ไทยมั่นใจ "ดงพญาเย็น-เขาใหญ่" พ้นบัญชีมรดกโลกในภาวะอันตรายจากปัญหาตัดไม้พะยูง

สิ่งแวดล้อม
30 มี.ค. 60
10:54
4,975
Logo Thai PBS
ไทยมั่นใจ "ดงพญาเย็น-เขาใหญ่" พ้นบัญชีมรดกโลกในภาวะอันตรายจากปัญหาตัดไม้พะยูง
ประเทศไทย มั่นใจปีนี้ "ดงพญาเย็น-เขาใหญ่" จะรอดจากการถูกบรรจุเข้าวาระพิจารณา เป็นมรดกโลกในภาวะอันตราย จากปัญหาลักลอบตัดไม้พะยูง ชี้ข้อมูลการประเมินของผู้เชี่ยวชาญที่เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกเพียงพอและแสดงถึงความตั้งใจไทยที่จะแก้ปัญหา คาดรู้ผลเดือน มิ.ย.นี้

วันนี้ (30 มี.ค.2560) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพในการประชุมระหว่างประเทศเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงผิดกฎหมายครั้งที่ 3 โดยมีตัวแทนจาก 4 ประเทศคือ จีน กัมพูชา ลาว และเวียดนาม จำนวน 15 คน และผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ มูลนิธิฟรีแลนด์ FAO และทาง IUCN เข้าร่วมประชุมระหว่าง 30-31 มี.ค.นี้

มิ.ย.นี้รู้ผลไม่ถูกขึ้น"มรดกโลกอันตราย"

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการมรดกโลก ขอให้ไทยเร่งแก้ปัญหาการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงที่ผิดกฎหมายในพื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยตลอด 2-3 ปี กรมอุทยานฯ ร่วมกับหลายหน่วยงานสนธิกำลังปราบปรามและหยุดการค้าไม้พะยูงผิดกฎหมายในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งการลักลอบตัด การค้าไม้ข้ามแดน และยอมรับว่าสถานการณ์ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


"ค่อนข้างมีข่าวดีว่าจากรายงานของผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามามาประเมินการแก้ปัญหาไม้พะยูงในกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ในเดือนธ.ค.2559 และทำรายงานต่อคณะกรรมการมรดกโลก ชี้ว่าประเทศไทยมีความพยายามแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และข้อมูลที่ส่งไปมีความก้าวหน้า และเพียงพอ จึงไม่ควรให้กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่จะต้องถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในภาวะอันตราย และให้เวลาไทยดำเนินการตามแผนปฎิบัติการแก้ไขปัญหาไม้พะยูงให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 แล้วจึงทบทวนผลการดำเนินงานอีกครั้ง ซึ่งไทยจะทราบว่าจะถูกบรรจุวาระเข้าพิจารณาในประเด็นนี้หรือไม่ในเดือน มิ.ย.นี้. ก่อนที่จะมีประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 41 ในเดือน ก.ค.นี้ที่ประเทศโปแลนด์" พล.อ.สุรศักดิ์ ระบุ

โชว์หลักฐานใหม่ "เสือโคร่ง"18 ตัวในป่าทับลาน

นอกจากนี้ รมว.ทส. ยังบอกว่า ประเทศไทยยังส่งรายงานความก้าวหน้าการก่อสร้างอุโมงค์เชื่อมผืนป่าของถนนสาย 304 ระหว่างอุทยานแห่งชาติทับลานและเขาใหญ่ ที่มีความคืบหน้าในการสร้างถนนและอุโมงค์ให้สัตว์ป่าเดินข้ามไปมา รวมทั้งจะเสนอข่าวดีเกี่ยวกับหลักฐานใหม่ที่พบว่ากลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มีเสือโคร่งที่ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้จากภาพถ่ายถึง 18 ตัว เพื่อยืนยันถึงความสมบูรณ์ของผืนป่าและการป้องกันการบุกรุกเพื่อให้สัตว์ป่าดำรงอยู่ได้ตามธรรมชาติ ขณะที่การป้องกันลักลอบตัดไม้พะยูงได้ใช้มาตรการจับก่อนตัดในป่าทับลาน แล้วค่อนข้างได้ผลสามารถจับผู้ลักลอบได้จำนวนมากในช่วงครึ่งปีนี้

 ชี้ 3 ปีคดีจับลดลง-มีมูลค่าเสียหาย 2,850ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ในการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส ครั้งที่ 17 เมื่อปี 2559 ประเทศไทยได้ขอให้ไซเตส มีมติเปลี่ยนคำอธิบายแนบท้ายข้อกำหนดไม้พะยูงที่อยู่ในบัญชีหมายเลข 2 ของไซเตส จากเดิมที่ควบคุมเฉพาะไม้ซุงพะยูง มาเป็นให้ครอบคลุมทุกส่วนของไม้พะยูงที่มีการค้าระหว่างประเทศ เช่น ไม้ท่อน ไม้แผ่น เฟอร์นิเจอร์แปรรูปทุกรูปแบบยกเว้นดอก ใบ ผล เมล็ด ด้วย

ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รายงานผลการจับกุมคดีลักลอบตัดไม้พะยูงระหว่างปี 2552-2559 ภาพรวมมีคดี 8,294 คดี ผู้กระทำผิด 5,965 คน ตรวจยึดไม้พะยูงประเภทพท่อน/แผ่น/เหลี่ยม 111,806 ชิ้น ปริมาตรไม้รวม 5,701 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 2,850 ล้านบาท

ทั้งนี้หากเทียบในรอบ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2559 พบว่าแนวโน้มการดำเนินคดีลดลงจาก ปี 2557 จำนวนคดี 2,767 คดี ปี 2558 จำนวน 1,038 คดี และปี 2559 จำนวน 666 คดี

สำหรับการประชุมวันนี้ แต่ละประเทศจะนำเสนอผลการแก้ปัญหาลักลอบตัดไม้พะยูงผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นในประเทศ เพื่อกำหนดมาตรการ และวางแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน การทบทวนกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง มาตรการบังคับใช้กฎหมาย และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง