ก.คลัง ศึกษาแนวทางมาตรการช็อปช่วยชาติ

เศรษฐกิจ
3 พ.ย. 60
11:59
1,428
Logo Thai PBS
ก.คลัง ศึกษาแนวทางมาตรการช็อปช่วยชาติ
กรมสรรพากรเตรียมหารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณานำมาตรการช็อปช่วยชาติมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีอีกครั้งหนึ่ง หลังนายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงการคลังไปพิจารณามาตรการนี้ ซึ่งทำต่อเนื่องมาหลายปี

เมื่อวานนี้ (2 พ.ย.2560) นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงคลังอยู่ระหว่างสรุปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงที่เหลือ 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยโตได้เต็มศักยภาพที่ร้อยละ 4-5 ซึ่งอยู่ระหว่างทบทวนข้อดีและข้อเสียมาตรการช็อปช่วยชาติ ซึ่งถ้ามีการออกมาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงสิ้นปี

อย่างไรก็ตาม การออกมาตรการช็อปช่วยชาติมีข้อเสีย หลังจากที่ผ่านมาเคยออกมาตรการดังกล่าวมาแล้ว 2 ครั้ง กลายเป็นว่าเป็นมาตรการที่ต้องทำทุกปี เนื่องจากประชาชนจะรอจับจ่ายในช่วงที่ออกมาตรการ ซึ่งกระทรวงการคลังกังวลและไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น ส่วนมาตรการของปีนี้ ถ้ามีจะประกาศและมีผลทันที เพื่อไม่ให้ประชาชนชะลอการใช้จ่าย

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีคำถามกลับมาว่าสุดท้ายแล้ว จะสามารถกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งตามข้อมูลของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ระบุว่า มาตรการช็อปช่วยชาติที่ออกมาในปี 2559 มีผู้ได้ประโยชน์ประมาณ 3.2 ล้านคน จากฐานผู้เสียภาษี 9.6 ล้านคน ส่งผลให้การใช้จ่ายช่วงปีใหม่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 เป็นเงินประมาณ 25,000 ล้านบาท ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2-3 เท่า หรือประมาณ 125,000 ล้านบาท

ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า เตรียมเข้าหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อรับมอบนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้กระทรวงการคลังพิจารณานำมาตรการช็อปช่วยชาติมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีอีกครั้งหนึ่ง โดยหลังการหารือได้ข้อสรุปแล้ว จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติอีกครั้ง

ทั้งนี้ มาตรการช็อปช่วยชาติดังกล่าวเป็นมาตรการทางภาษี เพื่อจูงใจให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอย ซึ่งที่ผ่านมา กรมสรรพากรกำหนดให้เป็นมาตรการระยะสั้น วงเงินในการลดหย่อนได้ประมาณ 15,000 บาทต่อคน แต่ครั้งนี้ เท่าที่รับทราบนโยบายจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องการให้มาตรการดังกล่าวมีระยะเวลาที่นานขึ้น ทางกรมสรรพากรกับกระทรวงการคลังจะพิจารณาแนวทางดังกล่าว โดยประเมินถึงผลกระทบในแง่อัตราภาษีที่จะหายไปจากมาตรการดังกล่าวด้วย หลังในปีภาษีที่ผ่านมา กรมสรรพากรสูญเสียรายได้จากมาตรการช็อปช่วยชาติรวมแล้วประมาณ 10,000 ล้านบาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง