ขึ้นทะเบียน "ฟิล์มกระจก 35,427 รายการ-ภาพต้นฉบับ 5 หมื่นภาพ” มรดกความทรงจำโลก

Logo Thai PBS
ขึ้นทะเบียน "ฟิล์มกระจก 35,427 รายการ-ภาพต้นฉบับ 5 หมื่นภาพ” มรดกความทรงจำโลก
"ยูเนสโก" ประกาศขึ้นทะเบียน "ฟิล์มกระจก 35,427 รายการ-ภาพต้นฉบับ 5 หมื่นภาพ” ของรัชกาลที่ 5 และ 6 เป็น "มรดกความทรงจำแห่งโลก” ปี 2560 นับเป็นชิ้นที่ 5 ของไทยต่อจากศิลาจารึกพ่อขุนราม เอกสารเปลี่ยนแปลงสยามสมัยร.5 จารึกวัดโพธิ์ และบันทึกประชุมสยามสมาคม

วันนี้(6 ธ.ค.2560) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ได้รับรายงานว่า องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศรับรองการขึ้นทะเบียนฟิล์มกระจก 35,427 รายการและภาพต้นฉบับ 50,000 ภาพเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ประจำปี 2560 อย่างเป็นทางการในเว็บไซต์ unesco.org ซึ่งฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับดังกล่าวได้มีการส่งมอบและเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน

ภาพ กระทรวงวัฒนธรรม

ภาพ กระทรวงวัฒนธรรม

ภาพ กระทรวงวัฒนธรรม

 

สำหรับการประกาศขึ้นทะเบียนฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับ เสนอโดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ประเทศไทย และได้รับการบรรจุในทะเบียนเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกในปี 2560 ประกอบด้วยภาพฟิล์มกระจก 35,427 รายการและภาพต้นฉบับ 50,000 รายการ โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งรวบรวมจากฟิล์มกระจกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงถ่ายไว้

เอกสารดังกล่าวสะท้อน ถึงหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ทางด้านสังคม วัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงทางเมืองและความสัมพันธ์ด้านต่างประเทศของสยาม โดยแสดงถึงบุคคล สถานที่ และเหตุการณ์ที่มีความสำคัญระดับประเทศและนานาชาติในยุคที่อาณานิคมตะวันตกแพร่ขยายมายังเอเชีย ซึ่งทำให้สยามเลือกที่จะรักษาเอกลักษณ์ของชาติ และปฏิรูปประเทศในทุกด้าน ซึ่งนำไปสู่ยุคของการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

โดยหอจดหมายเหตุแห่งชาติได้เก็บรักษาเอกสารดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2520ปัจจุบันนี้ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้ดำเนินการสแกนจัดเก็บเอกสารดังกล่าวในรูปแบบดิจิทอลไฟล์เพื่อนุรักษ์ต้นฉบับและให้บริการด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ

ภาพ กระทรวงวัฒนธรรม

ภาพ กระทรวงวัฒนธรรม

ภาพ กระทรวงวัฒนธรรม

 

นายวีระ กล่าวว่า สำหรับมรดกความทรงจำโลกนี้ ประเทศเจ้าของมรดกต้องเขียนรายละเอียดตามแบบฟอร์มของยูเนสโกที่ระบุความสำคัญในแง่ของเหตุการณ์บุคคล สถานที่และช่วงเวลา และระบุความเป็นของแท้จริงที่อนุรักษ์ไว้อย่างดีเพื่อเปิดให้ผู้สนใจเข้าศึกษาวิจัยได้ พร้อมภาพถ่ายหรือเทป แต่ละปีมีประเทศเสนอเข้าไปมาก ต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรองตรวจสอบและเสนอความเห็นว่าควรขึ้นทะเบียนมรดกระดับนานาชาติหรือไม่

 

ภาพ กระทรวงวัฒนธรรม

ภาพ กระทรวงวัฒนธรรม

ภาพ กระทรวงวัฒนธรรม


ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกมาแล้ว 4 รายการ ได้แก่ ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2546 เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของรัชกาลที่ 5 ขึ้นทะเบียนปี 2552 เป็นเอกสารเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสยาม จารึกวัดโพธิ์ ประกาศขึ้นทะเบียนในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อปี 2551 และบันทึกการประชุมของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ขึ้นทะเบียนไว้เมื่อปี พ.ศ.2556 เป็นเอกสารที่มีอายุกว่า 100 ปี ทั้งนี้การประกาศขึ้นทะเบียนฟิล์มกระจก และภาพต้นฉบับครั้งนี้ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์รายการที่ 5 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก 


นายวีระ กล่าวอีกว่า โดยในปี 2017 ประเทศเพื่อนบ้านที่ได้ขึ้นทะเบียนหลายราย อาทิ 1.จารึกบนกระดูกที่ใช้เสี่ยงทายของจีนโบราณ 2.หอจดหมายเหตุหลักฐานการอนุรักษ์มรดกโลกโบโรพุทโธ อินโดนีเซีย 3.จารึกบนระฆังของพระเจ้าบุเรงนองแห่งพม่า 4.ฟิล์มกระจกที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่บันทึกภาพอ่าวท่าเรือซิดนีย์ 5.เอกสารเรื่องปันหยีของชวา ที่ได้ส่งอิทธิพลต่อวรรณคดีในหลายประเทศ 6.เอกสารเกี่ยวกับชนดั้งเดิมในหลายประเทศที่เสนอต่อสหประชาชาติเก็บรักษาไว้ที่สวิสเซอร์แลนด์ 7. เอกสารจดหมายเหตุที่เขียนด้วยลายมือเกี่ยวกับเชคสเปียร์เสนอโดยอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

ภาพ กระทรวงวัฒนธรรม

ภาพ กระทรวงวัฒนธรรม

ภาพ กระทรวงวัฒนธรรม

  สำหรับเอกสารหรือการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) นั้นต้องเป็นมรดกเอกสารที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร (Documentary Heritage) เกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมแห่งโลก แสดงให้เห็นวิวัฒนาการของความคิด การค้นพบ และผลงานของสังคมมนุษย์ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากสังคมในอดีตให้กับสังคมปัจจุบันเพื่อที่จะสืบสานให้แก่สังคมในอนาคต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง