พื้นที่ปลอดภัยจังหวัดชายแดนภาคใต้ใกล้คลอด คาดเมษายน 61 เปิดเซฟเฮาส์

ภูมิภาค
24 ก.พ. 61
10:36
1,074
Logo Thai PBS
พื้นที่ปลอดภัยจังหวัดชายแดนภาคใต้ใกล้คลอด คาดเมษายน 61 เปิดเซฟเฮาส์

การจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย หรือ Safety Zone ในหนึ่งอำเภอของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกลไกขั้นแรกของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันระหว่างฝ่ายรัฐ (Party A) กับฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ด้วยการสร้างกระบวนการบริหารจัดการพื้นที่ให้ปลอดภัยร่วมกัน ในรูปแบบคณะผู้บริหารพื้นที่ หรือ Joint Action Committee ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจาก Party A และ Party B ฝ่ายละ 7 คน และตัวแทนประชาชนในพื้นที่อีก 15 คน

ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการจัดตั้ง JAC ทั้งสองฝ่ายคือ Party A และ Party B ตกลงที่จะมีการเปิด Safe House เพื่อเป็นสำนักงานประสานงานและดำเนินการสรรหาตัวแทนภาคประชาชนมาร่วมคณะผู้บริหารพื้นที่ (JAC) ซึ่งแหล่งข่าวในคณะพูดคุยสันติสุข เปิดเผยว่า เซฟเฮ้าส์คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในเดือนเมษายน 2561 และคาดว่า JAC จะเริ่มทำงานบริหารพื้นที่ปลอดภัยได้ในเดือนมิถุนายน


พื้นที่ปลอดภัยมีความสำคัญอย่างไร ?

อาบูฮาฟิซ อัลฮากิม โฆษกกลุ่มมาราปาตานี อธิบายว่าพื้นที่ปลอดภัยต้องอำนวยความปลอดภัยให้กับประชาชนให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปรกติสุข โดยที่ทั้งสองฝ่ายคือ Party A และ Party B ต้องยุติการปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจากกองกำลังของทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าหากมีการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ปลอดภัย ทั้งสองฝ่ายจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อพิสูจน์ทราบหาตัวคนร้ายที่ลงมือก่อเหตุรุนแรงให้ได้

“เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปรกติ ประชาชนในพื้นที่รู้ดีว่า เป็นฝีมือของใคร กลุ่มไหน แต่ไม่กล้าให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่รัฐเพราะกังวลในเรื่องความปลอดภัยของตัวเอง แต่ในพื้นที่ปลอดภัยมีตัวแทนของฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้เห็นต่างนั่งทำงานอยู่ในพื้นที่ หากมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเชื่อว่าประชาชนจะกล้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับคนร้ายกับคณะทำงานบริหารพื้นที่ปลอดภัย (JAC) มองในแง่นี้พื้นที่ปลอดภัยจึงมิได้เป็นกลไกการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของฝ่ายรัฐและผู้เห็นต่างเท่านั้น แต่เป็นกลไกสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของฝ่ายประชาชนด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

ประการที่สอง อาบูฮาฟิซ บอกว่า พื้นที่ปลอดภัยต้องเป็นพื้นที่ที่ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยที่ไม่ถูกข่มขู่ทำร้ายหรือการกดดันใดๆ ทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้นกิจกรรมการระดมความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวกับพื้นที่หรือชุมชนยังเป็นสิ่งควรสนับสนุน

ประการที่สาม ประชาชนในพื้นที่ปลอดภัยสามารถเข้าร่วมหรือมีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ของตนเองได้ทุกเรื่องทุกประเด็น โดยเสนอตรงไปที่คณะผู้บริหารพื้นที่ (JAC) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการกระจายอำนาจการบริหารจัดการลงไปสู่ท้องถิ่นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตนเอง (self-administered community)

มีกำลังทหารรัฐบาลในพื้นที่ปลอดภัยหรือไม่

แหล่งข่าว เปิดเผยว่า กำลังทหารที่ปฏิบัติงานในอำเภอ ซึ่งกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยยังคงปฏิบัติงานอยู่เช่นเดิม เช่นเดียวกับกองกำลังของฝ่ายผู้เห็นต่างก็ไม่มีการปลดอาวุธเช่นกัน แต่ทั้งสองจะไม่มีปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ปลอดภัยในห้วงเวลาที่ตกลงกัน อย่างไรก็ตามเพื่อสร้างเสริมบรรยากาศความไว้เนื้อเชื่อใจกัน กองกำลังทหารรัฐบาลจะประจำอยู่ในค่ายทหารเท่านั้น จะไม่มีลาดตระเวณหรือตั้งด่านความมั่นคงในพื้นที่ขณะเดียวกันสายบังคับบัญชาของกำลังทหารในพื้นที่ปลอดภัยจะอยู่ภายใต้คำสั่งของ พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกิดเอกภาพในการบริหารพื้นที่ปลอดภัย

ตัวแทนฝ่ายผู้เห็นต่างจะเข้ามาร่วมทำงานในสำนักงานบริหารพื้นที่ปลอดภัย ได้อย่างไร?

ภายใต้กรอบการบริหารพื้นที่ปลอดภัย (General Framework on Safety Zone) คณะผู้บริหารพื้นที่ปลอดภัย ประกอบด้วยตัวแทน Party A และ B หรือมาราปาตานี ฝ่ายละ 7 คน และตัวแทนประชาชนในพื้นที่อีก 15 คน แต่เนื่องจากตัวแทนมาราปาตานีมีหมายคดีจับความมั่นคง จึงมีข้อเรียกร้องให้ยกเว้นการลงโทษทางอาญา หรือ impunity กับคณะผู้แทนพูดคุยสันติสุขฝ่ายมาราปาตานี มาตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการพูดคุย ซึ่งข้อเสนอนี้ฝ่ายรัฐไทยไม่สามารถปฏิบัติได้เนื่องจากขัดต่อกฏหมาย

“เพื่อให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขขับเคลื่อนได้ ตัวแทนฝ่ายรัฐไทยก็เสนอว่าจะอำนวยความสะดวกให้กับตัวแทนผู้เห็นต่างที่ทำหน้าที่กรรมการในคณะผู้บริหารพื้นที่ ด้วยการอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ โดยกำหนดให้เดินทางในพื้นที่ปลอดภัยเท่านั้นและเฉพาะในช่วงเวลาที่ประกาศพื้นที่ปลอดภัย ทั้งนี้ในระหว่างที่อยู่ในประเทศไทยจะมีเจ้าหน้าที่ของ Party A ดูแลคุ้มครองความปลอดภัยตลอดเวลา”

แหล่งข่าวกล่าวพร้อมกับอธิบายเสริมว่า การอำนวยความสะดวกให้กับตัวแทนฝ่ายผู้เห็นต่าง เป็นกลไกปรกติในการสร้างความปรองดองของคนในชาติ เช่น การสร้างความปรองดองกับนิสิตนักศึกษาที่เข้าป่าจับอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเมื่อ 40 ปีก่อน

มีตัวแทนฝ่ายบีอาร์เอ็นเข้าร่วมในการบริหารพื้นที่ปลอดภัยด้วยหรือไม่ ?

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ในมาราปาตานีก็มีตัวแทนบีอาร์เอ็นร่วมอยู่ด้วยและที่ผ่านมาตัวแทนเหล่านี้ก็มีการพูดคุยกับดุนเลาะห์ แวมะนอ ผู้นำทางจิตวิญญานของบีอาร์เอ็นให้เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งดุนเลาะห์ก็ไม่ได้มีท่าทีปฏิเสธกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข แต่มีความเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Party B อย่างไรก็ตามทั้งฝ่ายรัฐไทยและมาราปาตานี ก็พร้อมเปิดให้ตัวแทนอื่นของบีอาร์เอ็นเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยฯ ในฐานะตัวแทนคนหนึ่งในฝ่ายผู้เห็นต่างหรือ Party B

 

อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง