กรมทรัพยากรธรณี คาด "เชียงใหม่" มีโอกาสแผ่นดินไหวขนาด 5.5

ภัยพิบัติ
11 ม.ค. 60
12:29
4,314
Logo Thai PBS
กรมทรัพยากรธรณี คาด "เชียงใหม่" มีโอกาสแผ่นดินไหวขนาด 5.5
แผ่นดินไหวเชียงใหม่ขนาด 4.0 รอยเลื่อนย่อยแม่วาง รวม 94 ครั้งในรอบ 1 เดือน กรมทรัพยากรธรณี ระบุเป็นการขยับตัวปกติ แต่วิเคราะห์มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.5 สูงถึงร้อยละ 5 ในวงรอบ 17 ปี

จากกรณีการเกิดแผ่นดินไหวบนบกขนาด 4.0 ที่ระดับความลึก 10 ศูนย์กลางบริเวณ ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เมื่อเวลา 04.08 น.ของวันนี้(11 ม.ค.2560) จนประชาชนในพื้นที่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ สามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน 

นายสมบูรณ์ โฆษิตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนย่อยแม่วางในกลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา ที่มีความยาวประมาณ 35 กิโลเมตร มีการเลื่อนตัวตามแนวระนาบเหลื่อมซ้าย โดยศูนย์กลางอยู่ใน ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ห่างจาก อ.แม่วาง 28 กิโลเมตร และ อ.เมือง เชียงใหม่ 50 กิโลเมตร และหลังจากนั้นในเวลา 04.56 น.เกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.0 อีกครั้ง

 

 

ในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.2559 ถึงวันที่ 11 ม.ค.2560 ใน จ.เชียงใหม่ เกิดแผ่นดินไหวรวมกัน 94 ครั้ง ขนาด 3.0-3.9 รวม 7 ครั้ง ขนาด 2.0-2.9 รวม 35 ครั้ง ขนาด 1.0-1.9 รวม 52 ครั้ง ทั้งนี้กรมทรัพยากรธรณี คาดการณ์มีโอกาสไหวได้ถึงขนาด 5.5 ในรอบ 17 ปี

สำหรับการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.0 ในช่วงเช้ามืดวันนี้ เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหายเกิดขึ้น แต่ถือเป็นสัญญาณที่ดีของรอยเลื่อนดังกล่าว ที่มีการเคลื่อนตัวและค่อยๆปล่อยพลังงานออกมาทีละนิด ซึ่งเป็นการเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กครั้งที่ 7 ตรงรอยเลื่อนเดิม เพราะดีกว่าให้รอยเลื่อนสะสมพลังงานไว้มากๆ แล้วปล่อยออกมาเพียงครั้งเดียว จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงและมีความเสียหายสูง

นายสมบูรณ์ กล่าวว่า รอยเลื่อนดังกล่าวเป็นแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงอยู่ในระดับ 1 คือขนาด 1 - 5 จึงไม่มีอันตรายกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือที่ราบเชิงเขา แต่อาจกระทบอาคารบ้านเรือนที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรง และไม่รองรับการเกิดแผ่นดินไหว ก็จะเกิดรอยร้าวได้ เช่น บ้านแม่ปอน ม.15 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ บ้านเรือนของราษฎรเป็นบ้าน 2 ชั้น ข้างล่างเป็นปูนข้างบนเป็นไม้ มีรอยร้าว บริเวณรอยต่อระหว่างกำแพงกับเสาแยกออกจากกันเล็กน้อย จึงขอให้ประชาชนคลายความกังวลได้

ทั้งนี้ ยอมรับว่ารอยเลื่อนที่เคลื่อนตัวอาจจะสัมพันธ์กับรอยเลื่อนปัจจุบัน หรือรอยเลื่อยเก่าที่สงบแล้วหรือไม่ กรมทรัพยากรธรณีจึงเก็บข้อมูลการเคลื่อนตัวและการเกิดแผ่นดินไหวนี้ เพื่อสังเกตและศึกษาพฤติกรรมว่าจะเป็นรอยเลื่อนแม่ทา หรือรอยเลื่อนแม่ปิง หรืออาจเป็นรอยเลื่อนใหม่ ซึ่งยิ่งรอยเลื่อนมีการเคลื่อนไหวมากและถี่จะเป็นผลดีในการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อประเมินสถานะภาพของรอยเลื่อนดังกล่าว โดยมีการติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.5 ถึงร้อยละ 5 ของรอบการเกิดแผ่นดินไหว 17 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง