาจมีใครบ้าง มี ส.ส. ส.ว. มีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และมีศาล ตุลาการ รวมทั้งองค์กรพิเศษที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ส.ส. ก็คือเลือกจากประชาชนที่สมัครรับเลือกตั้ง แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้ายังไม่แก้ มีการลงเลือกตั้ง ส.ส. โดยลงในนามพรรค รวมทั้งในนามกลุ่ม ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ถ้ามีเป็นสิบๆ กลุ่ม แล้วได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ที่มี ส.ส. กลุ่มละ 3-5 คน สมมติว่ามี 40 กลุ่ม ก็ 120 คน ย่อมสามารถรวมกลุ่มแล้วพลิกการเมืองได้ทันที

ข้อที่สอง เป็นไปได้หรือไม่ว่าพรรคอาจตั้งกลุ่มด้วย ตั้งกลุ่มตัวเองมา 30 กลุ่ม แล้วแต่ละกลุ่มก็ได้ 2-3 คน รวมเบ็ดเสร็จแล้วทั้งพรรคบวกกลุ่มก็เป็นรัฐบาลอยู่ดี แต่สำคัญสุด วิธีการพัฒนาแบบนี้ทำให้พรรคอ่อนแอทันที เพราะมันกระจุยกระจาย สมมติว่ามีสัก 50 กลุ่ม มันก็เท่ากับมี 50 พรรคเล็ก มันก็กระจายหมด เขาเรียกว่า spread thin หรือว่า dilute ซึ่งอันนี้ผมไม่เห็นด้วย

ส่วนปาร์ตี้ลิสต์ ตอนนี้ก็คิดว่า จะแก้แล้ว นอกจากเสนอชื่อปาร์ตี้ลิสต์มา ยังให้คนมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง ไม่ใช่ตามลำดับ เป็นคะแนนเสียงแบบแล้วแต่พรรคกำหนด เช่น พรรคนี้ได้ 8 คน ก็ 8 คนนี้เสนอชื่อมา 30 คน แล้วคนสามารถจะลงคะแนนคนที่ 30 ก็ได้ คนที่ 28 ก็ได้ แล้วแต่ ผลสุดท้ายก็ออกมาสะเปะสะปะไปหมด ซึ่งอันนี้ไม่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีใครเขาทำกันหรอก

ข้อที่สอง ส.ว. ให้มีการเลือกตั้งจังหวัดละคน แล้วก็ยังมีจากผู้เชี่ยวชาญอะไรก็ว่าไป สี่วงเล็บด้วยกัน เลือกตั้งโดยตรง แต่ว่าต้องมีคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมากลั่นกรองให้เหลือเพียง 10 คน สมมติว่ามี ส.ว. สมัคร 40 คน คณะกรรมการชุดนี้จะกลั่นกรองเหลือ 10 คน คณะกรรมการชุดนี้เป็นใคร

ผมอยากจะได้ผลไม้ ผมรู้ว่ามันอยู่ในเข่ง แต่เจอแข่งที่มีแต่พุทรา เพราะกลั่นกรองมาจนมีแต่พุทรา ฮ่องกงต้องการมีการเลือกตั้ง ทางแผ่นดินใหญ่ ปักกิ่ง บอกว่า ต้องให้ปักกิ่งเป็นคนคัดเหลือจำนวนเท่านั้น เหมือนกันเลย แล้วปรากฏว่า ที่ผ่านมา สภาฮ่องกง ผ่านกฎหมายไม่รับมาตราหรือมาตรการดังกล่าว ท้าทายปักกิ่งด้วย ซึ่งอันนี้จะเกิดอะไรขึ้นผมไม่ทราบ แต่แม้ฮ่องกงเขาก็ไม่เอาด้วย

ถามจริงๆ เป็นประชาธิปไตยยังไงหรือแบบนี้ คนที่กลั่นกรองเหลือ 10 คน เป็นคนที่มีลักษณะควบคุมหรือเรียกว่า การ์เดี้ยน (Guardians) ซึ่งเพลโตพูดตั้งแต่สมัยโบราณแล้วว่า Who will guard the guardians? มีการ์เดี้ยนเสร็จแล้วใครจะการ์ดการ์เดี้ยนต่อ เป็นชั้นๆ ไปเลย นี่เห็นชัดเลย ผมเห็นด้วย

วงเล็บ 2, 3 ยังพอกล้อมแกล้ม วงเล็บ 4 มี 58 คนมาจากการสรรหา ไม่ต้องพูด ไม่ต้องอธิบายแปลว่าอะไร ก็แปลว่าใน 77 คนที่เลือกตั้ง ซึ่งคัดไปแล้วหนึ่งรอบ ยังสรรหาอีก 58 คน แล้วถ้าใน 10 คนที่เหลือ เป็นคนที่คัดมาเป็นพวกเดียวกัน บวก 58 คน มี ส.ว. ไปทำไม มันเป็นส.ว. ที่ไม่ใช่ของประชาชนแล้ว ส.ว. ถ้าเพียงแต่กลั่นกรองกฎหมายยังพอทำเนา แต่ถ้าแต่งตั้ง ถอดถอน เท่ากับเป็นการตั้งองค์กรใหญ่ ซึ่งประชาชนไม่มีส่วนโดยตรง แต่เป็นการควบคุมผู้ที่มาจากการเลือกตั้งคือ ส.ส. ถ้าอย่างนั้นผิดหลักประชาธิปไตยอย่างแน่นอน

ประเด็นเรื่องนายกรัฐมนตรีจากคนนอก ข้ออ้างที่บอกว่า บางครั้งเกิดวิกฤตเหมือนคราวที่แล้ว เพราะไม่มีการยุบสภา ผมจะเรียนให้ทราบนะครับ วิกฤตเกิดขึ้นเพราะอะไร มีทางเดียวคือยุบสภา เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน มีอะไรให้ประชาชนตัดสิน ไม่ใช่อยู่ๆ ทำแบบนี้ การที่บอกว่ามีทั้งคนนอกที่ไม่เป็น ส.ส.แล้วก็ต้อง 2 ใน 3 ให้ ส.ส. เลือก ส.ส. ก็ใช้เพียงครึ่งเดียว

คำถาม คือ มันเป็นไปได้หรือไม่ว่า มีวิธีการที่ทำให้ไม่ถึงครึ่ง เมื่อไม่ถึงครึ่งก็ไปทางโน้นโดยตรง ก็แปลว่าได้จากคนซึ่งไม่ใช่ ส.ส. ไม่ผูกพันกับประชาชน มาเป็นผู้บริหารประเทศ แล้วมันเคยเกิดสมัย คึกฤทธิ์ ปราโมช อันนี้ผมไม่พูดรายละเอียดแล้วกันนะ เมื่อมันเป็นอย่างนี้แปลว่าอะไร มันเกิดวิกฤตทางการเมืองทันที แล้วยังมีอีกประเด็นนะ ประเด็นทางปรัชญา ประเด็นทางการเมือง ซึ่งคนไทยไม่เข้าใจ 

แม้กระทั่งการมีนายกฯ ในอดีตก็มีปัญหา นายกรัฐมนตรีเป็น ส.ส. มาจากการเลือกตั้งถูกต้อง แต่ถ้านายกรัฐมนตรีไปตั้ง นาย ก. ซึ่งไม่ใช่ ส.ส.มาเป็นรองนายกฯ คนที่หนึ่ง แล้วนายกฯ เดินทางไปต่างประเทศ รองนายกฯ คนที่หนึ่งซึ่งไม่ใช่ ส.ส. ไม่ผูกพันกับประชาชน แต่เป็นนายกฯ จากการแต่งตั้ง แล้วปฏิบัติหน้าที่เหมือนนายกฯ คุณเป็นใคร คุณเป็นรองนายกฯ แต่คุณไม่เกี่ยวกับประชาชนเลยนะ ครั้งหนึ่งเคยมีปัญหานี้ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยไม่เป็น ส.ส. แล้วทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

ถ้านายกฯ มาจากคนนอกเลย แล้วเกิดวิกฤติขึ้นมา จะเกิดอะไรขึ้น

การที่บอกว่าถ้ามีวิกฤตก็ให้คนนอกมาเป็นนายกฯ แต่ทันทีที่มีการเลือกคนนอก จะเกิดวิกฤตทันที แล้วไม่ใช่เกิดวิกฤตก่อนนะ มันพร้อมกันเลย เสนอคนที่หนึ่งเป็น ส.ส. เสนอคนที่สอง ไม่ใช่ ส.ส. เสร็จแล้วปรากฏว่า ส.ส. นั้นมีวิธีการไม่ครบ 51 ยิ่งถ้าเป็นกลุ่มการเมืองยิ่งง่ายเลย ไม่ครบ 51 กลุ่มทั้งหลายไม่เอาด้วย หรือว่าไม่ได้บางอย่างที่พอใจ ผลสุดท้ายก็เกิดวิกฤต คนนอกมาเป็น แล้วนี่มันประชาธิปไตยแบบไหน มันไม่ต้องมีแล้วประชาธิปไตยแบบนี้

ใครคิดร่างรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นมาแก้วิกฤต เมื่อไม่สามารถแก้ได้ ให้ใช้คนนอก การเสนออย่างนี้คือการสร้างวิกฤตตั้งแต่ต้น วิกฤตอันแรกคืออะไรรู้ไหม คนไม่เห็นด้วย นั่นคือ วิกฤตแล้ว ผมคนหนึ่งไม่เห็นด้วย

ทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประชาธิปไตยและกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์มากกว่าฉบับก่อนๆ

รัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ใช่ระบบที่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นประโยชน์อย่างมหาศาลอยู่แล้วหลายเรื่อง หลักใหญ่ๆ คือ ถ้าจะมีประชาธิปไตย ก็ต้องทำให้เป็นประชาธิปไตย แต่ถ้าไม่มีก็เลิก จะอยู่ได้หรือเปล่าอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าต้องการมีประชาธิปไตย ต้องเป็นประชาธิปไตย จะต้องให้ผู้ที่มาจากการอนุมัติโดยประชาชน คือมาจากการเลือกตั้ง เป็นผู้บริหารประเทศ ส่วนจะควบคุมอย่างไรอีกเรื่องหนึ่ง แต่ระวังเรื่องการควบคุมเหมือนกัน อย่าควบคุมจนกระทั่งละเมิดอำนาจของประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง