อนาคตวงการวิทยุ สื่อเก่าในยุคดิจิทัล

Logo Thai PBS
อนาคตวงการวิทยุ สื่อเก่าในยุคดิจิทัล
การเข้ามาของสื่อยุคดิจิทัลไม่เพียงทำให้สื่อเก่าอย่างสิ่งพิมพ์ต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หากยังรวมถึงวงการวิทยุ ด้วยงบโฆษณาที่ลดลงและพฤติกรรมผู้ฟังที่เปลี่ยนไป ทำให้หลายคลื่นต้องพบกับจุดจบ รวมถึง คลื่นใหญ่ซี้ดเอฟเอ็มที่เพิ่งปิดตัวไปด้วย

นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2548 ชื่อของ ซี้ดเอฟเอ็ม ก็ติดสร้างความจดจำให้ผู้ฟังวัยรุ่นด้วยสโลแกน "เมล็ดพันธุ์ใหม่ของคนวัยมันส์" และนโยบายการเปิดเพลงฮิตโดยไม่แบ่งแยกค่าย รวมถึงเวทีรางวัลซี้ดอวอร์ดที่เป็นดัชนีวัดความนิยมจากผลโหวตคนฟัง หากผลประกอบการที่ลดต่ำลงจนขาดทุนใน 2 ปีสุดท้ายเกือบ 40 ล้านบาท ทั้งที่ได้เปรียบคู่แข่งเพราะมีสื่อโทรทัศน์ และเป็นเจ้าของสัมปทานวิทยุ หากก็ทำให้ต้นสังกัดอย่าง อสมท.ออกมายอมรับว่าพฤติกรรมผู้ฟังที่เปลี่ยนแปลงไป คือสาเหตุหลักและตัดสินใจยุติการดำเนินการ คลื่นซี้ด ภายในสิ้นปีนี้

มีผู้ประกอบวิทยุจำนวนไม่น้อยที่ต้องปรับตัวมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ไม่ว่า 98.0 Star Radio ที่หันไปจัดรายการวิทยุออนไลน์ LoveFM ที่ต้องย้ายจาก 104.5 ไปเป็น Happy time 93.5 และ 98.5 Click Iconic ที่ต้องปิดตัวไปก่อนหน้านี้ไม่นาน ปรากฏการณ์ย้ายคลื่น ปิดตัว แปรสภาพ จึงเป็นภาพรวมของวงการวิทยุใน พ.ศ.นี้ ที่คนในวงการยอมรับว่าผู้ฟังไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

การเข้ามาของบริการฟังเพลงออนไลน์ มิวสิค สตรีมมิ่ง ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันไปหาการฟังเพลงในรูปแบบอื่นมากขึ้นทำให้คลื่นวิทยุวัยรุ่นไม่สามารถรักษาฐานคนฟังและความนิยมได้แบบเดิม ทางออกคือต้องหันไปหาคนฟังวัยทำงานและผู้ใหญ่มากขึ้น เพราะยังเป็นกลุ่มที่เคยชินกับไลฟ์สไตล์การฟังวิทยุในแบบเดิม รวมถึงจัดกิจกรรมเข้าหากลุ่มคนฟังและปรับตัวเข้าสู่เครือข่ายสังคมออนไลน์ จึงจะสามารถอยู่ได้ในยุคที่เม็ดเงินโฆษณาส่วนหนึ่งผันเข้าหาสื่อใหม่ที่กำลังเฟื่องฟู

แม้สภาพโดยรวมของวงการวิทยุ 2559 จะไม่อยู่ในจุดที่น่าพอใจนัก หากคนในวงการก็ยังเชื่อว่า สื่อเก่าอย่างวิทยุที่ฝ่าวิกฤตมาแล้วหลายครั้งจะยังอยู่ได้ ตราบใดที่คนทำงานปรับตัวและหาจุดยืนที่ใช่ให้กับตัวเองได้ แม้จะไม่มีคลื่นบนหน้าปัดและต้องออกอากาศผ่านช่องอื่น อย่างการเป็นสถานีออนไลน์ก็ตาม

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง