"มังกรหยก" แปลเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรก

Logo Thai PBS
"มังกรหยก" แปลเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรก
แม้มียอดจำหน่ายกว่า 300 ล้านเล่ม แต่งานเขียนชั้นยอดของกิมย้งแทบไม่เป็นที่รู้จักในสากล แต่วันนี้สำนักพิมพ์ในอังกฤษเตรียมนำมังกรหยก สุดยอดนิยายกำลังภายในของกิมย้งมาจำหน่ายในภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรก เพื่อหวังให้งานเขียนของกิมย้งเป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกมากขึ้น

ตำนานความรักระหว่าง ก๊วยเจ๋ง และ อึ้งย้ง คู่พระนางจาก มังกรหยก ซึ่งครองใจนักอ่านทั่วเอเชีย ส่งให้ผลงานเพชรน้ำเอกของ กิมย้ง สุดยอดนักประพันธ์ชาวจีน กลายเป็นนิยายกำลังภายในที่มียอดขายสูงสุดของศตวรรษที่ 20 วันนี้ตำนานการต่อสู้ของเหล่าจอมยุทธ์ถูกนำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์ MacLehose Press ประเทศอังกฤษ โดยเล่มแรกที่มีชื่อว่า A Hero Born วางแผนจำหน่ายช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า โดยสำนักพิมพ์เตรียมแปล Condor Trilogy หรือมังกรหยกทั้ง 3 ภาคออกมาเป็นหนังสือทั้งหมด 12 เล่ม

มักงรหยกตีพิมพ์ครบรอบ 60 ปีแล้ว แต่สาเหตุที่ผลงานของกิมย้งไม่ค่อยถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่นักแปลทั่วไปจะถ่ายทอดสำนวนอันล้ำลึกของยอดนักประพันธ์วัย 93 ปีให้สมบูรณ์เท่าภาษาจีนต้นตำรับ รศ.เพทรูส หลิว สาขาวิชาวรรณกรรมจีน มหาวิทยาลัยบอสตัน กล่าวว่า ภาษาของกิมย้งแฝงความงามของบทกวี และใช้วลีจีนในการประพันธ์อย่างแพร่หลาย ทำให้ภาษาของเขามีความเป็นจีนโบราณอย่างสูง นอกจากนี้ ผู้แปลยังต้องเข้าใจปรัชญาและความเชื่อของชาวจีนที่สะท้อนอยู่ในเล่ม แม้แต่ชื่อท่าไม้ตายต่างๆ ยังมีที่มาอันลึกซึ้ง เช่น ท่าสิบแปดฝ่ามือพิชิตมังกร นำมาจากปรัญชาเต๋าที่เล่าจื้อบัญญัติเอาไว้เมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว

ผู้รับหน้าที่เปิดโลกของมังกรหยกสู่นักอ่านภาษาอังกฤษ คือแอนนา โฮล์มวูด นักแปลสาวชาวสวีเดนผู้เชี่ยวชาญการแปลวรรณกรรมจีน โดยเธอใช้เวลาถึง 1 ปี 6 เดือน กว่าจะแปล A Hero Born ได้สำเร็จ นักแปลสาวยอมรับว่านักอ่านที่เฝ้ารอต่างจับจ้องว่าเธอจะแปลท่าไม้ตายของกิมย้งออกมาได้ดีแค่ไหน โดยสำนักพิมพ์เตรียมดึงตัวยอดนักแปลรายอื่นๆ มาสานต่องานที่แสนยากและท้าทายนี้สำหรับการตีพิมพ์เล่มถัดๆ ไป

มังกรหยก ตีพิมพ์ครั้งแรกในฮ่องกง เมื่อปี 1957 หลังจากกิมย้งเดินทางมาก่อตั้งหนังสือพิมพ์หมิงเป้าในฮ่องกง แต่เดิมมังกรหยกเคยถูกแบนในเมืองจีน เนื่องจากแนวคิดต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของหมิงเป้า แต่ภายหลังเติ้งเสียวผิงอดีตผู้นำจีน ซึ่งเป็นแฟนตัวยงของกิมย้งได้เชิญยอดนักเขียนมาพบถึงเมืองจีน ทำให้มังกรหยกเริ่มโด่งดังในแดนมังกรหลังเผยแพร่อย่างเป็นทางการในปี 1984 ช่วงเดียวกับที่มังกรหยกฉบับซีรีส์ปี 1983 ของ TVB กำลังเป็นที่นิยมอย่างสูงทั้งในจีนและฮ่องกง ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่ยังคงได้รับการยกย่องว่าเป็นซีรีส์มังกรหยกที่สมบูรณ์แบบที่สุดจนถึงปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ อุ้ยเสี่ยวป้อ อีกผลงานดังของกิมย้ง เคยได้รับการแปลในภาษาอังกฤษมาแล้ว แต่ความสำเร็จยังอยู่ในวงจำกัด แต่เชื่อว่าความยอดเยี่ยมของมังกรหยก น่าจะทำให้ชื่อของกิมยิ้งเป็นที่รู้จักมากขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง