กอ.รมน.ประกาศ 4 อำเภอใน สงขลา 1 อำเภอ ปัตตานี เป็นพื้นที่ควบคุม

สังคม
28 พ.ย. 60
21:33
6,707
Logo Thai PBS
กอ.รมน.ประกาศ 4 อำเภอใน สงขลา 1 อำเภอ ปัตตานี เป็นพื้นที่ควบคุม
กอ.รมน.ประกาศ 4 อำเภอใน จ.สงขลา 1 อำเภอ จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่ควบคุม ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.60 ถึง 30 พ.ย.61 หลังประกาศเป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคง

วันนี้ (28 พ.ย.) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศราชกิจจานุเบกษา ประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ด้วยสถานการณ์ในเขตพื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ อ.จะนะ อ.นาทวี อ.เทพา และอ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ยังคงปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร ซึ่งปรากฏเห็นชัดในรูปแบบของเหตุการณ์รุนแรง


ทั้งนี้ ห้วงเวลาที่ผ่านมาได้มีการ ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถแก้ไขและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ระดับหนึ่ง ดังนั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงาน รวมทั้งการบริหารจัดการรักษาความสงบและความปลอดภัยให้มีเอกภาพและเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด จึงมีความจําเป็นอย่างยิ่งที่ยังคงต้องกําหนดมาตรการป้องกันไว้เช่นเดิม เพื่อมิให้สถานการณ์ขยายตัวลุกลาม หรือหากเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถแก้ไขปัญหาให้ยุติโดยเร็วโดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ดังต่อไปนี้

1. ให้เขตพื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ อ.จะนะ อ.นาทวี อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร


2. ให้กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือหน่วยงานภายในที่กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมอบหมายให้เป็นศูนย์อํานวยการเป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และจัดทําแผนการดําเนินการในการบูรณาการ การกํากับ ติดตาม และเร่งรัดหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ดําเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กําหนด

3. เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติ การป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ให้บรรดาประกาศ คําสั่ง หรือการดําเนินการใดที่กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรกําหนดขึ้น หรือการปฏิบัติการใด ของศูนย์อํานวยการ หน่วยงาน พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ใดที่ได้รับมอบหมายจากกองอํานวยการรักษา ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ซึ่งมีผลใช้บังคับในเขตพื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ อ.จะนะ อ.นาทวี อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ยังคงมีผลใช้บังคับโดยต่อเนื่อง จนกว่าจะมีการกําหนดเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
ประกาศ ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี


นอกจากนี้ ยังมีประกาศ เรื่อง การให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ตามที่ได้มีประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรดังนี้


ประกาศ เรื่อง การให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย

ตามที่ได้มีประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในเขตพื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ อ.จะนะ อ.นาทวี อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 และมอบหมายให้กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นผู้รับผิดชอบดําเนินการ นั้น อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 16 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 28 พ.ย.พ.ศ. 2560 ให้กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมีอํานาจดําเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตอนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชนในเขตท้องที่ที่มีการประกาศพื้นที่และห้วงเวลาปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามกฎหมาย ดังต่อไปนี้

1. พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551
2. พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547
3. พระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. 2499
4. พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493
5. พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
6. พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530
7. พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495
8. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519
9. พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534
10. พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
11. พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545
12. พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550
13. พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493
14. พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550
15. พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546
16. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546
17. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547
18. พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553
19. พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
20. พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน
พ.ศ. 2490
21. พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
22. พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535
23. พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560
24. พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522
25. พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พุทธศักราช 2456
26. พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547
27. พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534
28. พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
29. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
30. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสมาคมและมูลนิธิ
31. ประมวลกฎหมายอาญา
32. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการใช้อํานาจ สืบสวนและสอบสวน และการใช้อํานาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ

ทั้งนี้ ให้รวมถึงกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวข้างต้นด้วยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว

ทั้งนี้ ให้มีอํานาจดําเนินการโดยให้ถือเสมือนเป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจตามกฎหมายนั้น โดยการใช้กฎหมายดังกล่าว ให้ดําเนินการเท่าที่จําเป็นและไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ในการนี้ การดําเนินการตามกฎหมายดังกล่าว มิได้เป็นการทําให้การบังคับใช้กฎหมายของผู้รับผิดชอบเดิมหมดไป ซึ่งยังครอบคลุมหน้าที่ตามปกติ

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2561

ประกาศ ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

 

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงหลังประชุม ครม.ที่ จ.สงขลา ตั้งข้อสังเกตการเคลื่อนไหวของกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้า เนื่องจากได้ประสานทั้งส่งคนไปรับเรื่อง และจัดสถานที่พูดคุยแล้ว แต่กลับไม่เป็นผล ส่วนที่ถูกควบคุมตัว เพราะทำผิดซึ่งหน้า

ขณะที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ตำรวจทบทวน การแจ้งข้อกล่าวหาแกนนำทั้ง 16 คน และดำเนินการทางกฎหมาย บนพื้นฐานสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ พร้อมปล่อยตัวแกนนำทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข

ด้านกลุ่มมาราปาตานี ออกแถลงการณ์ เห็นว่าประชาชนในพื้นที่ มีสิทธิแสดงความคิดเห็น และที่ผ่านมา ก็ย้ำจุดยืนหลายครั้งว่าไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินในชุมชน พร้อมเรียกร้องรัฐบาลรับฟังและยกเลิกโครงการนี้ และเกรงการใช้ความรุนแรง อาจทำให้สถานการณ์บานปลาย

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง