เปิดสถิติปี 60 ตำรวจไทยรักษาโรคซึมเศร้า 49 นาย

อาชญากรรม
26 ธ.ค. 60
16:45
493
Logo Thai PBS
เปิดสถิติปี 60 ตำรวจไทยรักษาโรคซึมเศร้า  49 นาย
ในรอบปี 2560 มีตำรวจเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้า ที่โรงพยาบาลตำรวจ จำนวน 49 คน โดยต้องรับการรักษาต่อเนื่อง 1 - 2 ปี ส่วนตัวเลข 4,000 คน ตามที่โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ เป็นการประมาณการและเทียบเปอร์เซนต์จากตัวเลขของกรมสุขภาพจิต

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผย การสอบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตของ พ.ต.ต.สหัสวรรษ พันธ์เกตุ สารวัตรฝ่ายแต่งตั้ง กองทะเบียนพล แม้พนักงานสอบสวนจะให้น้ำหนักการฆ่าตัวตาย จากหลักฐานที่เกิดเหตุ แต่ยังไม่ตัดประเด็นใดทิ้งไป จนกว่าจะได้รับผลการตรวจชันสูตรพลิกศพ

ผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุและการรวบรวมพยานหลักฐานอื่นๆโดยมีกรอบระยะเวลาของการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพภายใน 30 วัน สำหรับตัวเลขตำรวจที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า มีตัวเลขจากโรงพยาบาลตำรวจ ว่าในปี 2560 มีตำรวจเข้ารับการรักษา จำนวนประมาณ 49 คน เป็นชาย 30 คน หญิง ประมาณ 19 คน โดยมีแนวการรักษา เริ่มจากการกินยาอย่างต่อเนื่อง 3-6 เดือน และพบแพทย์ตามที่นัด ที่ผ่านมาผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 1-2 ปี จะสามารถกลับมาเป็นปกติได้

ด้าน พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงกรณีให้สัมภาษณ์ตัวเลขตำรวจอาจป่วยด้วยโรคซึมเศร้า 4,000 คนมาจากการประมาณการ จากตัวเลขของกรมสุขภาพจิต ที่มีตัวเลขผู้ป่วยโรคนี้ทั่วประเทศ นำมาคิดเปอร์เซนต์ตำรวจ 200,000 คน ที่อาจป่วย ร้อยละ 2 จึงไม่ใช่ตัวเลขตำรวจที่เข้ารับการรักษาจริง

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองปลัด กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีสังเกตดังนี้ มีอารมณ์ซึมเศร้า,ความสนใจในกิจกรรมต่าง ๆ แทบทั้งหมดลดลง,น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก, เบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก,นอนไม่หลับหรือหลับมากเกินไป,กระวนกระวายอยู่ไม่สุขหรือเชื่องช้าลง,อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง,รู้สึกตนเองไร้ค่า,สมาธิลดลง ใจลอย และ คิดเรื่องการตายหรือคิดอยากตาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง