กรมชลประทานยืนยันเหตุอุโมงค์ผันน้ำแม่งัด-แม่กวงถล่มเป็นเหตุสุดวิสัย

ภูมิภาค
2 มี.ค. 60
19:10
600
Logo Thai PBS
กรมชลประทานยืนยันเหตุอุโมงค์ผันน้ำแม่งัด-แม่กวงถล่มเป็นเหตุสุดวิสัย
โครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำแม่งัด-แม่กวง ซึ่งเกิดเหตุหินถล่มใส่นักธรณีวิทยาจนเสียชีวิตในวันนี้ (2 มี.ค.) เป็นโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ กรมชลประทานยืนยันว่าเป็นเหตุสุดวิสัย

วันนี้ (2 มี.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อุโมงค์ผันน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลและเขื่อนแม่กวงอุดมธาราที่กำลังขุดเจาะ เกิดเหตุหินร่วงลงมาจนทำให้นักธรณีวิทยา 2 คนเสียชีวิตในวันนี้ กรมชลประทานชี้แจงว่าเป็นเหตสุดวิสัยเพราะนักธรณีวิทยาจะต้องเข้าไปสำรวจหลังการขุดเจาะในลักษณะนี้

อุโมงค์ที่เกิดเหตุในวันนี้ คืออุโมงค์เข้าออกหมายเลข 6 ที่อยู่บริเวณบ้านป่าเลา ต.แม่หอพระ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ อุโมงค์นี้อยู่ในช่วงกลางระหว่างเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลและเขื่อนแม่กวงอุดมธารา โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร 20 เซนติเมตร ซึ่งเป็นการขุดเจาะเข้าไปในภูเขาหิน หลังการเจาะในแต่ละวันนักธรณีวิทยาจะต้องทำหน้าที่เข้าไปสำรวจสภาพทางธรณีวิทยาก่อนที่จะดำเนินการต่อไป โดยเช้าวันนี้ นักธรณีวิทยาเดินเข้าไปสำรวจหินที่ขุดเจาะมาตั้งแต่เมื่อวานนี้ แต่เกิดอุบัติเหตุหินหล่นใส่ทั้ง 2 คนจนเสียชีวิต

โครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำเพื่อนำน้ำไปเติมน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารานี้ เป็นการขุดอุโมงค์ผันน้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ระยะทาง 49 กิโลเมตร โดยเป็นโครงการแก้ปัญหาภัยแล้งของ จ.ลำพูน และเชียงใหม่ เพราะส่วนใหญ่เขื่อนแม่กวงอุดมธาราจะมีน้ำไม่เต็มเขื่อนทุกปี สวนทางกับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยจะมีการขุดอุโมงค์ผันน้ำเป็น 2 ช่วง คือช่วงแรกผันน้ำจากลำน้ำแม่แตง เข้ามาสู่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ระยะทาง 26 กิโลเมตร เพราะทุกปีในฤดูฝนจะมีน้ำเกินในลำน้ำแม่แตง จนบางครั้งทำให้เกิดน้ำท่วม

ส่วนอีกช่วง คือจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ไปเติมเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ระยะทาง 23 กิโลเมตร หลังการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถผันน้ำไปเติมเขื่อนแม่กวงอุดมธาราได้มากถึง 160 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยจะผันไปในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคใน จ.เชียงใหม่ และลำพูน รวมทั้งสามารถเพิ่มพื้นที่การเกษตรได้มากกว่า 4 เท่าตัว โครงการนี้เริ่มการก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2558 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง