เปิดขั้นตอนทุจริต “กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต” ยักยอกเงิน 88 ล้านบาท

อาชญากรรม
16 มี.ค. 61
19:52
3,226
Logo Thai PBS
เปิดขั้นตอนทุจริต “กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต” ยักยอกเงิน 88 ล้านบาท
ช่องโหว่ของเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต เกิดจากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ที่ให้สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษาประสานกับโรงเรียนโดยตรง โดยไม่ผ่านเขตพื้นที่การศึกษา

จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ปีการศึกษา 2555-2560 มีนักเรียนพยาบาลที่รับเงินทุนจากกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ครบเต็มจำนวนเพียง 56 คน จากทั้งหมด 254 คน ที่เหลืออีก 198 คน ทั้งที่ยังศึกษาอยู่และจบการศึกษาไปแล้ว ยังได้รับทุนไม่ครบและค้างจ่าย รวมแล้วเป็นเงินมากกว่า 11 ล้านบาท

จากกรณีดังกล่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ มีข้อมูลอธิบายถึงการทุจริต และยักยอกเงิน 88 ล้านบาท ดังนี้

 

กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต เริ่มในปี 2537 ตั้งขึ้นมาเพื่อจะช่วยเหลือเด็กผู้หญิง 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้แก่กลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อของการค้าประเวณี หรือที่เรียกว่า ตกเขียว สนับสนุนนักเรียนหญิงตั้งแต่ ม.1 ถึงจบปริญญาตรีให้เรียนพยาบาล กลุ่มที่ 2 ช่วยเด็กยากจน

ตามโครงสร้างจะมีคณะกรรมการกองทุนมีปลัดกระทรวงศึกษาเป็นประธาน แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบสำคัญที่สุดคือ สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา ดูแลเรื่องเอกสารเบิกเงิน เหมือนกับเป็นฝ่ายธุรการ

ช่องโหว่เริ่มขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จากเดิมสำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา จะต้องประสานผ่านเขตพื้นที่การศึกษาไปถึงโรงเรียน แต่ภายหลังเปลี่ยนหลักเกณฑ์ ให้สำนักประสานกับโรงเรียนโดยตรง

ขั้นตอนที่ 1 สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา ประสานไปยังโรงเรียนว่ามีเด็กเข้าเกณฑ์จะได้รับความช่วยเหลือหรือไม่

ขั้นตอนที่ 2 โรงเรียนสำรวจนักเรียนของตัวเอง มีใครเข้าเกณฑ์บ้าง

ขั้นตอนที่ 3 ครอบครัวของเด็กๆ รวบรวมเอกสารการขอทุนกลับมาให้โรงเรียน

ขั้นตอนที่ 4 โรงเรียนส่งเอกสารขอเบิกเงินขึ้นไปที่สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา

ขั้นตอนที่ 5 สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกองทุน คณะกรรมการพิจารณาตามเอกสารที่เด็กๆ ส่งมา

ขั้นตอนที่ 6 ส่งเรื่องให้กองคลัง ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือไปยังเด็กที่เสนอขอรับทุน

ขั้นตอนที่ 7 กองคลังทำตามเอกสารโอนเงินออกไป แต่ไม่รู้ว่าปลายทางของบัญชีนั้น คือบัญชีที่ข้าราชการจากสำนักส่งเสริมกิจการการศึกษาเปิดไว้โดยใช้ชื่อญาติ แต่ข้าราชการในสำนักอาจจะไปแจ้งโรงเรียนว่า ไม่ได้รับทุน

เรื่องถูกเปิดเผยเมื่อเจ้าหน้าที่โอนเงินพบว่า เลขบัญชีที่โอนออกไป ทำไมเป็นเลขเดียวกัน ซ้ำๆ กัน ถึงแม้จะใช้ชื่อเด็กคนละคน จึงลองสุ่มตรวจจากเลข 13 หลัก ปรากฎว่าทั้ง 20 คน ที่เคยโอนเงินเข้าไป ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับทุนตัวจริง

 

สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา ก่อนหน้านี้ที่มีข้าราชการ ซี 8 ผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ในสำนัก รับสารภาพ แต่เธอไม่ใช่ผู้อยู่เบื้องหลังทั้งหมด ยังมีอดีต ผอ.สำนัก ซี 9 ซึ่งเป็นผู้รู้เห็นเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร การเปิดบัญชีของเครือญาติ ซึ่งขณะนี้ถูกย้ายแล้ว และที่เหลือก็มีเจ้าหน้าที่ในสำนักอีก 4-5 คน ช่วยกันยักยอกเงิน 88 ล้านบาท มากกว่าครึ่งหนึ่งที่กองทุนนี้ได้งบประมาณในรอบ 10 ปี

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง