ย้อนคดี ทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน

สิ่งแวดล้อม
6 มี.ค. 61
19:06
9,984
Logo Thai PBS
ย้อนคดี ทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน

โครงการทุจริตก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียมูลค่ากว่า 23,700 ล้านบาท ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ถือเป็นมหากาพย์เรื่องยาวที่มีประเด็นการทุจริตคอรัปชั่นใน 2 ประเด็น คือ การซื้อขายที่ดิน และการแก้ไขสัญญาที่เอื้อต่อบริษัทเอกชนจนนำสู่การยกเลิกก่อสร้าง เมื่อปี 2546 ทั้งที่เกือบจะแล้วเสร็จ

ปฐมบทโครงการนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2538 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในยุคนั้น ริเริ่มแนวคิดโครงการบำบัดนำเสียขึ้น จนนำมาสู่การเสนอให้คณะมนตรีเห็นชอบและเริ่มโครงการเมื่อปี 2540 โดยมีการรวบรวมที่ดินจากชาวบ้านและที่ดินสาธารณะ เพื่อก่อสร้างโครงการกว่า 1,900 ไร่

ต่อมาปี 2542 ภาคประชาชนในพื้นที่ได้เข้าร้องเรียนกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จนนำมาสู่การชี้มูลความผิดนักการเมือง 3 คน คือ นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และนายวัฒนา อัศวเหม ในคดีแรกเมื่อปี 2550

ต่อมาปี 2551 ศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติ 8 ต่อ 1 ตัดความผิดนายวัฒนา มีโทษจำคุก 5-20 ปี ใช้อำนาจข่มขืนใจ หรือจูงใจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดิน จ.สมุทรปราการ สาขาบางพลี ออกโฉนดที่ดิน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 10 ปี แต่นายวัฒนาหลบหนีจึงออกหมายจับ

ส่วนคดีที่ 2 ป.ป.ช.มีมติ เมื่อปี 2554 ชี้มูลความผิดนายวัฒนาและอดีตข้าราชการกรมควบคุมมลพิษ แต่ให้ยุติคดีกับนายยิ่งพันธ์เพราะเสียชีวิต ส่วนนายสุวัจน์คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด ต่อมาปี 2554 คณะอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายเงินที่ค้างและค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้กับกิจกรรมร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) รวมเป็นเงินกว่า 9,600 ล้านบาท และศาลปกครองสูงสุดได้มีความเห็นชอบให้จ่ายค่าเสียหายให้เอกชน

กระทั่งเดือน พ.ย.2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จ่ายเสียหายและดอกเบี้ยตามคำสั่งศาล โดยแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด โดยได้จ่ายเงินงวดแรกไปแล้วกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบข้อกฎหมาย เพราะมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ตัดสินว่าคดีนี้มาการทุจริต

ขณะเดียวกัน กรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลังก็ได้ร้องขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คำพิพากษาของศาลแขวงดุสิตและคำพิพากษาของศาลอาญาที่มีการตัดสินลงโทษอดีตข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในโครงการ 23,000 ล้านบาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"เพิกถอน" คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการจ่ายค่าโง่ 9 พันล้าน

สตง.ทำหนังสือถึงรัฐบาลให้ระงับจ่าย "ค่าโง่คลองด่าน" 9.6 พันล้าน

จำคุก 20 ปี อดีตอธิบดีคพ.-รองฯ-ผอ.กองฯ คดีเอื้อประโยชน์ผู้รับเหมา

ปปง.อายัดทรัพย์ที่เป็นสิทธิ์เรียกร้องในหนี้คดี "คลองด่าน" กว่า 4.7 พันล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง