ห่วงพฤติกรรมนกเปลี่ยน ใช้เหยื่อล่อเพื่อถ่ายภาพ

สิ่งแวดล้อม
16 ม.ค. 61
06:35
808
Logo Thai PBS
ห่วงพฤติกรรมนกเปลี่ยน ใช้เหยื่อล่อเพื่อถ่ายภาพ
อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก กำชับเจ้าหน้าที่เพิ่มควมเข้มงวด หลังพบพฤติกรรมนักดูนกและนักถ่ายภาพ ที่ดอยสันจุ๊และดอยลาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ใช้หนอนเป็นเหยื่อล่อให้นกออกมากินเพื่อถ่ายภาพในอุทยานฯ หวั่นทำนกเปลี่ยนพฤติกรรม

ช่วงเดือน ม.ค. - ก.พ.ของทุกปี ที่ดอยสันจุ๊ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ จะนกประจำถิ่น และนกอพยพจำนวนมากมาอาศัย เพื่อให้ได้ภาพที่สวยงาม นักดูนกจำนวนหนึ่ง เลือกใช้หนอนเป็นเหยือล่อ จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ว่าอาจจะส่งผลต่อพฤติกรรมของนก และอาจทำให้เกิดภัยคุกคามได้

 

 

บริเวณที่มีการเคยใช้หนอน เป็นเหยื่อล่อ เพื่อถ่ายภาพเป็นประจำบนดอยสันจุ๊และดอยลาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ จะนกจำนวนมาก มารอกินอาหาร ทั้งจากนักดูนกและนักท่องเที่ยว พฤติกรรมที่คุ้นชินกับมนุษย์ ก็ทำให้นักอนุรักษ์จำนวนหนึ่ง และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก กังวลว่า อาจจะนำภัยมาสู่พวกมันจากผู้ไม่หวังดี

 

 

ไทยพีบีเอส สอบถามนักดูนก ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ พบว่ามีมุมมองที่แตกต่างกันไป ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจและไม่อยากทำลายระบบนิเวศ แม้จะมีป้ายปิดประกาศห้าม แต่การใช้หนอนวางล่อ เพื่อถ่ายภาพเจ้าหน้าที่ก็พบอยู่หลายจุด

นายสมศักดิ์ ฐิติชยาภรณ์ อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก กล่าวว่า ขอความร่วมมือนักดูนกที่มาดูนกที่ดอยสันจุ๊และดอยลางไม่ให้มีการเอาหนอนมาล่อ เพราะอาจส่งผลต่อพฤติกรรมของนกที่เปลี่ยนไปจากธรรมชาติ หากเจ้าหน้าที่พบเห็นก็จะต้องมีการเตือน และหากไม่ฟังก็จะต้องมีการเชิญออก

ผศ.ประภากร ธาราฉาย นักวิชาการคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ศึกษาพฤติกรรมของนก มองว่า มีทั้งคุณและโทษ แต่การให้อาหารนก เพื่อเสริมจากธรรมชาติ จะช่วยให้ร่างกายอุดมสมบูรณ์ และสามารถขยายพันธุ์ได้ดีขึ้นและไม่ใช่เรื่องใหม่ในต่างประเทศ ขณะที่สัญชาตญาณการเป็นสัตว์ป่า แม้จะสามารถเข้าใกล้ได้ แต่พวกมันจะมีระยะ ที่คิดว่าตัวเองปลอดภัย

 

 

แม้จะเป็นพื้นที่ชายแดน ติดกับประเทศเมียนมา และเป็นที่ตั้งฐานปฏิบัติทหาร แต่ความสมบูรณ์ของพื้นป่าที่นี่ ทำให้ดอยสันจุ๊ กลายเป็นจุดดูนกที่กำลังได้รับความนิยมระดับประเทศ โดยเฉพาะช่วงเดือน ม.ค. - ก.พ. เนื่องจากจะมีทั้งนกประจำถิ่น และนกอพยพ มาอาศัย เช่น นกหางรำดำ กะรางแก้มแดง กะรางหัวแดง

และกระเบื้องท้องแดง เดินดงสีน้ำตาลแดง จับแมลงสีคราม ปากกบลายดำ ไก่ฟ้าหางลายขวาง นกกระทาป่าไผ่ และอีกหลายชนิด ที่ไม่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเพิ่มความเข้มงวดในการออกกวดขัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภัยคุกคามในอนาคต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง