รัฐบาลแจก 4,000 บาทต่อครัวเรือน ชวนลดพื้นที่ปลูกยาง

เศรษฐกิจ
13 ธ.ค. 60
11:09
7,360
Logo Thai PBS
รัฐบาลแจก 4,000 บาทต่อครัวเรือน ชวนลดพื้นที่ปลูกยาง
ครม.รับทราบ 3 แนวทางการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ พร้อมเชิญชวนเกษตรกรลดพื้นที่ปลูกยางลง และเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น โดยรัฐจะจ่ายเงินชดเชยให้ไร่ละ 400 บาท แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ หรือ 4,000 บาท

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้หารือเรื่องแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยเตรียมมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะสั้น ด้วยการดูดซับปริมาณยางออกจากตลาด โดยจะให้มีบริษัทเข้าไปรับซื้อยางเพื่อนำไปแปรรูป และให้หน่วยงานของรัฐไปจัดซื้อ นำมาใช้ในโครงการต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ยางดีขึ้นได้ในระยะสั้น ควบคู่กับการลดปริมาณยางในตลาด ทั้งการหยุดกรีดยางสำหรับสวนยางของรัฐ และโค่นยางทิ้งสำหรับนายทุนที่บุกรุกพื้นที่ ส่วนเกษตรกรรายย่อยจะหามาตรการช่วยเหลืออีกครั้ง

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ทั้ง 3 มาตรการจะช่วยพยุงราคายางพาราที่กิโลกรัมละ 50-60 บาท ไม่ให้เกษตรกรขาดทุน สำหรับมาตรการแรก ขอให้ส่วนราชการ ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไปประชุมหารือเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับปริมาณความต้องการใช้ยางพารา จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 70,000-80,000 ตัน ซึ่งยังเป็นปริมาณที่น้อยเกินไป ส่วนมาตรการที่ 2 คือชดเชยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการรับซื้อยางพาราไม่เกินร้อยละ 3 โดยเตรียมวงเงินไว้ 20,000 ล้านบาท เพื่อดูดซับผลผลิตออกจากท้องตลาดได้ประมาณ 350,000 ตัน

ส่วนมาตรการที่ 3 ลดการกรีดน้ำยางในพื้นที่ส่วนราชการทั้งหมด 120,000 ไร่ ตั้งแต่เดือน ม.ค. - มี.ค.2561 ซึ่งจะช่วยลดปริมาณได้ราว 5,000 ตัน และเชิญชวนให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกยางลงแล้วเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น โดยรัฐจะจ่ายเงินชดเชยให้ไร่ละ 400 บาท แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ โดยตั้งเป้าไว้ที่ 200,000 ไร่ ซึ่งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะนำทั้ง 3 มาตรการเสนอให้ที่ประชุมบอร์ด กยท.และคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติพิจารณาและอนุมัติ ก่อนเสนอเข้าที่ประชุม ครม.อีกครั้งในสัปดาห์หน้า

ขณะที่ วันนี้ (13 ธ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ก่อนไปประชุม ครม.สัญจรที่จ.สุโขทัย และ จ.พิษณุโลก ในวันที่ 25-26 ธ.ค.นี้ โดย พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ลดงบประมาณการจัดเลี้ยงต้อนรับให้มากที่สุด และให้เปลี่ยนการจัดบูธสาธิต มาเป็นการพูดคุยแก้ปัญหากับผู้เกี่ยวข้องแทน

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะเปิดรับฟังข้อมูลหลังมีรายงานว่าจะมีชาวบ้านมายื่นเรื่องโครงการแก่งเสือเต้น แต่ขอให้สังคมเปิดรับฟังข้อมูล หากไม่ใช้แนวทางนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร ที่ยั่งยืนและเป็นจุดที่ลงตัวของทุกฝ่าย เพราะแต่ละปีต้องเสียงบประมาณเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยหลายหมื่นล้าน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง