อย่าเชื่อ "โซเชียล-ดารา" รีวิวสินค้าสุขภาพแฝงสารอันตราย

สังคม
29 เม.ย. 61
11:57
803
Logo Thai PBS
 อย่าเชื่อ "โซเชียล-ดารา" รีวิวสินค้าสุขภาพแฝงสารอันตราย
อย. ยืนยันผู้ประกอบการทำผิดกฎหมาย ลักลอบใส่สารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์มีเพียงส่วนน้อย ไม่จำเป็นต้องยกเลิกระบบจดแจ้งขึ้นทะเบียนออนไลน์ หวั่นกระทบผู้ประกอบการส่วนใหญ่ มั่นใจควบคุมได้และมีมาตรการ เฝ้าระวังสุ่มตรวจอย่างต่อเนื่อง

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายสมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หลังตำรวจทลายเครือข่ายบริษัท เมจิกสกิน ซึ่งลักลอบใช้เครื่องหมาย อย.เพื่อใช้ผลิตอาหารเสริม และเครื่องสำอางไม่ได้มาตรฐานจำหน่าย ซึ่งกรณีนี้ในแง่บวกส่งผลให้เกิดกระแสตื่นตัวทั้งในกลุ่มผู้บริโภค รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยังเกิดการตรวจสอบสินค้าสุขภาพไร้มาตรฐานในท้องตลาด 

ช่องว่างผู้ผลิตใช้เลข อย.ปลอม 

การตรวจสอบเพียงแค่เลข อย. ไม่สามารถบอกได้เลยว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอม หรือว่าลักลอบผสมสารอันตรายด้วยหรือไม่ อย่างกลุ่มเครื่องสำอาง เป็นเพียงแค่การมาจดแจ้งว่าจะผลิตเครื่องสำอางอะไร และมีส่วนประกอบอะไรบ้าง หากไม่ผิดหลักเกณฑ์ของ อย. ก็จะได้รับการจดแจ้ง เลขสารบบอาหาร หรือ เลข อย. ซึ่งเป็นระบบการจดแจ้งเลขแบบออนไลน์

"เลข อย. เป็นการตรวจสอบเบื้องต้นของส่วนประกอบฉลาก สถานที่ผลิต ระบบการผลิต แต่ไม่ได้หมายรวมไปถึงสรรพคุณของผลิตภัณฑ์นั้นด้วย แต่เจ้าหน้าที่จะมีการตรวจสอบภายหลังว่าทำตามที่จดแจ้งไว้หรือไม่"

สัดส่วนผลิตภัณฑ์ถูก-ผิดกฎหมาย 

ผู้ประกอบการบางรายและเป็นเพียงส่วนน้อย ที่มักจะแอบลักลอบไม่ทำตาม เช่น แอบใส่สารอันตรายที่นอกเหนือไปจากที่ยื่นจดแจ้ง หรือไปลอบผลิตในสถานที่อื่นที่ไม่ได้จดแจ้งเอาไว้ อย่างกรณีของ บริษัท เมจิก สกิน ที่ทำการไปยื่นจดแจ้งในสถานที่ผลิตแห่งหนึ่ง แต่พบเจ้าหน้าที่ไปสุ่มตรวจ กลับพบว่าไม่ตรงกับที่จดแจ้งไว้ผลิตภัณฑ์มีการใช้เลขจดแจ้งของโรงงานที่จ้างผลิตอยู่

"ผู้กระทำผิดหรือมีเจตนาไม่สุจริตมีเพียงส่วนน้อย หากออกมาตรการที่เข้มงวดเกินไป ในการขึ้นทะเบียนขอร้บรองเลข อย. ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคกับผู้ประกอบการที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย"

 

 

เลข อย. 7 แสนรายการ มีเพียง 1 ใน 3 ที่ขายอยู่จริง 

มีผู้ประกอบการรายใหม่ที่มาจดแจ้งยื่นขอ อย. จำนวนมาก เฉพาะเครื่องสำอาง ปี 2560 มีมาจดแจ้งแล้วประมาณ 14,000 ราย กว่า 700,000 รายการ แต่มีผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายอยู่ประมาณ 200,000-300,000 รายการ หรือ ประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนที่จดแจ้งทั้งหมดเท่านั้น เนื่องจากมีการจดแจ้งแล้วเลิกไปและยังมีค้างอยู่ในระบบ

5 ปี จับ 400 ราย มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท

อย.มีการตรวจสอบเฝ้าระวัง ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัย และโฆษณาผิดกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณา ผ่านทางสื่อ โทรทัศน์ เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย โดยมีการสุ่มตรวจ ติดตามเฝ้าระวังผลิตภัฑณ์ที่อยู่ในท้องตลอด และหลายกรณี เป็นเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามา จนนำไปสู้การจับกุมดำเนินคดีกับผู้ผลิตได้

ตั้งแต่ปี 2557-2560 มีการดำเนินคดีมากับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายแล้วประมาณ 400 ราย มูลค่าของกลางกว่า 300 ล้านบาท เฉพาะคดีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ในปี 2558 ดำเนินคดี 148 ราย มูลค่าของกลาง 185 ล้านบาท ปี 2559 ดำเนินคดี 162 ราย มูลค่าของกลาง 129 ล้านบาท ปี 2560 ดำเนินคดี 121 ราย มูลค่าของกลาง 11 ล้านบาท

อย.ได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำการฝ่าฝืน กรณีแสดงฉลากไม่ถูกต้องมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอม มีโทษจำคุก 6 -10 ปี ปรับ 5,000 -100,000 บาท

 

ลักลอบใส่สารอันตรายในผลิตภัณฑ์ 

ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง พบมีการลักลอบใส่สารอันตราย อ้างทำให้ผิวขาว เช่น ไอโดฟินโน สารปรอทแอมโมเนีย ร้ายหนักมีการใส่สารสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย อีกกลุ่มหนึ่งก็คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร พบมีการลักลอบใส่สารอันตราย เช่น "ไซบูทรามีน" ซึ่งออกฤทธิ์กดประสาท อ้างสรรพคุณช่วยในการลดน้ำหนัก และ บิซาโคดิล หรือ ยาระบาย ซึ่งปัจจุบันถูกถอดออกจากยาแผนปัจจุบันทุกประเภท เพราะมีผลข้างเคียงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังเคยพบส่วนประกอบจำพวกไวอากร้า เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่ม เช่น กาแฟ

ที่ผ่านมายังไม่พบการใช้สารเสพติด เช่น ยาบ้า เข้าไปเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ตามที่มีกระแสข่าว มีเพียงการใช่สารเคมีบางตัวต้องห้ามอันตราย

ตรวจสอบสินค้า ก่อนและหลังออกถึงมือผู้บริโภค 

แม้ว่าจะมีการตรวจสอบตั้งแต่ต้น หากผู้ประกอบการเองมีเจตนาที่ไม่สุจริต ก็มีการลับลอบใส่สารประกอบที่เป็นอันตรายได้ในภายหลัง เรื่องนี้ อย.ไม่ได้นิ่งนอนใจได้มีการติดตามเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพที่จำหน่ายในท้องตลาด แต่ก็ยังพบมีการโฆษณาอ้างสรรพคุณเกินจริง ในผลิตภัณฑ์อาหารจำนวนมาก โดยจากการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในช่วงระหว่างปี 2559-2560 พบกว่าร้อยละ 30 มีการการลักลอบใส่ยาแผนปัจจุบัน เช่น ยาลดความอ้วน ยาเสริมสมรรถภาพทางเพศ

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบมีน้อย สร้างเครือข่ายแจ้งข้อมูล

เจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพ เฉพาะเครื่องสำอาง มีประมาณ 10 คน ซึ่งทำหน้าที่ในการลงพื้นที่ตรวจสอบตามสถานที่ผลิต ทางสื่อเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และทางสื่อโทรทัศน์ตลอด โดยดำเนินการร่วมกับตำรวจ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และเครือข่ายผู้บริโภค ในการตรวจสอบและติดตามผลิตภัณฑ์ที่กระทำผิดกฎหมาย นอกจากนี้ อย.ยังมีหน่วยงาน ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ในการการรับเรื่องร้องเรียนและการปราบปรามตรวจสอบการกระทำผิดอีกทางหนึ่งด้วย โดยที่ผ่านมามีผู้บริโภคโทรเข้ามาร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาในเรื่องภัณฑ์จำนวนมาก

 

การดำเนินการกับกลุ่มศิลปิน เน็ตไอดอล รีวิวสินค้า 

เรื่องดาราเน็ตไอดอลไปรีวิวผลิตภัณฑ์ ต้องให้ตำรวจสอบสวนทำหน้าที่ อย่างไรก็ตามที่ผ่าน อย.ได้เคยทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังต้นสังกัดแล้ว แต่ยังพบการกระทำอีก จึงขอให้ ดารา เน็ตไอดอล ที่เป็นฟรีเซ็นเตอร์ในการรีวิวสินค้าระมัดระวังด้วย

ตอนนี้ทางผู้บริโภคเองได้รับรู้ รับทราบข้อมูลมากขึ้น คงจะได้มีการระมัดระวังป้องกันตัวเอง รวมไปถึงดาราเอง หรือพรีเซ็นเตอร์เอง ก็คงจะมีความตระหนักมากขึ้น จากกรณีตวรจจับ เมจิกสกิน

ระวังตัว ไม่ตกเป็นเหยื่อ ธุรกิจอาหารเสริม 

การจำหน่ายสินค้าผ่านทางสื่อโซเชียลทำได้ง่าย และสื่อไปถึงผู้บริโภคได้ง่าย ทำให้ผู้บริโภคคล้อยตาม ทั้งนี้ผู้บริโภคจึงไม่ควรหลงเชื่อข้อมูลโฆษณาที่มีการอ้วดอ้างสรรพคุณเกินจริง และควรระมัดระวังตัวเอง เช่น การตรวจสอบว่าผลิตภัฑณ์มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ มีฉลาก ชื่อผู้ผลิต แหล่งผลิตที่ชัดเจน เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองในเบื้องต้น

หากประชาชนต้องการตรวจสอบเลขทะเบียนที่จดแจ้งในเว็บไซต์ จะพบเพียงข้อมูลที่ผู้ประกอบการมายื่นจดแจ้งไว้และระบุสถานะว่ายังอยู่หรือไม่เท่านั้น ผู้บริโภคจึงควรระมัดระวังตนเอง ไม่หลงเชื่อคำโฆษณาที่มีการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง

สามารถตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์ของ อย. www.fda.moph.go.th หรือ ในแอปพลิเคชั่นของ อย. Oyor smart App หรือ สอบถามมาที่สายด่วน อย. 1556

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง