เดินหน้า “แม่แจ่มโมเดลพลัส” ลดพื้นที่เผา เพิ่มพื้นที่ป่า

สิ่งแวดล้อม
11 ก.พ. 61
15:51
1,587
Logo Thai PBS
เดินหน้า “แม่แจ่มโมเดลพลัส” ลดพื้นที่เผา เพิ่มพื้นที่ป่า
ผนึกกำลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “แม่แจ่มโมเดลพลัส” แก้ปัญหารุกป่าต้นน้ำ ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด หวังยุติปัญหาหมอกควันจากการเผา พร้อมสนับสนุนเกษตรกรปลูกพืชอื่นทดแทนเพื่อยกระดับรายได้

วิกฤตหมอกควันไฟป่าในภาคเหนือ ยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นทุกปี สาเหตุมาจากการจุดไฟเผาในพื้นที่เกษตรกรรม จนเกิดหมอกควันกระจายปกคลุมไปทั่ว ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศและสุขภาพของประชาชน แม้หลายหน่วยงานจะมีมาตรการป้องกัน เฝ้าระวังอย่างเข้มงวดก็ตาม

ก่อนหน้านี้ในปี 2559 มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการแก้ปัญหาป่าไม้กับชุมชนและหมอกควันไฟป่าอย่างยั่งยืน หรือ “แม่แจ่มโมเดลพลัส” เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันและการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำ อ.แม่แจ่ม นำร่อง 15 หมู่บ้าน และในปี 2561 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับคณะทำงานแม่แจ่มโมเดล ภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมใน จ.เชียงใหม่ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แม่แจ่มโมเดลพลัส สู่การปฏิบัติงานร่วมกันของทุกฝ่าย ทั้งการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่า ที่ดินทำกิน ลดปัญหาหมอกควัน แก้ปัญหาหนี้สิน พัฒนาอาชีพ และเสริมศักยภาพชุมชน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่แนวทางสร้างป่า สร้างรายได้ ป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง

ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด = ลดพื้นที่เผา

เหมือนถูกธรรมชาติลงโทษ 2 ปีที่ผ่านมาบ้านพ่อน้ำแห้งขอด ต้องไปซื้อน้ำใน อ.แม่แจ่ม มากิน จึงหารือกับชาวบ้านว่าจะลองปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การเพาะปลูกข้าวโพดมันไม่ยาก 2-3 ปีจะกลับมาปลูกก็ยังทำได้ หากโครงการฯ มันประสบความสำเร็จ ต่อให้จ้างก็คงไม่กลับไปปลูกข้าวโพดอีกแล้ว เพราะแต่ละคนก็เหนื่อยมามาก

ความในใจของนายบุญมา แหลมคม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลบ้านทับ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ บอกกับ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ถึงผลกระทบของการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก การบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น มีการเผาปรับพื้นที่มากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงอยากปรับเปลี่ยนให้ใช้พื้นที่น้อยลง แต่สร้างรายได้มากขึ้น ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้อยู่รอด และตัดสินใจปลูกพืชอื่นทดแทนตามศาสตร์พระราชา โดยขอให้ภาคเอกชนช่วยสนับสนุน

 

ผู้ใหญ่บ้านบุญมา ยังบอกอีกว่า ในปีแรกมีชาวบ้านกว่าครึ่งที่ยังปลูกข้าวโพด แต่ในปีที่ 2 ชาวบ้านหมู่ 1 เลิกปลูกข้าวโพดทั้งหมด หันมาปลูกพืชชนิดอื่น แต่ชาวบ้านก็ยังไม่มั่นใจ เพราะการปลูกต้องใช้เวลา และต้องหาแหล่งน้ำเข้ามาเสริม ซึ่งพืชที่ปลูกทดแทนมีหลายชนิด ภาคเอกชนหาตลาดรองรับและประกันราคา แต่ตอนนี้ยังเป็นช่วงเริ่มต้น จึงไม่มีรายได้ คาดว่าจะเริ่มมีผลผลิตในช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ ส่วนในอนาคตคาดหวังจะทำเกษตรอินทรีย์ หรือนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ ที่สามารถส่งไปขายได้ทุกที่ เพราะเป็นพืชผลปลอดสารพิษ เชื่อว่าหากเป็นอินทรีย์แล้วคงขายไม่ยากและได้ราคาดี

วางแผนใช้ประโยชน์ที่ดิน-ส่งเสริมปลูกพืชชนิดอื่น

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. คือหนึ่งในทีมพี่เลี้ยงที่ร่วมพัฒนาเชิงพื้นที่ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยวางแผนปรับระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดและส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือกให้กับชาวบ้าน

 

นายอานนท์ ยอดญาติไทย นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา สวพส. บอกว่า ปัญหาของแม่แจ่ม คือชาวบ้านปลูกข้าวโพดเป็นหลัก จึงต้องวางแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ให้ชัดเจน และแก้ปัญหาให้ตรงจุด อย่างที่บ้านแม่มะลอ ต.แม่นาจร เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ สวพส.ดำเนินโครงการ ก่อนหน้านี้ชาวบ้านปลูกข้าวโพดเกือบร้อยเปอร์เซ็น และเกิดปัญหาการบุกรุกทำลายป่า รายได้น้อย ทรัพยากรถูกทำลาย สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขคือเรื่องปากท้องของชาวบ้าน โดยต้องมุ่งพัฒนาด้านอาชีพ หาพืชทางเลือกที่หลากหลาย เช่น เคพกูสเบอร์รี่ เสาวรส มะเขือเทศ หอมญี่ปุ่น เป็นต้น และใช้องค์ความรู้ของโครงการหลวงเข้ามาช่วย สร้างรายได้ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เกือบทุกสัปดาห์

สำหรับการดำเนินการในช่วงแรก ชาวบ้านยังไม่ยอมรับ เพราะไม่แน่ใจว่าจะได้ผลจริงหรือไม่ เราจึงต้องสร้างเกษตรกรตัวอย่าง มาร่วมทดลอง ไม่เพียงแค่ปลูกพืชระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังปลูกไม้ผลยืนต้นเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว รวมถึงปลูกไม้ไผ่และหวายที่สร้างรายได้ในระยะยาว โดยหลังจากที่เกษตรกรตัวอย่างทดลองปลูกและได้ผลดี จึงเริ่มมีชาวบ้านสนใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งตอนนี้เรายังเป็นพี่เลี้ยงให้กับชาวบ้านในการประสานตลาดภายนอก ขณะเดียวกันก็มีตลาดโครงการหลวงอินทนนท์เป็นตลาดหลัก

 

หลักของเราคือ ทำยังไงที่จะใช้พื้นที่น้อย แต่ให้ชาวบ้านมีรายได้พอเพียง โดยมองสิ่งแวดล้อมด้วย อย่างข้าวโพดไร่ละ 4,000 บาท แต่หากปลูกพืชแบบผสมผสาน จะได้ไร่ละประมาณเกือบแสน ก็จะทดแทนข้าวโพดได้กว่า 20 ไร่ แต่รายได้ 1 ไร่ 1 แสน อาจไม่ได้ทุกราย ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและความสามารถของเกษตรกรด้วย นายอานนท์ กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลการสำรวจของ สวพส.เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงปี 2555 และ 2559 พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ทำการเกษตรของชุมชน (บ้านแม่มะลอ) โดยในปี 2555 มีพื้นที่ปลูกข้าวโพด 972 ไร่ และมีพื้นที่ปลูกพืชผสมผสาน 370 ไร่ แต่ภายหลังดำเนินโครงการ พบว่าในปี 2559 เหลือพื้นที่ปลูกข้าวโพด 771 ไร่ ลดลงถาวร 201 ไร่ ส่วนพื้นที่ปลูกพืชผสมผสาน เพิ่มขึ้นเป็น 941 ไร่ ส่งผลให้พื้นที่ป่าในพื้นที่ทำกินของเกษตรกรเพิ่มอีก 571 ไร่

รมว.ทส.ชี้แม่แจ่มโมเดลสะท้อนกลไกประชารัฐชัดเจน

ด้าน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ ทส. กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า ก่อนหน้านี้แม่แจ่ม มีการปลูกข้าวโพดจำนวนมาก ทำให้เกิดความไม่คุ้มทุน อีกทั้งยังทำให้ดินและแหล่งน้ำถูกทำลาย จึงมีโครงการร่วมกับชุมชนเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนที่ดีกว่า ใช้พื้นที่น้อยและได้มูลค่าเพิ่ม โดยมีหลายภาคส่วนเข้าร่วม ทั้งมหาวิทยาลัยที่ให้ความรู้เรื่องวิชาการ ภาคธุรกิจเอกชนที่เข้ามาช่วยเรื่องการตลาด และยังมีส่วนที่ประชาชนเสนอการพัฒนาแหล่งน้ำ ถือว่าขณะนี้องค์ประกอบเริ่มครบ หากทำร่วมกันได้ พื้นที่ อ.แม่แจ่ม จะเป็นตัวอย่างในการมุ่งมั่นลดพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว ลดการทำลายพื้นที่ป่าเขา ทำให้อยู่ร่วมกันโดยที่รัฐได้ป่า ประชาได้ที่ทำกิน แต่ทั้งนี้ต้องมีกติการ่วมกันว่าต้องปลูกพืชที่ให้ร่มเงา ไม่ใช้พื้นที่มากและไม่ตัดไม้ทำลายป่า หรือเผาป่าจนเกิดไฟป่าหมอกควัน

 

วันนี้แม่แจ่มเดินมาถึงจุดที่มีความร่วมมือ ถือว่าก้าวหน้าดีมาก แม้ว่าผลผลิตจะยังไม่ได้ออกมาให้เห็นชัดเจน ซึ่งการที่จะให้ชาวบ้านเชื่อมั่นก็ต้องมีการแสดงตัวอย่างให้เห็นก่อน ส่วนระยะเวลาดำเนินโครงการต้องดูจากผลผลิตที่ออก อย่างน้อยอาจใช้เวลา 2-3 ปีขึ้นไป เพราะงานลักษณะนี้ต้องใช้ความอดทน ความมุ่งมั่นและความร่วมมือร่วมใจ ซึ่งที่นี่สะท้อนเรื่องกลไกประชารัฐได้ชัดเจน ถือว่าประสบความสำเร็จในเรื่องของความร่วมมือ แต่สิ่งสำคัญคือต้องยกระดับรายได้ของชาวบ้าน จึงจะถือว่าประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง