โฆษก สปสช. ชี้แจง สิทธิประโยชน์ผู้ป่วยไตวายยังเหมือนเดิม

สังคม
4 ก.ค. 60
16:45
505
Logo Thai PBS
โฆษก สปสช. ชี้แจง สิทธิประโยชน์ผู้ป่วยไตวายยังเหมือนเดิม
สปสช.แจงสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยไตวายยังเหมือนเดิม ยึดตามเจตนารมณ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

วันนี้ (3 ก.ค.2560) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีที่ชมรมเพื่อนโรคไต ยื่นหนังสือถึง รมว.สาธารณสุข ไม่เห็นด้วยข้อเสนอ สตง.ที่ให้ สปสช.ทบทวนให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังร่วมจ่ายว่า สิทธิประโยชน์ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ยึดหลักการให้ประโยชน์ต่อผู้ป่วยเป็นสำคัญ เป็นหลักประกันเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยถูกปฏิเสธการรักษา โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กำหนดแนวทางนโยบายล้างไตช่องท้องเป็นทางเลือกแรก กรณีมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าไม่สามารถล้างไตทางช่องท้องได้ สามารถฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันยังใช้หลักเกณฑ์นี้อยู่ ไม่มีการตัดสิทธิการรักษาของผู้ป่วยแต่อย่างใด

“บอร์ด สปสช.ยังไม่ได้ปรับหลักเกณฑ์ตามข้อเสนอของ สตง.แต่อย่างใด และหากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทุกอย่างจะอยู่บนพื้นฐานเจตนารมณ์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยต้องล้มละลายจากการต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ไม่ให้ผู้ป่วยต้องถูกปฏิเสธการรักษา เนื่องด้วยปัญหาค่าใช้จ่าย และไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วย” โฆษก สปสช. กล่าว

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ขณะเดียวกัน สิทธิประโยชน์การให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังใช้หลักเกณฑ์เดิมเมื่อปี 2559 ซึ่งมีทั้งกรณีที่ต้องร่วมจ่ายและกรณีที่ไม่ต้องร่วมจ่าย โดยสรุปคือ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการฟอกเลือดมาก่อนวันที่ 1 ต.ค.51 ซึ่งเป็นวันที่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเริ่มให้สิทธิประโยชน์โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ไม่ต้องร่วมจ่าย รวมถึงผู้ป่วยรายใหม่ที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าไม่สามารถบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางช่องท้องได้ ก็ไม่ต้องร่วมจ่ายเช่นกัน

แต่สำหรับผู้ป่วยหลังวันที่ 1 ต.ค.51 หรือผู้ป่วยรายใหม่ ที่ไม่สมัครใจเลือกรับบริการทดแทนไตผ่านทางช่องท้อง และไม่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบคณะกรรมการเพื่อให้ใช้วิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ในกรณีนี้ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

ทั้งนี้ ในปี 2550 ที่มีการนำเสนอสิทธิประโยชน์ไตวายเรื้อรังเข้าสู่ ครม.ได้มีการประมาณการณ์งบประมาณดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ในปี 2560 ถึง 18,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันใช้อยู่ที่ 8,000 ล้านบาท สะท้อนว่าได้บริหารจัดการระบบและควบคุมงบประมาณได้ดี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง