ผอ.คบเด็ก ม.2 เข้าข่ายพรากผู้เยาว์ พ่อ-แม่ยินยอมอาจมีความผิด

สังคม
26 ม.ค. 61
11:15
11,316
Logo Thai PBS
ผอ.คบเด็ก ม.2 เข้าข่ายพรากผู้เยาว์ พ่อ-แม่ยินยอมอาจมีความผิด
คดีผอ.กับเด็ก ม.2 ถึงแม้ว่ามารดาของเด็กยังไม่แจ้งความ และมีรายงานว่าเด็กหญิงจะแต่งงานกับ ผอ.แล้ว แต่เนื่องจากเด็กหญิงชั้น ม.2 อายุยังไม่ถึง 15 ปี ตามกฎหมาย ถือเป็นผู้เยาว์ ที่หากมีการกระทำผิด ก็จะเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา ยอมความไม่ได้ ตำรวจมีสิทธิดำเนินคดี

วันนี้ (26 ม.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้เยาว์โดยเฉพาะผู้ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเข้มงวดมาก แม้ว่าเด็กจะเต็มใจไปด้วย แต่หากอายุไม่ถึง 15 ปี แล้วมีผู้ที่พาเด็กออกไป หรือแค่ชักชวน ยังไม่ได้ออกไปไหน ก็ถือว่าเข้าข่ายพรากผู้เยาว์ โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกัน เฉพาะประมวลกฎหมายอาญามีความผิดเกี่ยวกับการพรากผู้เยาว์ ถึง 3 มาตรา

โดยความหมายของคำว่า พรากผู้เยาว์ คำว่า "พราก" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง จากไป, พาเอาไปเสียจาก, แยกออกจากกัน, เอาออก จากกัน "ผู้เยาว์" หมายถึง บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งจะบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ หรือเมื่อทำการสมรส

ส่วนการ "พรากผู้เยาว์" นั้น ผิดกฎหมายอาญา ในมาตรา 317, 318 และ 319 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 บัญญัติเกี่ยวกับความผิดการพรากผู้เยาว์ที่อายุยังไม่เกิน 15 ปี ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจ ถือว่ามีความผิด สำหรับคนที่รับตัวเด็กที่ถูกพราก ก็มีโทษเช่นกัน คือ จำคุก 3 - 5 ปี ปรับ 6,000 - 30,000 บาท ส่วนการพรากเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 - 20 ปี ปรับ 10,000 - 40,000 บาท


หากเป็นผู้เยาว์ที่อายุ 15 -18 ปี จะแยกเป็นสองกรณี คือพรากไปโดยเต็มใจและไม่เต็มใจ โดยในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 บัญญัติเกี่ยวกับผู้เยาว์ที่อายุมากกว่า 15 ปีแต่ไม่เกิน 18 ปี ว่าหากพรากไปจากบิดามารดาผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้น ไม่เต็มใจไปด้วยหรือผู้ใด ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพราก ระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น จำคุก 2-10 ปี ปรับ 4,000 - 20,000 บาท
หากพรากเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โทษจำคุก 3 - 5 ปี ปรับ 6,000 - 30,000 บาท ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 319 บัญญัติถึงการพรากผู้เยาว์ ที่อายุมากกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ถึงแม้ว่าผู้เยาว์จะเต็มใจไปด้วย แต่ก็มีความผิด ทั้งผู้พรากและผู้ที่รับเด็กไป โทษจำคุก 2 - 10 ปี ปรับ 4,000 - 20,000 บาท

ผู้เยาว์จะสิ้นสุดความเป็นผู้เยาว์ เมื่ออายุได้ 20 ปี หรือจากการสมรส ซึ่งในกรณีสมรสนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 ระบุว่า การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ เท่ากับว่าถ้าชายและหญิงมีอายุมากกว่า 17 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 20 ปี ทั้งคู่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม คือพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้รับบุตรบุญธรรม แต่ถ้าอายุไม่ถึง 17 ปี กรณีเดียวที่จะสมรสได้ คือ ศาลต้องอนุญาตให้สมรสก่อน เพราะอาจมีเหตุอันสมควร เช่น หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น

ขณะที่นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ก็ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า กรณีผู้อำนวยการโรงเรียนกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 8,000 – 40,000 บาท ซึ่งเป็นคดีอาญาที่ยอมความไม่ได้

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 (3) ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด และมาตรา 79 ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น บิดามารดาหรือผู้ปกครองที่ยินยอมอาจเข้าข่ายส่งเสริมหรือยินยอมตาม พรบ.คุ้มครองเด็กฯ มาตรา 26 (3)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง