ศาลปกครองสูงสุดสั่งห้าม กสทช.ยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันประมูลทีวีดิจิทัล บ.ไทยทีวี

เศรษฐกิจ
1 มิ.ย. 60
16:29
870
Logo Thai PBS
ศาลปกครองสูงสุดสั่งห้าม กสทช.ยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันประมูลทีวีดิจิทัล บ.ไทยทีวี
ไทยทีวี โล่ง! ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น คุ้มครองชั่วคราว ส่งผล กสทช.ห้ามยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันของ ธนาคารกรุงเทพ ที่ บ.ไทยทีวี วางค้ำประกันไว้งวด 4-6 รวมมูลค่า 1,075 ล้านบาท ระหว่างที่คดียังไต่สวนไม่แล้วเสร็จ

วันนี้ (1 มิ.ย.2560) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงานจากศาลปกครองสูงสุด ซึ่งวันนี้ เวลา 13.30 น. ศาลปกครองกลาง อ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดในคดีที่บริษัท ไทยทีวี จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) (ผู้ถูกฟ้องคดี) โดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที โดยศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง (ศาลปกครองชั้นต้น) สั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ตามที่บริษัทไทยทีวี ร้องขอ ซึ่งมีผลห้าม กสทช.ยึดเงินค้ำประกันจากธนาคารกรุงเทพ ที่บริษัทไทยทีวี นำมาวางไว้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี ในงวดที่เหลือ 4-6 มูลค่ารวมกว่า 1,075 ล้านบาท จนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

 

 

โดยการอ่านคำสั่งครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 15 นาที โดยก่อนมีคำสั่ง ทางตุลาการเจ้าของสำนวน ได้อ่านเนื้อหาที่บริษัทไทยทีวียื่นฟ้องสรุปได้ว่า บริษัทไทยทีวียื่นฟ้อง เนื่องจาก กสทช.ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายหรือแผนแม่บทและคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในการเชิญชวนให้เข้าร่วมประมูลโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ซึ่งบริษัทไทยทีวีได้ขอยกเลิกใบอนุญาตและเลิกประกอบกิจการไปแล้วช่อง 2 ช่อง ได้แก่ ช่องไทยทีวี และช่องโลก้าทีวี แต่หลังจากนั้น กสทช.มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต แต่ได้สั่งให้บริษัทไทยทีวีชำระค่าธรรมเนียมในงวดที่ 4-6 ที่ยังค้างชำระ

บริษัทไทยทีวี จึงยื่นฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของ กสทช. และระงับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในงวดที่เหลือ และขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยห้าม กสทช.บังคับธนาคารกรุงเทพ ในฐานะธนาคารผู้ค้ำประกันให้บริษัทไทยทีวี จ่ายค่าธรรมเนียมงวดที่ 4-6 ไว้จนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

หลังจากอ่านเนื้อหาเสร็จสิ้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติว่า บริษัทไทยทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการแล้ว ซึ่งคดีนี้ มีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่า บริษัทไทยทีวี หรือ กสทช.ปฏิบัติผิดข้อตกลงหรือสัญญาที่มีต่อกัน ซึ่ง กสทช.นั้นจะมีสิทธิเรียกให้ธนาคารชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันก็เฉพาะแต่ในกรณีที่ กสทช.ไม่ได้ผิดข้อตกลงหรือสัญญาเท่านั้น แต่ในเมื่อประเด็นนี้ศาลยังไม่ได้วินิจฉัย ทาง กสทช.ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดี จึงยังไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องให้ธนาคารกรุงเทพ ชำระหลักเงินตามหนังสือค้ำประกันเสมือนว่าบริษัทไทยทีวีเป็นฝ่ายผิดข้อตกลงหรือสัญญา เนื่องจากหากดำเนินการไปแล้ว ธนาคารย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอากับบริษัทไทยทีวี ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้

หากเป็นเช่นนั้น จะมีผลเท่ากับบริษัทไทยทีวี เป็นฝ่ายแพ้คดีทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาล ดังนั้น การใช้สิทธิของ กสทช. จึงเป็นการกระทำซ้ำและกระทำต่อไปซึ่งการผิดสัญญา ซึ่งหากศาลมีคำสั่งคุ้มครองให้บริษัทไทยทีวี ก็จะผลเพียงทำให้ กสทช.ยังไม่ได้รับเงินค่าธรรมเนียมในทันที เพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินเท่านั้น ซึ่งตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตการประมูลทีวีดิจิทัล ได้กำหนดให้ชำระค่าธรรมเนียมเป็นงวดๆ อยู่แล้ว จึงมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น

สำหรับตัวแทนบริษัทไทยทีวีวันนี้ มี น.ส.ชลวิภา วิริยะกุล เป็นผู้รับมอบอำนาจ เดินทางมาร่วมรับฟัง ส่วนตัวแทนจาก กสทช.มีนายสมบัติ ลีลาพตะ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เป็นผู้รับมอบอำนาจ

 

 

หลังจากรับทราบผลคำสั่งศาล นายสมบัติ ระบุว่า จากนี้จะรายงานให้เลขาธิการ กสทช.และคณะกรรมการ กสทช.รับทราบ ซึ่งไม่ได้หนักใจอะไร เนื่องจากคำสั่งครั้งนี้ เป็นเพราะคดีการฟ้องร้องยังไม่แล้วเสร็จ และศาลเห็นว่า กสทช.ก็ไม่เสียหายนอกจากจะไม่ได้เงินค้ำประกันในทันที จึงมีคำสั่งคุ้มครองให้บริษัทไทยทีวี

ส่วนประเด็นข้อคำถามที่ว่า จากนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานหรือไม่ หากมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรายใดต้องการยกเลิกประกอบกิจการ และยื่นฟ้องเพื่อขอให้ศาลคุ้มครอง ห้าม กสทช.ยึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน นายสมบัติ กล่าวว่า ก็อาจทำได้ แต่เชื่อว่าไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ซึ่งการยื่นขอยกเลิกประกอบกิจการก็ต้องพิจารณาเป็นประเด็นไป ผู้ประกอบการแต่ละบริษัทมีเหตุผลไม่เหมือนกัน สำหรับมูลค่าค่าธรรมเนียมสงวดที่ 4-6 ที่ ห้าม กสทช.ยึดจากธนาคารกรุงเทพในระหว่างนี้มีมูลค่ารวมประมาณ 1,075 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในช่วงที่ศาลยังพิจารณาคดีไม่แล้วเสร็จเท่านั้น

 

 

ด้าน น.ส.ชลวิภา กล่าวว่า วันนี้ทำให้บริษัทโล่งใจไปเปราะหนึ่ง แต่ยังเหลือการต่อสู้คดีในชั้นศาลที่บริษัทยื่นฟ้อง กสทช. โดยเรียกร้องค่าเสียหายจากการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลไม่สำเร็จเป็นเงินรวมอีกกว่า 700 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยฝ่ายบริษัทยื่นเอกสารไปครบถ้วนแล้ว เหลือเพียงฝ่าย กสทช.ที่ยังต้องยื่นหลักฐานเพิ่มเติมอีกหนึ่งครั้งแล้วศาลจะนัดพิจารณาทั้ง 2 ฝ่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง