"นายกรัฐมนตรี" สั่งรับมือพายุลูกใหม่จ่อไทย 12-14 ต.ค.นี้

ภัยพิบัติ
10 ต.ค. 60
18:09
22,335
Logo Thai PBS
"นายกรัฐมนตรี" สั่งรับมือพายุลูกใหม่จ่อไทย 12-14 ต.ค.นี้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ กำชับรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังยังวิกฤต กรมอุตุนิยมวิทยา เตือนพายุก่อตัวช่วง 12-14 ต.ค.นี้อาจทำให้ฝนตกหนักเพิ่ม หลังปริมาณฝนมากกว่าคาดการณ์ร้อยละ 37 ส่งผลเขื่อนภาคเหนือ อีสาน น้ำเต็ม

วันนี้ (10 ต.ค.2560) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับว่าในช่วงเดือน ต.ค.ซึ่งเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว และกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่าปริมาณน้ำฝนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึงร้อยละ 37 ส่งผลให้เขื่อนในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคเหนือตอนล่าง รวมถึงภาคกลาง มีปริมาณน้ำที่เพียงพอแล้ว และขณะนี้ยังมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่

อีกทั้งวันที่ 12-14 ต.ค.นี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่ามีกลุ่มพายุฝนที่ก่อตัวในประเทศเวียดนามมีแนวโน้มที่จะมีเส้นทางผ่านเข้าทางประเทศไทยตอนบน จะส่งผลให้พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคอีสานตอนบน มีความน่าเป็นห่วง ขณะนี้กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำในเขื่อนที่มีปริมาณน้ำมาก เพื่อรองรับปริมาณน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่นอกคันกั้นน้ำในจ.พระนครศรีอยุธยา จะมีระดับสูงขึ้น 1.5 เมตร ทั้งนี้ในพื้นที่คันกั้นน้ำจะไม่ได้รับผลกระทบ

 

 

การอธิบายเส้นทางน้ำนี้ ไม่ได้เป็นห่วงเฉพาะคนกรุงเทพ หรือเขตนิคมเศรษฐกิจมากกว่าประชาชนโดยรวม เพียงชี้แจงข้อเท็จจริงที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อจะได้เตรียมพร้อมรับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง ย้ำสามารถรับมือสถานการณ์น้ำได้ ยืนยันว่าเขื่อนที่อยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าและของหน่วยงานรัฐมีความปลอดภัย 100 เปอร์เซ็น แต่นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ดูแลเขื่อนในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ตรวจสอบให้มีความรัดกุมรอบคอบ

ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำขณะนี้เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำสะสมร้อยละ 79 ยังสามารถรับน้ำได้อีกร้อยละ 20 แต่เนื่องจากขณะนี้มีความเสี่ยงที่ประเทศจะต้องเจอกับพายุฝน จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำในจุดที่สำคัญแล้ว 

 

 

สำหรับพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร มีจุดเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ 3 จุด คือ จ.นครสวรรค์ เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ตอนนี้ระบายน้ำได้ 2,250ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือว่าต่ำกว่าจุดวิกฤตที่ 2,850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และอ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่รู้ว่าจะส่งผลกระทบถึงพื้นที่กรุงเทพมหานครหรือไม่ ขณะนี้ระบายน้ำได้  2,260 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือว่าต่ำกว่าจุดวิกฤตที่ 3,500 ลูกบาศก์เมตร 

ส่วนการผันน้ำเข้าทุ่ง 12 แห่งดำเนินการผันน้ำเข้าไปแล้วร้อยละ 70 ยังเหลือพื้นที่รองรับน้ำได้อีกร้อยละ 30 หากปริมาณฝนไม่มากจนเกินไป จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ตามเป้าที่วางไว้ได้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง