ประธาน ส.อ.ท.หนุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ชี้ภาคใต้เสี่ยงความมั่นคงทางไฟฟ้าสูง

ภูมิภาค
17 ก.พ. 60
11:32
286
Logo Thai PBS
ประธาน ส.อ.ท.หนุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ชี้ภาคใต้เสี่ยงความมั่นคงทางไฟฟ้าสูง
ประธาน ส.อ.ท.แถลงสนับสนุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ เพราะพื้นที่ภาคใต้มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางไฟฟ้าสูง โดยมองว่าโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินมีความเหมาะสม แต่การขนถ่ายต้องรัดกุม ไม่ให้กระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน

วันนี้ (17 ก.พ.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเสี่ยงวิกฤติขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าใน 14 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาก จนเคยเกิดกระแสไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้มาแล้ว ทำให้ทุกรัฐบาลหาทางแก้ปัญหาและมีแนวคิดผลักดันโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา จ.สงขลา และที่ จ.กระบี่

ก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ เพราะพื้นที่ภาคใต้มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางไฟฟ้าสูง เพราะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มร้อยละ 4 ต่อปี สูงกว่าการเติบโตของจีดีพีประเทศ หากไม่เร่งตัดสินใจก็จะส่งผลต่อภาคธุรกิจ หากไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ได้ อาจกระทบต่อจีดีพีภาคใต้ประมาณร้อยละ 1

นอกจากนี้ ภาคเอกชนได้เตรียมแผนสำรองไว้อยู่แล้ว เช่น การเตรียมเครื่องปั่นไฟฟ้าสำรอง แต่ราคาการผลิตต่อหน่วยจะสูงถึงหน่วยละ 9 บาท เทียบกับการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ราคาหน่วยละ 4 บาท และยังมีการซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย หน่วยละ 12 บาท ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มที่ใช้กระแสไฟฟ้าสูง เช่น โรงงานแปรรูปยางพารา เซรามิก แปรรูปอาหาร รวมไปถึงธุรกิจบริการท่องเที่ยว เช่น โรงแรมต่างๆ

ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพราะหากใช้โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ก็มีความเสี่ยงต่อราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น หากจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เข้ามาผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะมีราคาสูงกว่า ส่งผลให้ต้นทุนภาคอุตสาหกรรม และประชาชน ส่วนโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ผลิตได้เฉพาะกลางวัน และยังมีต้นทุนสูง

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้หารือร่วมกับ ส.อ.ท.และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ภาคเอกชนทั้ง 2 แห่ง เห็นร่วมกันถึงความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

สำหรับสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ล่าสุด เดือน เม.ย.ปี 2559 มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) อยู่ที่ 2,630 เมกะวัตต์ สูงกว่ากำลังการผลิตที่ผลิตได้ 2,225 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอประมาณ 305 เมกะวัตต์ จึงต้องดึงกำลังผลิตไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปเสริม และรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียเพิ่มเติม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง