วิเคราะห์ปัจจัยน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยา-ฝนหนักเกือบเท่าปี 2554

ภัยพิบัติ
25 ต.ค. 60
19:18
1,031
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ปัจจัยน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยา-ฝนหนักเกือบเท่าปี 2554
วิเคราะห์ปัจจัยน้ำท่วมเข้าจุดวิกฤต พบฝนตกหนักสะสมเกือบเท่าปี 2554 ส่งผลน้ำเหนือทะลักลงลุ่มเจ้าพระยา แก้มลิงเต็มพื้นที่รองรับ คาดการณ์น้ำหนุนสูงจนถึงวันที่ 27 ต.ค.นี้

วันนี้ (25 ต.ค.2560) ทีมข่าวไทยพีบีเอส หาคำตอบถึงสาเหตุที่ทำให้กรุงเทพมหานครมีฝนตกหนักเมื่อคืนนี้ (24 ต.ค.) เกิดจากความกดอากาศสูง หรือ มวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานคร เมื่อมาเจอกับอากาศร้อนชื้น จึงทำให้เกิดเมฆฝนฟ้าคะนองที่มีทั้งฝนตกหนัก ลมกระ โชกแรงได้ คาดว่ากรุงเทพมหานคร ยังมีโอกาสมีฝนในเกณฑ์ปานกลางถึงหนักในบางพื้นที่ แต่ฝนน้อยลงเมื่อเทียบกับเมื่อวานนี้ ส่วนภาคเหนือ และภาคตะวันออก ก็จะมีฝนลดลงเช่นกัน

แต่ถ้ามาดูปริมาณฝนสะสมในประเทศไทยจนถึงขณะนี้ พบว่าปีนี้ฝนตกมาก เพราะล่าสุดปริมาณน้ำฝนสะสมของปีนี้ เกือบจะเท่ากับปี 2554 แล้ว โดยน้อยกว่าเพียงแค่ร้อยละ 1 เท่านั้น

 



ขณะที่อิทธิพลด้านภูมิอากาศ แต่รูปแบบของฝนปีนี้ที่ทยอยมาเป็นระลอกทำให้กรมชลประทานมีเวลาระบายน้ำมากกว่าปี 2554 ที่เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องยาวนานกว่า ทำให้น้ำเหนือที่หลากมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยาที่นครสวรรค์ ค่อยๆทยอยเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนก.ค.ที่ผ่านมา

เขื่อนเจ้าพระยาก็ต้องระบายน้ำลงมาตอนล่างเพิ่มขึ้นตาม ทั้งหย่อมความกดอากาศต่ำ พายุ 3 ลูกที่มาส่งผลกระทบกับประเทศไทย ในเดือน ก.ค.และก.ย.ต่อเนื่องต้นเดือนต.ค.นี้ ที่พายุดีเปรสชั่น และหย่อมความกดอากาศต่ำ เข้ามาส่งผลกับภาคเหนือและภาคกลาง ทำให้ขณะนี้มีน้ำที่นครสวรรค์มากถึงกว่า 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งนับว่าเป็นระดับน้ำวิกฤตแล้ว เขื่อนเจ้าพระยาจึงต้องระบายเพิ่มที่ 2,700 ลบ.ม.ต่อวินาที จนถึงขณะนี้

 

 

ขณะที่แก้มลิง ในภาคกลางตอนล่างเต็มเกือบทั้งหมดแล้ว ตามภาพถ่ายดาวเทียมจีสด้านี้ เมื่อต้องระบายน้ำมากขึ้น จึงทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำที่ถูกบังคับให้ท่วมเช่นแก้มลิงบางบาล มีน้ำยกตัวเท่ากับปี 2554 และวันนี้ยอดน้ำสูงสุดจากภาคเหนือ หรือปริมาณน้ำสูงสุดที่ท่วมในภาคเหนือระลอกนี้ ได้ไหลมาถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน บอกว่า น้ำจะขึ้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ไม่เกิน 10 เซ็นติเมตร  และจากนั้นน้ำจะแผ่ลงข้างล่างออกอ.บางไทร และไปถึงจ.ปทุมธานี ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้น แตมั่นใจว่าช่วงหลังวันที่ 27 ต.ค.นี้ น้ำขึ้น และลงจะทำให้การระบายน้ำดีขึ้นและน้ำจะเข้าถึงกทม. วันที่  26 ต.ค.นี้ และจะลดลง ส่วนในจ.พระนครศรีอยุธยาจะอยู่ราว 1 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม เขื่อนเจ้าพระยาขณะนี้น้ำที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ เกินว่าระดับน้ำวิกฤตแล้ว ทำให้ต้องระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นต้นมา ยอดน้ำสูงสุดที่ระบายมาจากเขื่อนเจ้าพระยา วันนี้เดินทางมาถึงที่อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง เมื่อเวลา 02.00น. และเมื่อช่วง 07.00 น. ยอดน้ำสูงสุดไปถึงคลองโผงเผง ต.อ่างทอง คลองบางบาล อำเภอเสนา และผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว ซึ่งจะทำให้น้ำยกตัวสูงขึ้นอีก 25 เซนติเมตร ส่วนจังหวัดปทุมธานี และนนทบุรี จะได้รับผลกระทบให้น้ำขึ้นประมาณ 10 เซนติเมตร ถ้าไม่มีฝนตกหนักในพื้นที่

 



ขณะนี้กรมชลประทาน กำลังเร่งผลักดันน้ำออกสู่ทะเลโดยได้รับความร่วมมือจากกองทัพเรือ ที่นำเรือผลักดันน้ำมาช่วยผลักดันน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และท่าจีนร่วมกับกรมชลประทานเพราะขณะนี้น้ำทะเลจะยังคงหนุนสูงจนถึงวันที่ 27 ต.ค.นี้

ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่า จะเร่งเยียวยาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่แก้มลิง ที่เสียสละรับน้ำแทนพื้นที่อื่นอย่างเต็มที่

ขณะนี้กรมชลประทานยืนยันว่า ถ้าจากนี้ไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มตามการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยม วิทยา ก็จะสามารถลดการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาลงไปได้ภายใน 5-7 วันนับจากนี้ เพราะกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าฝนในภาคเหนือจะเบาบางลงแล้ว แต่การระบายน้ำในพื้นที่ท่วมขังยังต้องใช้เวลาถึงปลายเดือนหน้า และสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำมากอาจต้องระบายน้ำนานถึงกลางเดือนธันวาคมจึงจะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง