สัมภาษณ์พิเศษ "วิรไท สันติประภพ" : จาก "โดนัลด์ ทรัมพ์" ถึง "หนี้ของคนรุ่นใหม่" อยู่อย่างไรในยุคเศรษฐกิจผันผวน

เศรษฐกิจ
1 ก.ค. 60
10:00
2,090
Logo Thai PBS
สัมภาษณ์พิเศษ "วิรไท สันติประภพ" : จาก "โดนัลด์ ทรัมพ์" ถึง "หนี้ของคนรุ่นใหม่" อยู่อย่างไรในยุคเศรษฐกิจผันผวน
ตุลาคม 2560 นี้ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนที่ 23 จะทำงานในตำแหน่งนี้ครบ 2 ปีเต็ม "ไทยพีบีเอส" สนทนากับ ดร.วิรไท ครบทุกเรื่อง ว่าด้วยเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ไปจนถึงเรื่อง work-life balance

ปี 2558 ข่าวใหญ่ในแวดวงการเงินการธนาคาร คือ การก้าวขึ้นมาเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยของ ดร.วิรไท สันติประภพ นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มวัย 45 ปี นับว่าเป็นผู้ว่าการ ธปท.ที่อายุน้อยที่สุดในรอบ 20 ปี

สิ่งที่ทำให้ ดร.วิรไท อยู่ในความสนใจของสังคมนอกจากจะเป็นเพราะขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญขณะที่อายุยังน้อยแล้ว ยังเป็นเพราะประวัติการศึกษาและการทำงานที่ไม่ธรรมดา—หลังจากจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดสหรัฐอเมริกา ดร.วิรไทเข้าทำงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. 

เมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ดร.วิรไทกลับมาเป็นผู้บริหารสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง มีบทบาทในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงิน จากนั้นก็รับตำแหน่งสำคัญๆ ในแวดวงการเงินการธนาคารมาตลอด รวมทั้งได้รับเลือกจากนิตยสาร The Asian Banker ให้เป็นหนึ่งใน 50 ของนักการเงินการธนาคารรุ่นใหม่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปี 2551 ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติเมื่อเดือนตุลาคม 2558
นอกจากความเก่งกาจด้านเศรษฐศาสตร์แล้ว ดร.วิรไทยังมีวิธีคิดและการใช้ชีวิตที่น่าสนใจ เขาปฏิบัติสมาธิภาวนาเป็นประจำ ชอบเดินทางท่องเที่ยว และทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้ ทำให้ ดร.วิรไทเป็นคนหนุ่มที่น่าจับตาที่สุดคนหนึ่งของไทยเลยก็ว่าได้

"ณัฏฐา โกมลวาทิน" สัมภาษณ์พิเศษ ดร.วิรไท ในรายการ "มีนัดกับณัฏฐา" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสวันที่ 30 มิ.ย.2560 เนื้อหาที่น่าสนใจมีดังนี้ 

  • ช่วงนี้เศรษฐกิจโลกร้อนแรงขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่นางอังเกลา แมร์เคิล นายกฯ เยอรมนี พบกับโดนัลด์ ทรัมพ์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แล้วไม่ชื่นมื่น ซึ่งนายกฯ เยอรมนีระบุจากนี้ความสัมพันธ์สองประเทศอาจจืดจาง คาดว่าจะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจโลก


วันนี้โครงสร้างเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น แต่ขณะเดียวกันความเสี่ยงต่างๆ ก็กลับเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเด็นที่ถามก็เป็นความเสี่ยงที่อาจมาจากการเปลี่ยนแนวนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ทั้งนโยบายเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบไปสู่ภูมิรัฐศาสตร์ของโลก เช่นเดียวกับปัญหาการเมืองในยุโรป กระบวนการ Brexit ของอังกฤษ รวมถึงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่แม้จะทำให้เบาใจ แต่ก็ไม่สามารถวางใจได้เพราะยังมีปัจจัยใหม่ในเรื่องการต่อต้านโลกาภิวัฒน์และการรวมกันของยุโรป แต่ภาพรวมจะเห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้น สะท้อนได้จากการที่ IMF ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีเมื่อเดือนเมษายน 2560

  • ธปท.เตรียมรับมือกับความเสี่ยงและความผันผวนเหล่านี้อย่างไร

ธปท.มีหน้าที่สำคัญคือการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหัวใจของการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง แต่ไม่ได้มีหน้าที่ไปปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ หรือแก้ปัญหาหลายๆ เรื่อง หากจะอธิบายหน้าที่รักษาเสถียรภาพก็เปรียบเสมือนกับการสร้างระบบกันชนที่ดีให้กับเรือ เพื่อให้คนที่อยู่ในเรือไม่ซวนเซเมื่อต้องเจอกับแรงปะทะ และต้องดูระบบบริหารจัดการสภาพคล่องในเรือให้เหมาะสมไม่ให้มีน้ำมันรั่ว ในภาวะที่โลกผันผวนสูงขึ้น การทำหน้าที่ของเราก็ยากขึ้น เราจะทำหน้าที่ได้สำเร็จก็ต่อเมื่อคนไทยรู้สึกว่าเราไม่มีปัญหา สามารถสร้างกันชนและช่วยประคับประคองให้เรือของเศรษฐกิจไทยเดินไปข้างหน้าได้ในทิศทางที่เราต้องการ ด้วยความเร็วที่ต้องการ ซึ่งวันนี้ระบบกันชนของเราถือว่าค่อนข้างดีมาก

 

 

  • ผู้ว่าการ ธปท.ก็เปรียบเหมือนกัปตันเรือ ในแต่ละวันต้องดูอะไรบ้างเพื่อให้แน่ใจว่าเรือแล่นไปได้ตามความเร็วที่ต้องการ

ต้องดูหลายเรื่อง แต่ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ว่าการ ธปท.คนเดียวและก็ไม่ใช่เฉพาะภายใน ธปท.แต่ต้องทำงานร่วมกับเครือข่ายธนาคารกลางในต่างประเทศ วงการอุตสาหกรรมตลาดเงินตลาดทุนและหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล ซึ่งมีหลายเรื่องที่เราต้องดูทั้งเรื่องระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นก็เหมือนการเช็คสภาวะอากาศและประเมินผลกระทบ ส่วนระยะยาวก็ต้องมองหาจุดเปราะบาง เช็คสถานะของระบบต่างๆ ที่สำคัญของเรือตลอดเวลา เราต้องทำ Stress Test เพื่อทดสอบว่าระบบของเราเข้มแข็งพอหรือไม่หากสถานการณ์เปลี่ยนไป

  • ดร.วิรไทเคยเปรียบเปรยว่าเศรษฐกิจไทยเหมือนวัยกลางคน ความฟิตอาจไม่เหมือนคนวัยหนุ่มสาว ต้องพยายามเร่งเครื่องเพื่อตอบรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลคิดว่าจะเร่งเครื่องไหวหรือไม่

อยากเรียกว่า "ยกเครื่อง" มากกว่า แต่ไม่ใช่เพื่อตอบสนองนโยบาย 4.0 ของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว เพราะโลกกำลังเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีจะมีความสำคัญมากขึ้น ดังนั้นเราต้องเตรียมพร้อมรับมือใน 3 เรื่องสำคัญคือ (1) ผลิตภาพ หรือ Productivity เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน อุตสาหกรรมและธุรกิจทุกประเภทจะต้องคิดถึงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งเทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มผลิตภาพได้ดีถ้าเราใช้เป็นและใช้อย่างเข้าใจ (2) การสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมและระบบเศรษฐกิจไทย เพราะเราจะอยู่ในโลกที่เรียกว่า VUCA คือ V-volatile ความผันผวน, U-uncertain ความไม่แน่นอน, C-complex ความซับซ้อน และ A-ambiguous คาดเดาได้ยาก เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้มากขึ้นในทุกมิติ และ (3) การกระจายผลประโยชน์ของการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ทั่วถึง หรือการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ

ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ในประเทศไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น นานขึ้นและมากขึ้น และยังเป็นหนี้เสียในสัดส่วนที่มากขึ้นด้วย
  • วงการธนาคารและการเงินกำลังเจอโจทย์ใหม่จากเทคโนโลยี เช่น ฟินเทค บิทคอยประเมินการอยู่รอดของวงการธนาคารอย่างไร

เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ฟินเทคหรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทำให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับทุกคนและไม่ได้เป็นลักษณะที่มีผู้ชนะหรือผู้แพ้ แต่เป็นเรื่องที่จะทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน เช่น ธุรกรรมการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่าง “พร้อมเพย์” ที่อาจมีคนมองว่าธนาคารพาณิชย์จะเสียประโยชน์จากเรื่องค่าธรรมเนียมการโอน แต่ระบบพร้อมเพย์เป็นระบบที่มีต้นทุนการโอนเงินถูกที่สุดในโลก หากคนใช้เยอะจะทำให้ต้นทุนการบริหารเงินสดของทุกคนลดลง รวมถึงลดการรั่วไหลในการจ่ายเงินสวัสดิการของภาครัฐ ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็ได้ประโยชน์จากพัฒนาการเหล่านี้

 

 

  • ผู้ว่าการ ธปท.ต้องดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบวันต่อวัน พร้อมๆกับดูนโยบายระยะยาว ทุกวันนี้ยังมีเวลานั่งสมาธิเหมือนเดิมหรือไม่

ไม่มากเท่าเดิมเพราะไม่สามารถหาเวลาส่วนตัวไปปฏิบัติภาวนาได้ยาวๆ เหมือนเมื่อก่อน ต้องจัดสรรเวลาทุกวันเพราะเราอยู่ในโลกที่มีความไม่แน่นอนและมีความคาดหวังที่เยอะมากจากบุคคลหลายกลุ่มในสังคม ซึ่งก็ทำให้เห็นความสำคัญของเรื่องสมาธิ สติ เพื่อทำให้เรามีประสิทธิภาพในกระบวนการตัดสินใจที่ดี

ผมก็เคยมีความรู้สึกว่าทำไมเราต้องเสียเวลาไป 30-40 นาทีสำหรับการนั่งสมาธิ แต่ถ้าใครที่ได้มีโอกาสได้ปฏิบัติ จะเห็นความสำคัญของการฝึกสมาธิและจะไม่รู้สึกเลยว่าเป็นการเสียเวลา ถ้าไม่ได้ทำเสียอีกจะทำให้ประสิทธภาพของเราในการทำงานลดต่ำลงในวันนั้น เพราะฉะนั้นการที่เรานั่งสมาธิสัก 30-40 นาทีจะทำให้ผลิตภาพหรือประสิทธิภาพการทำงานของเราดี เหมือนกับเหตุผลว่าทำไมเราต้องออกกำลังกาย คนอาจจะแค่ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย แต่อย่าลืมสิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิตมี 2 เรื่อง คือ กาย กับ ใจ การออกกำลังใจจะมีความสำคัญมากกว่าการออกกำลังกายด้วยซ้ำไป เพราะระบบต่างๆ ของร่างกายนั้น จิตใจมีอิทธิพลมาก แต่เราอาจจะให้ความสำคัญกับเฉพาะการออกกำลังกาย ถ้าเข้าใจว่าชีวิตก็คือกายกับใจ และเข้าใจว่าชีวิตคือความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างกายกับใจ ก็จะเห็นประโยชน์ของการออกกำลังใจ ซึ่งการปฏิบัติภาวนาวิธีออกกำลังใจที่สำคัญมาก และได้ประโยชน์มาก

ไม่ว่าเราจะมีหน้าที่และบทบาทอะไรก็ตาม เราจะทำหน้าที่นั้นได้ก็ต่อเมื่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของเราดี ซึ่ง ธปท.มีชมรมปฏิบัติธรรมและมีนักปฏิบัติธรรมเยอะมาก ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญขององค์กรที่ทำงานด้านนโยบายแบบ ธปท. เพราะหลายเรื่องที่ทำเป็นเรื่องที่ต้องอยู่ท่ามกลางผลประโยชน์ของคนรอบข้าง จึงคิดว่าเรื่องความสุขจากข้างในและความมั่นคงด้านจิตใจเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราทำหน้าที่ได้อย่างมั่นคงและหนักแน่น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมของสังคมในระยะยาวเป็นที่ตั้ง

 

 

  • การตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบกับคนจำนวนมาก ใช้อะไรเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินว่าจะเดินหน้าเรื่องนั้นอย่างไร

คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศโดยรวม ผลประโยชน์ของสังคมไทยโดยรวมและระยะเวลา เรามีหน้าที่รักษาเสถียรภาพก็ต้องมองไกลถึงผลที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะยาว เรื่องสำคัญที่สุดที่เราต้องถามตัวเองตลอดก็คือ สิ่งที่เราทำหรือสิ่งที่เราตัดสินใจเป็นผลดีหรือผลเสียอย่างไรต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยโดยรวม
มีคำแนะนำสำหรับคนรุ่นใหม่ในเรื่องการพัฒนาตัวเอง หรือวิธีคิดอย่างไรบ้าง
โลกจะซับซ้อนและมีความวุ่นวายต่างๆ มากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงที่เราคาดได้และคาดเดาไม่ได้มากขึ้น ผมคิดว่าเรื่องที่สำคัญมากคือความมั่นคงด้านจิตใจ อยากชวนคนรุ่นใหม่ให้หันมาเห็นความสำคัญของการพัฒนาจิตใจ เพราะเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญ รวมถึงทักษะเรื่องเทคโนโลยีและทักษะเรื่องการสื่อสาร และอีกหนึ่งทักษะชีวิตที่สำคัญที่อยากจะฝากถึงคนรุ่นใหม่คือเรื่องการบริหารจัดการเงินของตัวเอง ต้องวางแผนบริหารจัดการเงินได้อย่างเท่าทัน คิดถึงเรื่องการออม ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ในประเทศไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น นานขึ้นและมากขึ้น และยังเป็นหนี้เสียในสัดส่วนที่มากขึ้นด้วย

  • เกือบ 2 ปีที่เข้ามาทำงานในตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ให้คะแนนการทำงานของตัวเองอย่างไรและมีอะไรที่อยากทำต่อไป

คิดว่าคนอื่นควรเป็นผู้ให้คะแนนผมมากกว่า ส่วนเรื่องการทำงานต่อจากนี้มีหลายเรื่องที่ต้องทำทั้งปัญหาเดิมที่สะสมอยู่ ขณะเดียวกันต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะกระทบภาคการเงินและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยโดยรวม การยกระดับเรื่องกรอบกฎหมาย เพราะกฎหมายบางตัวไม่เท่าทันโลกยุคใหม่ และปัญหาสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือวิธีการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า “ขายพ่วง” ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงการยกเครื่องกฎเกณฑ์การกำกับดูแล เชื่อว่าต่อจากนี้จะเห็นการปฏิรูปกฎเกณฑ์ต่างๆมากขึ้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ธปท.

 

ชมย้อนหลังรายการมีนัดกับณัฏฐา ตอน "นัดนี้กับผู้ว่าแบงก์ชาติ ดร.วิรไท สันติประภพ" ออกอากาศวันที่ 30 มิ.ย.2560

ข่าวที่เกี่ยวข้อง