สั่งปิดบ่อบำบัดน้ำเสียซีพีเอฟ 30 วัน-ตั้งข้อสังเกตระบบความปลอดภัย

อาชญากรรม
26 มิ.ย. 60
12:31
2,301
Logo Thai PBS
สั่งปิดบ่อบำบัดน้ำเสียซีพีเอฟ 30 วัน-ตั้งข้อสังเกตระบบความปลอดภัย
นายกสมาคมวิศวกรสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตพื้นที่บ่อบำบัดของเสียโรงงานบริษัทซีพีเอฟ บกพร่องมาตรฐานความปลอดภัย ขณะที่กรมโรงงาน สั่งปิดเฉพะส่วนบ่อบำบัด 30 วัน พร้อมสั่งตรวจสอบโรงงานทั่วประเทศ ป้องกันซ้ำรอยเหตุโศกนาฏกรรม

วันนี้ (26 มิ.ย.2560) นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา นิสิตชั้นปีที่ 5 คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าไปดูงานที่บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซอยบางนา-ตราด 20 เป็นวันที่ 3 ในส่วนของระบบบำบัดน้ำเสีย และเกิดเหตุตกบ่อบำบัดน้ำเสีย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน ได้แก่ 1.นายพรชัย บุญบาน อายุ 40 ปี พนักงาน 2.นายชาญชัย พันธุนาคิน อายุ 42 ปี พนักงาน 3.นายชาตรี ศรีสันดร อายุ 53 ปี พนักงาน 4.น.ส.ลักษ์ชนก แสนทวีสุข อายุ 24 ปี เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมของบริษัท และ 5.น.ส.ปัณฑิกา ตาสุวรรณ อายุ 23 ปี นิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ


นายมงคล อธิบายว่า บ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานดังกล่าว เป็นระบบบำบัดชนิดตะกอนเร่ง รับน้ำเสีย 5,500 คิวต่อวัน น้ำเสียจะถูกสูบไปที่บ่อดักไข้มันจากนั้นลงที่บ่อพัก เพื่อสูบไปบ่อเติมอากาศให้เกิดการตกตะกอน ก่อนปล่อยออกนอกโรงงาน ซึ่งจุดเกิดเหตุคือบ่อพักน้ำเสีย โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 23-24 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าในวันที่เกิดเหตุฝาบ่อเปิดอยู่และตกลงไปข้างล่างแล้ว ยังไม่ชัดเจนว่าฝาบ่อเปิดอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ ขอให้เป็นหน้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจสอบ แต่ตามปกติควรมีการล็อกกุญแจมิดชิดป้องกันคนตกลงไป ขณะเกิดเหตุปริมาณน้ำสูงกว่า 1 เมตร แต่ขณะเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบพบว่ามีการสูบน้ำเพื่อช่วยเหลือคน ทำให้ไม่ทราบระดับน้ำที่แท้จริงขณะเกิดเหตุ รวมทั้งปริมาณก๊าซ เบื้องต้นกรมโรงงานอุตสาหกรรมสั่งให้ปิดโรงงานดังกล่าว เฉพาะส่วนบำบัดน้ำเสีย 30 วัน เพื่อให้มีการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องเชิงวิศวกรรม นอกจากนี้ อยู่ระหว่างตรวจสอบบุคลากรที่มีหน้าที่รับผิดชอบอยู่ ทั้งนี้ จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบโรงงานที่อาจมีความเสี่ยงถึงปัญหาการจัดระบบและพื้นที่บ่อบำบัดของเสียทั่วประเทศ เพื่อป้องกันซ้ำรอยเหตุการณ์ดังกล่าว

นางอัญชลี ยิ่งทวีสิทธิกุล ผู้อำนวยการส่วนมลพิษน้ำ สำนักเทคโนโลยีน้ำและสิ่งแวดล้อมโรงงาน กล่าวถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบว่า บริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียจะมีป้ายบ่งบอกว่าเป็นพื้นที่ควบคุม ห้ามบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปก่อนได้รับอนุญาต และระวังการตกลงไปในบ่อบำบัด โดยลักษณะบ่อดังกล่าวจะต้องมุดเข้าไปใต้อาคารซึ่งเป็นระบบปิด เนื่องจากมีกลิ่นของไฮโดรเจนซัลไฟด์และกลิ่นคล้ายไข่เน่า บ่อน้ำเสียมีระดับความลึกของน้ำ 1-1.50 เมตร ขณะเกิดเหตุ น.ส.ลักษ์ชนก ได้ดึงมือ น.ส.ปัณฑิกาและตกลงไป ส่วนนิสิตอีก 2 คนได้วิ่งออกไปตามช่างให้มาช่วย และตกลงไป 3 คน ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 5 คน ซึ่งวันเกิดเหตุพบค่าออกซิเจน ร้อยละ 20.1 ซึ่งอยู่ในช่วงมาตรฐาน ร้อยละ 19.3-23

นายรินทวัฒน์ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มเทคโนโลยีน้ำอุตสาหกรรม กล่าวว่า บุคลากรที่มาดูในเรื่องระบบบำบัดน้ำเสียได้มาตรฐานครบถ้วน มีการตรวจสอบระบบทุกสัปดาห์ และฝึกอบรมให้ความรู้ ส่วนเรื่องของความปลอดภัยอาจเป็นอีกมิติหนึ่ง

ขณะที่นายประเสริฐ ตปนียางกูร นายกสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บ่อสูบน้ำเสียที่มีความเข้มงวดสูงเป็นที่อับอากาศตามกฎหมายของกระทรวงแรงงาน ห้ามบุคคลทั่วไปเข้าไป เว้นแต่คนที่มีหน้าที่และได้รับอนุญาต ซึ่งต้องรู้วิธีเอาตัวรอดและช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

“สถานที่อับอากาศเป็นสถานที่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ต้องรู้ว่าความเสี่ยง การสลบ การบาดเจ็บ เสียชีวิต จากก๊าซไข่เน่า” นายประเสริฐ ระบุ

นายประเสริฐ ตั้งข้อสังเกตถึงระบบการจัดพื้นที่และการรักษาความปลอดภัยของโรงงานบริษัทดังกล่าวว่า บ่อบำบัดไม่มีราวกั้นกันตก, ฝาบ่อไม่มีกุญแจล็อก, ขนาดบ่อเล็กเกินกว่าผู้ที่สวมชุดกู้ชีพช่วยเหลือจะลงไปได้ หากเกิดอุบัติเหตุและอาจขาดอุปกรณ์ช่วยชีวิตตามมาตรฐาน เช่น อุปกรณ์หน้ากากกันพิษแบบเฉพาะ, เครื่องวัดก๊าซ, สื่อสารกับบุคลลภายนอก รวมทั้งละเมิดกฎเหล็กของมาตรฐานความปลอดภัย คือ การปล่อยให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่หวงห้าม แม้เป็นพนักงานบริษัท แต่อาจขาดความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง