3 ปีคสช.โพลชี้ประชาชนหวังรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ

การเมือง
22 พ.ค. 60
13:25
392
Logo Thai PBS
3 ปีคสช.โพลชี้ประชาชนหวังรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ
ครบรอบ 3 ปี ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ส่วนใหญ่มีความสุขเท่าเดิม เพราะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนนิด้าโพล ชี้ ประชาชนต้องการให้รัฐบาล คสช.กระตุ้นเศรษฐกิจ

 วันนี้(22 พ.ค.2560) ถือเป็นวันครบรอบ 3 ปีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช.เข้ามาบริหารประเทศ ส่วนการแถลงผลงานครบรอบ 3 ปี ของคสช.นั้น จะมีขึ้นในเดือนกันยายน พร้อม ๆ กับการแถลงผลงานรัฐบาล โดยนายกฯ จะเป็นผู้เลือกวันเวลาที่จะแถลง ขณะที่วันนี้ คสช. จะมีวีดิทัศน์สรุปผลการทำงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นำเสนอแก่สื่อมวลชน

สวนดุสิตโพลมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อ 10 เรื่องที่จะช่วยสร้างความมั่นใจต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับการก้าวสู่ปีที่ 4 โดยพบว่า เรื่องที่ประชาชนต้องการ ให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินการมาก อันดับ 1 คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้าการลง ทุน ร้อยละ 80.15 อันดับ 2 แก้ปัญหาปากท้องของประชาชนร้อยละ 78.99 อันดับ 3 ใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม คุ้มค่า ร้อยละ 77.08 อันดับ 4 ช่วยเหลือเกษตรกร ดูแลราคาพืชผลทางการ เกษตร ร้อยละ 74.22 และ อันดับ 5 รับฟังความเห็นก่อนมีการบังคับใช้กฎหมายร้อยละ 72.65

ส่วนสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชา ชนเช่นกัน เรื่อง "3 ปี คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ" โดยพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42 ระบุว่า มีความสุขเท่าเดิม เพราะ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง รองลงมา ร้อยละ 32.64 ระบุว่า มีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีการชุมนุมและความวุ่นวายทางการเมือง ขณะที่ ร้อยละ 21.76 ระบุว่า มีความสุขลดลง เพราะเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนแย่ลง ค่าครองชีพสูง



ขณะที่ความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานราชการแผ่นดินครบรอบ 3 ปี ของ คสช. ในประเด็นต่าง ๆ ที่ทำให้มีความสุขมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 47.20 ระบุว่า เป็นเรื่องของบ้านเมืองสงบเรียบร้อยเพราะไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง รองลงมา ร้อยละ 15.28 ระบุว่า ไม่มีประเด็นใดที่ทำให้มีความสุข และร้อยละ 10.72 ระบุว่า เป็นการมุ่งแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน

ส่วนประเด็นต่าง ๆ ที่ยังไม่สามารถทำให้มีความสุข พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 24.80 ระบุว่าเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม รองลงมา ร้อยละ 14.16 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องเกษตรกร และ ร้อยละ 13.92 ระบุว่า ไม่มีประเด็นใดที่ไม่มีความสุข และร้อยละ 13.28 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน เป็นต้น

คาดหวัง "ปรองดอง"แก้ขัดแย้ง 

ขณะที่นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และ ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย กล่าวถึง การบริหารงาน คสช. ว่า ก็มีวาระพิเศษมีเรื่องที่สังคมคาดหวัง เป็นกรณีพิเศษต่างจากรัฐบาลปกติทั่วไปด้วย นั่นก็คือ วาระการปรองดองและการปฏิรูปประเทศ ซึ่งพบว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมาทั้ง 2 เรื่อง ยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร  

โดยปมความขัดแย้งแตกแยก ยังคงอยู่แค่ถูกกดทับด้วยอำนาจพิเศษของ คสช. ดังนั้นเมื่อสถาน การณ์เหมาะสม ปมเหล่านี้ก็จะกลับมาอีก และ มองว่า คสช. ทำงานเยอะไม่ได้เกียร์ว่าง แต่งานส่วนใหญ่เป็นงานเฉพาะหน้ามากเกินไป

ด้านนายยิ่งชีพ อัชรานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ กล่าวว่า คสช.ใช้เวลา 3 ปีเปลี่ยนแปลง รูปแบบการเมืองการปกครองของไทยหลายอย่างที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ การดึงอำนาจการปกครองกลับไปอยู่ที่หน่วยงานราชการเป็นส่วนใหญ่ การตัดช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน การใช้กฎหมายควบคุมเสรีภาพของสื่อ มวลชน การสถาปนาอำนาจทหาร ในกระบวนการยุติธรรม และการใช้อำนาจสูงสุดอย่างที่ไม่มีกระบวนการใดสามารถตรวจสอบหรือถ่วงดุลได้ เป็นต้น

 

ภาคเศรษฐกิจเชื่อมั่นมีแนวโน้มดีขึ้น 

ส่วนมุมมองของภาคเอกชน และนักวิชาการ นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการ ค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เห็นว่า เรื่องที่รัฐบาลควรปรับปรุงเร่งด่วน คือ การเร่งรัดนโยบายการประกอบธุรกิจเอกชนให้มีความสะดวกรวดเร็วเพิ่มขึ้น


นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี ประธานหอการค้าไทย-จีนกล่าวว่า คสช.และรัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่นโยบายบางเรื่องก็ดีและบางเรื่องยังต้องปรับแก้ไข ขณะที่ภาคเอกชนเลือกไม่ลงทุน ในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากปัญหาภายในประเทศ ซึ่งเชื่อว่ามีแนวโน้มที่จะดีขึ้น


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง