เปิดรายงานสิทธิมนุษยชนปี 2559 แอมเนสตี้ฯ ชี้ ม.44-พ.ร.บ.คอมฯ เปิดทางละเมิดสิทธิ

การเมือง
22 ก.พ. 60
19:27
1,232
Logo Thai PBS
เปิดรายงานสิทธิมนุษยชนปี 2559 แอมเนสตี้ฯ ชี้ ม.44-พ.ร.บ.คอมฯ เปิดทางละเมิดสิทธิ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2559/2560 พร้อมกันทั่วโลกวันนี้ (22 ก.พ.2560) ระบุไทยยังมีปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายด้าน เรียกร้องรัฐประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุม รวมถึงการ กด "ไลค์" และแชร์ข้อมูลออนไลน์

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่าในปี 2559 มีเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การสอดแนมข้อมูล การนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร การดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การซ้อมทรมานบุคคลต้องสงสัยก่อเหตุไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเธอย้ำว่า การเผยแพร่รายงานฉบับนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อการประณามหน่วยงานใด แต่เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในปี 2559 ที่ระบุในรายงานของแอมเนสตี้ฯ ได้แก่

  • การใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวว โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งๆ ต่างที่นำมาสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารให้ควบคุมตัวบุคคลได้โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายศาล แม้ว่าในเดือนกันยายน 2559 จะมีการออกคำสั่งยกเลิกเขตอำนาจของศาลทหารที่มาต่อคดีของพลเรือน แต่ก็ไม่มีผลย้อนหลัง ทำให้ยังคงมีการไต่สวนในศาลทหารต่อไป
  • การดำเนินคดีผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและผู้ที่ชุมนุมอย่างสงบ
  • การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการสอดแนมข้อมูลโดยไม่จำเป็นต้องขอหมายศาล แอมเนสตี้ฯ ยังระบุด้วยว่า ทางการไทยมีแผนที่จะเพิ่มการสอดแนมทางอินเทอร์เน็ตและการควบคุมการจราจรทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้นด้วย
  • ศาลทหารตีความกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อย่างกว้างขวาง มีการสั่งลงโทษจำคุกผู้ต้องหาสูงถึง 60 ปี รวมทั้งลงโทษผู้มีอาการทางจิต และศาลมักไม่ให้ผู้ที่ถูกจับกุมตามมาตรา 112 ได้รับการประกันตัว
  • การจำกัดสิทธิในการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เช่น การฟ้องร้องสมาชิกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จากการแถลงข่าวเปิดตัว "ศูนย์ปราบโกงประชามติ" และการที่แอมเนสตี้ฯ ถูกบีบให้ต้องยกเลิกการแถลงข่าวเปิดตัวรายงานเกี่ยวกับการทรมาน
  • การดำเนินคดีกับนักสิทธิมนุษยชน 3 คน คือ นายสมชาย หอมลออ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ ในข้อหาหมิ่นประมาทและกระทำความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการรายงานข้อมูลการทรมานโดยทหารในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2560 พนักงานสอบสวนได้มีความเห็นควรสั่งฟ้อง
  • การดำเนินคดี น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความสิทธิมนุษยชน ในหลายข้อหา รวมทั้งขบถล้มล้างการปกครอง จากการทำหน้าที่ทนายความให้นักกิจกรรมทางการเมือง
  • การทรมานบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
  • การละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานข้ามชาติ ชนกลุ่มน้อย โดยการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นที่โรงพัก ด่านตรวจ และสถานที่ควบคุมตัวอย่างไม่เป็นทางการ
  • การปฏิบัติโดยมิชอบต่อผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิง เช่น การกักตัวอย่างไม่มีกำหนดเป็นเวลานานหลายเดือนหรือหลายปี ชาวโรฮิงญาหลายคนต้องอาศัยอยู่ในศูนย์ควบคุมตัวคนเข้าเมืองที่แออัดนับตั้งแต่ปี 2558

อ่านรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 2559/2560 ภาษาไทย ฉบับเต็มได้ที่นี่

ทั้งนี้ ผู้แทนแอมเนสตี้ฯ ได้มอบรายงานฉบับนี้ให้ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งระบุว่าจะส่งรายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยตรง และยืนยันว่าทางการไทยจะทำงานร่วมกับภาคประชาชนในการปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ผู้แทนแอมเนสตี้ฯ และผู้แทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการสร้างความปรองดองและเปิดให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนับจากวันนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งทั่วไป ที่คาดว่าจะมีขึ้นในปี 2561 เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสงบ โปร่งใสและเป็นธรรม

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยกล่าวว่า กระบวนการปรองดองที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กำลังทำอยู่นี้ เป็นความพยายามที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมและเป็นที่ยอมรับ เพื่อที่จะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

"การสร้างความปรองดอง จะต้องเริ่มจากการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ควรทำให้พื้นที่ประชาธิปไตยเกิดขึ้นเป็นลำดับก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง แม้ว่าจะเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ยกเลิกกฎหมายต่างๆ ที่ออกมาแล้ว แต่ขอให้ยุติการออกกฎหมาย เพื่อให้รอให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อการเลือกตั้งมากขึ้น" น.ส.พรเพ็ญกล่าว 

นายโลคอง เมย์ยอง รักษาการผู้แทนประจำภูมิภาคของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ระบุว่า รัฐบาลควรจะลดความอึดอัดคับข้องใจต่างๆ ของประชาชนที่เกิดจากการละเมิดและจำกัดสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งทบทวนเรื่องการดำเนินคดี การควบคุมตัวบุคคลจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และควรจะเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองในช่วงเตรียมการสู่การเลือกตั้ง

กต.โต้ แอมเนสตี้ฯ ระบุรายงานไม่สะท้อนถึงพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนของไทย

หลังการเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ฯ กระทรวงการต่างประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ชี้แจง 7 ข้อ คือ

1.รัฐบาลเปิดให้ประชาชนและทุกภาคส่วน ทั้งภาควิชาการ สื่อมวลชน ภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ และการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปได้โดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมายผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง

2.ประเทศไทยให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักปฏิบัติสากล สื่อมวลชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างเสรี แต่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยในสังคม และต้องไม่ละเมิดสิทธิหรือชื่อเสียงของผู้อื่นตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 19 (3) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

3.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากการกระทำฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้าย ในลักษณะเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทที่ให้ความคุ้มครองบุคคลทั่วไป มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการริดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมิได้มีแรงจูงใจทางการเมือง นอกจากนี้การดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพยังมีกระบวนการพิจารณาคดีอันควรแห่งกฎหมาย (due legal process) เหมือนกับคดีอาญาโดยทั่วไป โดยจำเลยมีสิทธิที่จะต่อสู้คดีและได้รับการพิจารณาอย่างเที่ยงธรรม และผู้ที่ถูกพิพากษาให้มีความผิดตามกฎหมายดังกล่าวมีสิทธิในการอุทธรณ์และขอพระราชทานอภัยโทษ เฉกเช่นเดียวกับความผิดอาญาอื่น ๆ

4.ประเด็นระบบยุติธรรม รัฐบาลได้ปฏิรูปกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่สั่งสมมานาน รวมถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำและสิทธิมนุษยชน เมื่อสถานการณ์สงบเรียบร้อยขึ้นตามลำดับ หัวหน้า คสช. ได้มีคำสั่งกำหนดให้การกระทำความผิดที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหารบางประเภทกลับไปอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการผ่อนคลายมาตรการด้านความมั่นคงเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน

5.ประเด็นการปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นั้น บุคคลกลุ่มดังกล่าวได้รับความคุ้มครองจากการพิจารณาคดีด้วยความเที่ยงธรรมของศาลเท่าเทียมกับบุคคลทุกกลุ่ม

6.ประเด็นผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงมีความคืบหน้าที่สำคัญ โดยเฉพาะในประเด็นผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา โดยภายหลังจากที่เมียนมามีพัฒนาการทางการเมืองในเชิงบวกรัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับรัฐบาลเมียนมาและสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติในการอำนวยความสะดวกส่งผู้หนีภัยการสู้รบชาวเมียนมา จำนวน 71 คน กลับประเทศด้วยความสมัครใจ

7.ขอยืนยันว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเสรีภาพของประชาชนอย่างครอบคลุม ตราบที่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยมุ่งมั่นในการปฏิรูปกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง