กรมสุขภาพจิตแนะผู้ประสบภัยยึดหลัก "มีสติ ยิ้มสู้ ยึดหลัก" รับมือน้ำท่วม

สังคม
29 ก.ค. 60
15:28
427
Logo Thai PBS
กรมสุขภาพจิตแนะผู้ประสบภัยยึดหลัก "มีสติ ยิ้มสู้ ยึดหลัก" รับมือน้ำท่วม
กรมสุขภาพจิต ส่งทีมดูแลจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม ย้ำ มีสติ ยิ้มสู้ ยึดหลัก 3ส. ดูแลใจกันและกัน

วันนี้ (29 ก.ค.2560) นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในเวลานี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจผู้ประสบภัย กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมสุขภาพจิตดูแลเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยร่วมกับทีมแพทย์ฝ่ายกายอย่างทันท่วงที

กรมสุขภาพจิตได้จัดทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต หรือ ทีม MCATT จาก รพ.จิตเวช และศูนย์สุขภาพจิต ทำงานร่วมกับทีม MCATT ในพื้นที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อประเมินผลกระทบ

รวมทั้งดูแลช่วยเหลือและฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัย ในกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติการรักษาโรคทางจิตเวช ใช้สารเสพติด ผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก และทรัพย์สินอย่างมาก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และเด็ก กลุ่มผู้ที่ต้องการบริการด้านสุขภาพจิต ตลอดจนช่วยเหลือเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้สูญหายทุกราย

ทั้งนี้ ในการดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย จะมีหลักสำคัญ 5 ข้อ ได้แก่ 1. การทําให้ประชาชน รู้สึกปลอดภัย ตั้งแต่ การให้ข้อมูลข่าวสารอย่างเหมาะสม การให้ที่พักพิง รวมถึง การเข้าถึงความต้องการพื้นฐานต่างๆ 2.การทําให้รู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ได้แก่ การรับฟัง อย่างเข้าใจ การให้ข้อมูล การให้คําปรึกษาเบื้องต้น ตลอดจนการคลายเครียดต่างๆ 3. การช่วยเหลือ จัดการ ให้มีการติดต่อสื่อสารกันอย่างสมํ่าเสมอ โดยเฉพาะ ครอบครัว และการช่วยเหลือต่างๆ 4. การสร้างความหวังที่เป็นไปได้ เช่น การประสานงานให้ได้รับการช่วยเหลือต่างๆจากภาครัฐและอื่นๆ การให้ข้อมูล การช่วยเหลือ การติดตามคนที่สูญหาย การจัดหางาน การฝึกอาชีพ รวมถึงการช่วยเหลือในการกลับไปสู่ภาวะปกติ และ 5. การส่งเสริม กระตุ้น บุคคล หรือชุมชน ในการใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหา ฟื้นฟู และช่วยเหลือกันและกัน

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า สำหรับปฏิกิริยาทางด้านจิตใจของผู้ประสบภัย จะมีการแสดงออกที่แตกต่างกันไป ตามระยะของการเกิดภัย ซึ่งในระยะนี้ อยู่ในช่วงระยะวิกฤติและฉุกเฉิน ขอให้พึงระลึกเสมอว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะเกิดอาการต่างๆ เหล่านี้ได้ ด้านอารมณ์ เช่น ช็อค โกรธ สิ้นหวัง หวาดกลัว เศร้าโศก เสียใจ หงุดหงิด ด้านความคิด เช่น ไม่มีสมาธิ ความจำไม่ดี สับสน ตำหนิตัวเอง วิตกกังวล ด้านร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ท้ายทอย ใจสั่น นอนไม่หลับ ตื่นเต้น ตกใจง่าย และ ด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น แยกตัว ขัดแย้งกับคนใกล้ชิด เป็นต้น เหล่านี้ ถือเป็นการตอบสนองตามปกติที่เกิดขึ้นและจะค่อยๆ ลดลงจนหายไปเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งแต่ละคนจะมีระดับความเครียดแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับต้นทุนชีวิตเดิมหรือบุคลิกภาพเดิมเป็นอย่างไร และเป็นคนที่สามารถปรับตัวได้มากน้อยเพียงใด

หากเดิมเป็นคนไม่ค่อยเครียดและปรับตัวได้ง่ายก็มักจะไม่เกิดภาวะเครียดรุนแรง รวมทั้ง สภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น และการเตรียมตัวในการป้องกัน ที่หากมีการเตรียมตัวป้องกันดี เกิดความเสียหายน้อย ความเครียดก็จะน้อยตามไปด้วย การดูแลในระยะนี้ จึงเน้นไปที่การจัดบริการภายใต้ภาวะวิกฤติฉุกเฉิน โดยจัดบริการปฐมพยาบาลด้านจิตใจ ตรวจคัดกรองประเมินปัญหาสุขภาพจิต ให้การปรึกษาเพื่อลดภาวะความเครียด การฝึกผ่อนคลายความเครียดด้วยตนเอง เช่น การนวดคลายเครียด การฝึกลมหายใจ ให้กำลังใจ สร้างแรงใจให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้

หากพบผู้ประสบภัยมีความเครียดสูง มีภาวะซึมเศร้า เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย สังเกตได้จากเดิมเคยเป็นคนร่าเริง เปลี่ยนเป็นซึมเศร้า บ่นท้อแท้ หดหู่ใจ หรือบ่นถึงความตายบ่อยๆ จะรีบเข้าไปช่วยเหลือ พูดคุย ให้กำลังใจ ช่วยลดความเครียดลง สำหรับรายที่มีอาการนอนไม่หลับอย่างรุนแรง ท้อแท้ หรือเครียดมากๆ จนถึงขั้นกระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ อาจต้องให้ยาคลายความเศร้า หรือยาคลายความเครียดที่จะทำให้การนอนหลับดีขึ้นร่วมด้วย โดยจะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องต่อไปเป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงในระยะยาว และเกิดโรคทางจิตเวช เช่น โรคภาวะเครียดหลังเหตุการณ์รุนแรง (PTSD)

ทั้งนี้ ทุกคนสามารถช่วยดูแลจิตใจกันได้ ด้วยหลัก 3ส. “สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง” สอดส่องมองหา โดยการสังเกตพฤติกรรมของคนรอบข้างและคนใกล้ชิด เช่น เหม่อลอย ปลีกตัวจากผู้อื่น ไม่สดใสร่าเริงเหมือนเมื่อก่อน จากนั้น ใส่ใจรับฟัง ให้เขาระบายความในใจออกมา อาจสื่อสารด้วยภาษากาย การสัมผัส โอบกอบ หากพฤติกรรมยังไม่ดีขึ้น ก็ควร ส่งต่อเชื่อมโยง ไปยังผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ และรับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธี

ข้อแนะนำเพื่อจัดการความเครียด กรณีที่หลายคนอาจเตรียมพร้อมรับมือได้ เนื่องจากมีประสบการณ์มาก่อนแล้ว ขอแนะนำให้จัดการปัญหาร่วมกัน หากิจกรรมทำตามปกติ พูดคุยกับคนใกล้ชิดหรือเพื่อน เคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่ทำได้ ในพื้นที่จำกัด เช่น การยืดเหยียด ก้มๆ เงยๆ รวมทั้งปรับเปลี่ยนตัวเองจากผู้รับความช่วยเหลือเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ เอาใจใส่ช่วยเหลือกันและกันในชุมชน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการลดความเครียด และช่วยให้เผชิญภาวะวิกฤตได้ดีขึ้น และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เช่น หากอยู่ในศูนย์อพยพก็ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้อื่น บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์

ที่สำคัญอย่าใช้สุรายาเสพติดมาเป็นทางออกของการจัดการความเครียด กรณีเครียดจากการได้เห็นสภาพความเสียหาย ทำให้เกิดความเครียดสูง จึงควรตั้งสติ คิดวางแผนแก้ไขปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน เรียงลำดับก่อนและหลัง เริ่มจากง่ายไปหายาก อย่าหมดกำลังใจ มีสติ ยิ้มสู้กับปัญหา

ส่วนกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ขอให้เตรียมความพร้อมร่วมกันในครอบครัว ติดตามประกาศเตือนภัย กำหนดหน้าที่ของคนในครอบครัว และวางแผนการขนย้ายสิ่งของจากบ้านเรือนไว้ให้พร้อม ตั้งสติ อย่าตกใจ คิดถึงความปลอดภัยของชีวิตและคนในครอบครัวไว้ก่อน และทำตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจะช่วยลดความสับสน ตื่นตระหนกลงได้ ยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้น และหาทางแก้ไขปัญหาทีละขั้นตอนตามความจำเป็น

รวมทั้งมีการผ่อนคลายความเครียด รับประทานอาหารและพักผ่อนให้เพียงพอ พูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน เพื่อปรับทุกข์ จะช่วยระบายความเครียดได้ หากไม่ดีขึ้น เช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ใจสั่น ควรปรึกษาหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรือสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้หรือโทร.สายด่วน 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ การติดตามข่าวสารในแต่ละวัน ตลอดจนข่าวลือต่างๆ อาจทำให้เกิดความกลัวและตื่นตระหนก ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลสูงได้ จึงขอแนะนำให้ ลดการสื่อสารหลายช่องทางลงบ้าง ให้ติดตามสถานการณ์และสอบถามข้อมูลจากแหล่งข่าวสำคัญของท้องถิ่นหรือของทางราชการแทน อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง