ระดมคนวิชาการทบทวนเพื่อเดินหน้า "10 ปีนักข่าวพลเมือง" ก้าวย่างสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส

สังคม
23 พ.ค. 60
14:51
639
Logo Thai PBS
ระดมคนวิชาการทบทวนเพื่อเดินหน้า "10 ปีนักข่าวพลเมือง" ก้าวย่างสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส
ประชุม ‘พลเมืองก้าวที่ 10 : ถอดบทเรียน 10 ปี นักข่าวพลเมือง’ ชวนคนวิชาการร่วมถอดบทเรียนความร่วมมือ จากจุดเริ่มต้นปี 2551 เปิดพื้นที่การสื่อสารภาคพลเมืองในหน้าจอทีวีสาธารณะ สู่ยุคสื่อโกออนไลน์ เมื่อภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป ใคร ๆ ก็เปลี่ยนแปลง

วันนี้ (22 พ.ค. 2560) สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส จัดการประชุม ‘พลเมืองก้าวที่ 10 : ถอดบทเรียน 10 ปี นักข่าวพลเมือง’ ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น โดยเชิญนักวิชาการจาก 15 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศที่ร่วมขับเคลื่อนงานนักข่าวพลเมืองมาร่วมถอดบทเรียน ทบทวนการทำงาน เพื่อที่จะขยับไปข้างหน้าอย่างมีทิศทางและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

คลิกดูไทม์ไลน์จุดเริ่มต้นนักข่าวพลเมือง ก้าวแรกถึงก้าวที่สิบ www.citizenthaipbs.net/step

คอนเซ็ปต์นักข่าวพลเมือง “การสื่อสารโดยคนใน” ไม่มีใครทำแทนได้

สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ กล่าวย้อนไปถึงข้อเขียนของตัวเองเมื่อปี 2551 เกี่ยวกับการอธิบายเรื่องการสื่อสารที่น่าสนใจของ รศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในวงพูดคุยถึงแนวทางเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ว่า การสื่อสารไม่ใช่เรื่องเทคนิค เรื่องทีวี หรือหนังสือพิมพ์ ไม่ใช่แค่เอาข้อมูลขึ้นไปอยู่บนสื่อ แต่เป็นการสร้างความหมาย สร้างพื้นที่ในการสื่อความหมาย และให้เกิดการขับเคลื่อนในทางสังคม เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มและสื่อสารต่อขยายไปทุกระดับ

สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ รศ.ศรีสมภพพูดเกี่ยวพันธ์กับนักข่าวพลเมือง คือ 1.เมื่อพลเมืองคิดเรื่องการสื่อสารกับสังคมวงกว้าง นั่นเป็นเพราะเขาต้องการพื้นที่ในการปฏิบัติการเพื่อสร้างนิยามความหมายให้สังคมได้เรียนรู้และเข้าใจจากมุมมองของเจ้าของประเด็น หรือบางที่เราเรียกว่าคนใน ซึ่งคนนอกอย่างเราต่อให้เห็นด้วยก็ไม่อาจมองแทนกันได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ปรากฏชัดในงานของนักข่าวพลเมืองที่นำเสนอมาตลอด 10 ปี

ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้คำจำกัดความของนักข่าวพลเมืองชัดขึ้นมาด้วยว่าเวลาเราพูดถึงมุมมองของการทำงานต่อประเด็นต่าง ๆ ทำไมนักข่าวพลเมืองจึงไม่ใช่สื่อมวลชนมืออาชีพที่เราคุ้นเคยกัน ทำไมความเป็นคนในถึงสำคัญ แล้วคนนอกอย่างเราอยู่ตรงไหนของการสื่อสาร นี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้มาโดยตลอด

2.เราพบว่าการสื่อสารภาคพลเมืองเป็นเรื่องเดียวกับการเมืองภาคพลเมือง คือถ้ามองว่าการเมืองเป็นเรื่องการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม การเมืองภาคพลเมืองก็คือการเข้าไปมีส่วนร่วมของพลเมือง ซึ่งไม่สามารถให้คนอื่นมารับเหมาทำแทนได้ อันนี้เป็นวิธีการเดียวกันกับที่ภาคพลเมืองจะมีที่อยู่ที่ยืนทางสังคม

การสื่อสารผ่านตัวแทนที่ผ่านมามันมีข้อจำกัด เพราะมันถูกจำกัดวงเฉพาะผู้มีอำนาจทางการเมืองและผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจเท่านั้น ดังนั้นการเกิดขึ้นของนักข่าวพลเมืองคือการที่พลเมืองลุกขึ้นมาสื่อสารด้วยตัวเอง นี่เป็นนิยามสำคัญอันหนึ่งที่แยกความเป็นนักข่าวพลเมืองออกจากการสื่อสารในแบบอื่น ๆ

สมเกียรติ กล่าวว่า การที่เจ้าของประเด็นลุกขึ้นมาสื่อสารเองได้ก่อให้เกิดปฏิบัติการขึ้นในพื้นที่ และหลายครั้งนักข่าวพลเมืองได้สื่อสารก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับตัวบุคคล ไปจนระดับสังคมด้วย เมื่อมาผนวกกับบทบาทของสื่อสาธารณะที่ต้องการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมให้กับภาคพลเมืองในการมีส่วนร่วมทางสังคม จึงทำให้เกิดกระบวนการพัฒนาที่เรียกว่า ‘นักข่าวพลเมือง’ ขึ้น

10 ปีผ่านไป ผมก็ยังพูดเหมือนเดิม คือ นักข่าวพลเมืองไม่ใช่ของไทยพีบีเอส เราไม่ได้เป็นเจ้าของนักข่าวพลเมือง และในทุกวันนี้นักข่าวพลเมืองเป็นแนวคิดใหญ่ ซึ่งมันอธิบายว่าทำไมภาคพลเมืองจึงต้องลุกขึ้นมาปฏิบัติการ ลุกขึ้นมาสื่อสารในเรื่องราวของตนเอง

เนื่องจากโดยคอนเซ็ปต์ว่าจากการสื่อสารตรงนี้เป็นเรื่องที่ทำแทนไม่ได้ วงวันนี้จึงเชิญนักวิชาการทั้งที่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับนักข่าวพลเมืองมาตั้งแต่ต้น บางคนเข้ามาร่วมตอนกลาง หรือบางคนเพิ่งเข้ามา มาร่วมพูดคุยเพื่อให้เห็นภาพของการพัฒนานักข่าวพลเมืองซึ่งขึ้น ๆ ลง ๆ เพื่อทำความเข้าใจ และที่สำคัญคือการเอาแนวคิดตรงนี้ไปออกแบบกระบวนการที่ทำให้นักข่าวพลเมืองได้ร่วมกันมองย้อนกลับไปในสิ่งที่ทำร่วมกันมา และอนาคตต่อไปนี้จะเดินไปอย่างไร เมื่อภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไปมากมายซึ่งก็มีผลกระทบทั้งบวกและลบต่อสังคมและต่อตัวนักข่าวพลเมืองเอง จึงอยากขอความรู้จากวงนี้ เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น และทิศทางในอนาคตต่อไป

 

 

นักข่าวพลเมือง กลไกของการเปลี่ยนแปลง

อังคณา พรมรักษา คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมแลกเปลี่ยนในวง “10 ปี นักข่าวพลเมืองสู่พลเมืองก้าวที่ 10” ว่า กระบวนการทำงานร่วมกันที่ผ่านมาทำให้คิดว่านักข่าวพลเมืองคือกลไกในการสื่อสาร โดยนักข่าวพลเมืองมีพื้นที่หน้าจอโทรทัศน์เป็นยุทธศาสตร์ แต่หลังจอก็มีการขับเคลื่อนโดยคนทำงานนักข่าวพลมืองซึ่งเป็นเด็กและเยาวชน มีสถานบันการศึกษา ชุมชน ภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนประเด็นในพื้นที่ และไทยพีบีเอส เคลื่อนกระบวนการหลังจอไปพร้อม ๆ กัน ทั้งนี้งานนักข่าวพลเมืองไม่ได้แค่ตอบแค่โจทย์ On Air (การออกอากาศทางโทรทัศน์) แต่ยังมี On Ground (การมีกิจกรรม ความเคลื่อนไหว) และปัจจุบันมี Online ด้วย

อังคณา ยังกล่าวถึงคุณูปการของนักข่าวพลเมือง คือ 1.ระดับการมีส่วนร่วมในการสื่อสาร กลไกนักข่าวพลเมืองมีการตั้งคำถาม ทำให้เขาเองได้ถามตัวเอง ได้คิดเพื่อค้นพบบางอย่าง ซึ่งหากนักข่าวมืออาชีพไปถามอาจไม่ได้คำตอบหรือความเปลี่ยนแปลงเหมือนที่นักข่าวพลเมืองถาม ไปสัมภาษณ์ เก็บข้อมูลมาสื่อสาร

2.การสื่อสารทำให้เกิดสถานการณ์แบบป่าล้อมเมือง เทคโนโลยีหนุนเสริมพลังการสื่อสาร เราคงต้องมาคุยกันว่าป่าจะล้อมเมือง จะเขย่าเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไร


ปฏิบัติการเชื่อมต่อการสื่อสารหลายแพลตฟอร์ม

ผศ.ดร.ภัทรา บุรารักษ์ คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า นักข่าวพลเมืองเป็นตัวเขย่าคนให้รู้ว่าสามารถสื่อสารได้ เรามีสิทธิ์ แต่การลงไปในตอนต้นไปในเชิงเทคนิค แต่ขาดเรื่องของไอเดียวิธีคิด เป็นการปรับเปลี่ยนโดยไม่ให้ความรู้ ทำให้วิธีคิดในการสื่อสารไม่ได้แน่น ตรงนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักข่าวพลเมืองทำครั้งแรกแล้วก็หายไป เพราะทำเรื่องเทคนิค แต่อาจไม่ได้คิดเรื่องการมีส่วนร่วม แนวคิดการบริการจัดการไม่ได้ไปด้วยกัน

ภัทรา ตั้งคำถามด้วยว่า สถาบันใหญ่อย่างไทยพีบีเอส ทำอะไรมากกว่า On Air – Online - On Ground ไหม การที่นักข่าวพลเมืองเริ่มต้นงานชิ้นแรกจากการที่มีพลเมืองส่งคลิปมาให้เผยแพร่ ทำไมเขาถึงส่งให้ หาคำตอบได้ไหม

ตอนนี้เทคโนโลยีเปลี่ยน การสื่อสารมีหลายทางเลือก งานที่พลเมืองส่งให้เรามีไหม ไม่ส่งมีไหม แล้วจะผนึกมันอย่างไร เมื่อมันคือเรื่องเล่าของคนที่ถูกกดทับ แล้วจะทำอย่างไร รอ หรือจะไปเอาประเด็นมาเสนอในพื้นที่ On Air – Online - On Ground ของนักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส ยุคสมัยของการเป็น Gatekeepers (ทฤษฎีผู้ปิดและเปิดประตูข่าวสาร) หมดไปแล้ว จะทำอย่างไรให้ออนไลน์มีเสียงคนมากขึ้น แตกประเด็นมากขึ้น

 

 

ข้อจำกัดที่ยังมีอยู่ในสื่อพลเมืองของสื่อสาธารณะ

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าประสบการณ์ว่า ได้เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับนักข่าวพลเมืองตั้งแต่ 51 จากกรณีปัญหาเรื่องที่ดินคลองโยง จ.นครปฐม ที่เคลื่อนเรื่องโฉนดชุมชน

จากประสบการณ์ คนที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว คนชายขอบนั้นเข้าไม่ถึงอำนาจในการจัดการเชิงนโยบาย พลังอยู่นอกวงขอบการเมือง การเดินขบวนก็เพื่อสื่อสารให้สังคมเห็นถึงความทุกข์ยาก แต่การชุมนุมไม่ได้กดดันในตัวของมันเอง ที่สำคัญคือการสื่อสาร กรณีสมัชชาคนจน 99 วัน ก็มีสื่อกระแสหลักมาช่วยสื่อสารจนเป็นที่รับรู้ของสังคม

บทบาทของสื่อพลเมือง ขยายพื้นที่ให้มวลชนได้เข้ามาใช้ในการต่อรอง ในการสื่อสารเพื่อให้ผู้คนเห็นปัญหาและมาร่วมถกเถียง พัฒนาไปสู้เรื่องความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ตังแต่เรื่องปากมูล มาสู่เรื่องที่ดินซึ่งมีการเคลื่อนเรื่องกฎหมาย 4 ฉบับ ก็มีขยับจากการสื่อสารในนักข่าวพลเมือง ไปสู่เวทีสาธารณะ ไทยพีบีเอส

รศ.ดร.ประภาส กล่าวด้วยว่า คนที่มาใช้พื้นที่นักข่าวพลเมือง ประกอบด้วย 1.นักเคลื่อนไหว คนที่มาเดินขบวน ใช่เสร็จก็อาจหายไป 2.คนที่ไร้ตัวตน ไร้อัตลักษณ์ คนไร้รัฐ 3.ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรัฐ แต่ก็อาจไม่ครอบคลุมคนทั้งหมด อย่างกรณี คนที่โดน 112 ยังมีคำถามว่า ทำไมไม่มีนักข่าวพลเมืองไปพูดถึงชีวิตเขา นักข่าวพลเมืองยังมีข้อจำกัดในการสื่อสาร

สำหรับนักเคลื่อนไหวกับการทำข่าวพลเมือง ปัญหาในเชิงเทคนิคสำคัญ ปัญหาในเชิงวิธีคิดไม่เท่าไหร่ ส่วนแนวคิดเรื่องสื่อพลเมือง การทำให้ลงหลักปักฐานในสถาบันการศึกษาเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ทำให้ข้อจำกัดเรื่องการทำเป็นคนๆ ลดลง มีการทำงานเป็นเครือข่าย ในยุคสมัยที่พื้นที่การสื่อสารมีมากขึ้น มีหลายช่องทางขึ้น มือถือก็ถ่ายได้ทำให้ข้อจำกัดลดลง

ภาวะที่สื่อปกติไม่กล้าทำ บริบทการสื่อสารที่ถูกปิด บทบาทตรงนี้สำคัญ ต้องพยายามรักษาพื้นที่ตรงนี้ไว้สำหรับคนจำนวนมากที่ไม่มีพื้นที่สื่อสาร เพราะการเคลื่อนไหวเดินเท้าลำบาก ถูกปิดกันโดย พ.ร.บ.ชุมนุม

จำแนกประเภทความเป็นนักข่าวพลเมือง

ผศ.มัทนา เจริญวงศ์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าถึงงานศึกษา “การเกิดขึ้นและพัฒนาการของนักข่าวพลเมืองไทยพีบีเอส” ที่ได้รวบรวมข้อมูลจากนักข่าวพลเมืองไทยพีบีเอสจำนวน 100 คน จากทั่วประเทศเพื่อให้อธิบายตัวตนของตัวเอง ในช่วงเริ่มต้นของการมีนักข่าวพลเมือง และมีการการวิจัยเชิงปฏิบัติการลงไปพูดคุยในพื้นที่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

มัทนา กล่าวว่า การลงไปพูดคุยทำให้พบว่า กับชาวบ้านไม่ได้มองเพียงการสื่อสารหน้าจอ แต่การทำข่าวพลเมืองทำให้เขาได้พูดคุย ได้เข้าใจ เกิดความรู้ และจากความรู้ที่อยู่แต่ในชุมชนได้แพร่ออกมา ส่งผลให้เกิดความตระหนักถึงพลังของการเป็นผู้สื่อสาร อีกทั้งยังมีกระบวนการที่ไปไกลกว่างานหน้าจอ โดยมีการรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นต่าง ๆ ในชุมชน และมีการทำศูนย์เรียนรู้ชุมชน เพื่อรวบรวมประวัติศาสตร์การต่อสู้ให้เยาวชนได้เรียนรู้

การรายงานข่าวร่วมกัน พลเมืองอาจไม่ได้เริ่มเอง แต่การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม มีความคิดของเขาอยู่ในเนื้องาน และช่วยหนุนในเรื่องเทคนิค

มัทนา กล่าวด้วยว่า งานข่าวพลเมืองได้เปลี่ยนวิธีคิด ตัวอย่างกรณีไทยพลัดถิ่น จ.ระนอง ซึ่งทำข่าวพลเมืองอย่างต่อเนื่อง จนรู้ว่าข่าวรูปแบบไหนที่ไทยพีบีเอสต้องการ และผลิตข่าวในรูปแบบนั้น เป็นการเอาไปใช้ในยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวงานสื่อสาร ตรงนี้สัมพันธ์กับประชาธิปไตยในการสื่อสาร การสื่อสารอย่างมีส่วนร่วม

มัทนา กล่าวว่า นักข่าวพลเมือง คือคนที่ไม่มีความรู้เรื่องเทคนิคการสื่อสาร อยากสื่อสารประเด็นสู่สาธารณะ คือคนใน ที่ไม่ได้มีทุนในการสื่อสาร คือนักเคลื่อนไหว ต่อมาจึงมีพัฒนาการการมีส่วนร่วมมากขึ้น มีการผลิตงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เป็นลักษณะผู้ผลิตอิสระ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง