เปิดแถลงการณ์ 30 องค์กรค้านกฎหมายคุมสื่อ

สังคม
29 ม.ค. 60
16:36
382
Logo Thai PBS
เปิดแถลงการณ์ 30 องค์กรค้านกฎหมายคุมสื่อ
30 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ผนึกพลังค้านร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อ ชี้เนื้อหาแทรกแซงการทำงาน ไม่สอดคล้อง รธน. เสนอสปท.เร่งทบทวน พร้อมเดินหน้าเคลื่อนไหวหากไม่รับฟังเสียง

วันนี้ (29ม.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กรได้ประชุมหารือร่วมกันแล้ว มีความเห็นคัดค้านร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

โดยเนื้อหาแถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)โดยคณะกรร มาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ ได้ดำเนินการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยว ข้องเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... เพื่อเสนอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศรับรองและส่งให้คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไปตามความทราบแล้วนั้น

 


องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กรตามรายชื่อท้ายแถลงการณ์นี้ มีความเห็นดังต่อไปนี้

1) ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ดังกล่าว มิได้อยู่บนพื้นฐานหลักการของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่กลับเน้นหลักการควบคุมสื่อมวลชนโดยใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่โดยอิสระของสื่อมวลชน และไม่สอดคล้องกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย ฉบับที่ผ่านการลงประชามติ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้สื่อมวลชนกำกับดูแลกัน เองโดยอิสระและปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ ทั้งนี้ จะมีผลกระทบโดยตรงต่อบทบาทของสื่อมวลชนในการตรวจสอบอำนาจรัฐและเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน


2) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ต้องยกเลิกการพิจารณาร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ โดยให้กลับไปทบทวนความจำเป็นในการออกกฎหมายดังกล่าว


3) หากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเดินหน้ารับรองร่างพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ฟังเสียงทักท้วง องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั่วประเทศจะยกระดับมาตรการในการคัดค้านร่างกฎหมายนี้ต่อไปจนถึงทีสุด

 

 


4) ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้พัฒนาระบบการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อยกระดับความรับผิดชอบของสื่อมวลชนและตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมทั้งมุ่งมั่นที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป

สำหรับรายชื่อ ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ ไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย

สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย สมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย)

สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ 17 จังหวัด เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสาน เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคกลาง-ภาคตะวันออก เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้ ชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ และ ชมรมเพื่อเพื่อนช่างภาพสื่อมวลชน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง