ข่าวดี "เสือโคร่ง"2 ตัวลูกกำพร้ารอดชีวิต-พบครั้งแรกในป่าสลักพระ

สิ่งแวดล้อม
29 ก.ค. 60
10:32
1,990
Logo Thai PBS
ข่าวดี "เสือโคร่ง"2 ตัวลูกกำพร้ารอดชีวิต-พบครั้งแรกในป่าสลักพระ
เจอลูกเสือโคร่ง 2 ตัวที่แม่ถูกยิงตายปรากฎตัวในป่าแม่วงก์ขณะที่กรมอุทยาน ตั้งเป้า“ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่"บ้านแห่งความหวังที่ 2 ของเสือโคร่งในป่าไทย เร่งเพิ่มประชากรให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2565 เริ่มพบเสือโคร่งในป่าสลักพระครั้งแรก คาดมาจากป่าห้วยขาแข้ง

วันนี้ (29 ก.ค.2560) นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า เนื่องในวันเสือโคร่งโลก วันที่ 29 ก.ค.ของทุกปี เพื่อรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนร่วมกันอนุรักษ์เสือโคร่ง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้

โดยปีนี้จะลงนามความร่วมมือระหว่างกรมอุทยาแห่งชาติ กับ มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ บริเวณอุทยานแห่งชาติทับลาน เนื่องจากเสือโคร่งเป็นผู้บริโภคที่อยู่ระดับบนสุดของปิรามิดและห่วงโซ่อาหาร ที่สำคัญมีผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศป่าเขตร้อน ทำให้เสือโคร่งเป็นตัวแทนในการบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้

ทั้งนี้ จากการศึกษาประชากรเสือโคร่งในประเทศไทยต่อเนื่อง พบว่า ปัจจุบันไทยมีเสือโคร่งอยู่ประมาณ 200 ตัว โดยมีประชากรหนาแน่นมากที่สุด ตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี บริเวณผืนป่าตะวันตกของประเทศ โดยเฉพาะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี พื้นที่ของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

 

 

ข่าวดี เจอลูกเสือกำพร้าแม่ถูกยิงรอดตาย

และข่าวดีพบว่าเสือโคร่งจากป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี มีการสร้างพื้นที่หากินใหม่ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ โดยเป็นลูกของแม่เสือโคร่งรหัส HKT212 ที่ถูกขบวนการล่าสัตว์ป่าฆ่าตายใกล้สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ แต่ลูกเสือทั้ง 2 ตัวกลับใช้ชีวิตรอดในธรรมชาติได้ ซึ่งมีการยืนยันจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าพบเป็นตัวเต็มวัย ที่เราคิดว่าจะตาย

นอกจากนี้ยังมีรายงานพบกระจายอยู่บางพื้นที่ของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยเฉพาะเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งมีรายงานจากกลุ่มองค์กรอนุรักษ์ว่ามีเสือโคร่งอาศัยอยู่อย่างมากกว่า 10 ตัว

 

 

พบเสือครั้งแรกที่ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี

ด้านนายศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ บอกว่า นอกจากนี้ยังมีข่าวดีว่าป่าตะวันตกบางแห่ง ที่ไม่เคยมีรายงานเสือโคร่งในป่าธรรมชาติ อยู่เลยก็พบประชากรเสือโคร่ง เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี พบว่าเสือโคร่งจากป่าห้วยขาแข้งกระจายเข้ามาอาศัยสร้างพื้นที่หากิน นอกจากนี้ยังมีที่เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนเขาแหลม

" ที่เป็นข่าวดีที่สุดคือเราพบลูกเสือโคร่ง 2 ตัวจากแม่เสือที่ถูกฆ่าตายในป่าห้วยขาแข้ง โดยเป็นเสือวัยรุ่น เป็นเสือตัวเมีย 1ตัว และตัวผู้ 1 ตัว เดินทางไปยังพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งการที่มันสามารถปรับตัวรอดได้ ถือว่าเป็นความมหัศจรรย์มากที่ลูกเสืออายุ 1 ปีเศษ จะอยูรอดได้เพราะปกติเสือโคร่งต้องโต 2 ปีถึงจะเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้ นอกจากนี้ยังมีเสือตัวผู้อีก 1 ตัวที่เดินทางกระจายไปอยู่ในป่าแม่วงก์ ทั้งนีเสือทั้ง 3 ตัวเริ่มหาพื้นที่หากินได้แล้ว ส่วนหนึ่งน่ามาจากการดูแลของเจ้าหน้าลาดตระเวนพื้นที่อย่างเข้มข้น ของและอีกปัจจัยจะมาจากเปลี่ยนแปลงของเสือโคร่งเองด้วย"นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว

ตั้งเป้าเพิ่มเสือโคร่งร้อยละ 50 ผืนป่าดงพญาเย็น

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ บอกว่า ประเทศไทย จะเดินหน้าตามแผนปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์เบิร์กเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง ที่จะใช้เป็นแนวทางปฏิบัติอนุรักษ์เสือโคร่งของโลกจนถึงปี 2565 ที่เกิดจากการประชุมสุดยอดผู้นำด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ณ นครเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย เมื่อปี 2553 ขณะเดียวกันไทยเดินหน้าแผนฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งแห่งชาติ ด้วยการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งในพื้นที่เป้าหมายให้เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 50 ภายในปี 2565 โดยพื้นที่เป้าหมายคือป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่จะเป็นบ้านแห่งความหวังของเสือโคร่งในป่าธรรมชาติ

ขณะนี้มีเพียง 13 ประเทศที่ยังมีประชากรเสือโคร่ง คือ บังกลาเทศ, ภูฏาน, กัมพูชา  จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า เนปาล รัสเซีย เวียดนาม และไทย คาดว่าประชากรเสือโคร่งทั่วโลกจำนวน 3,500 ตัว

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง