นายกฯ ย้ำไม่เข้าข้าง "พุทธะอิสระ" ขอโทษเหตุ จนท.บุกจับไม่เหมาะสม

สังคม
27 พ.ค. 61
19:10
1,147
Logo Thai PBS
นายกฯ ย้ำไม่เข้าข้าง "พุทธะอิสระ" ขอโทษเหตุ จนท.บุกจับไม่เหมาะสม
นายกรัฐมนตรี ขอโทษแทนเจ้าหน้าที่ทำไม่เหมาะสมกรณีจับอดีตพระพุทธะอิสระ ย้ำไม่ได้เข้าข้างใครและไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัว วอนหยุดบิดเบือนสร้างความแตกแยก

วันนี้ (27 พ.ค.61) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิดโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มการเมืองตั้งข้อสังเกตเรื่องนายกรัฐมนตรีกล่าวขอโทษประชาชนแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าจับกุมนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกันหรือไม่ ว่า ตัวเองไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใด แต่ขอโทษกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำไม่เหมาะสม เนื่องจากเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว เป็นหน้าที่ของศาลในการตัดสิน รวมทั้งเหตุการณ์เกิดขึ้นในเขตวัดหรือสังฆาวาส อาจกระทบต่อความรู้สึกของพุทธศาสนิกชน โดยได้ตักเตือนให้เจ้าหน้าที่ยึดแนวทางปฏิบัตินี้แล้ว ดังนั้นจึงไม่อยากให้นำไปบิดเบือนสร้างเรื่องกันต่อไปโดยเฉพาะกลุ่มการเมืองและสื่อมวลชนบางสำนัก

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวใดๆ กับนายสุวิทย์ และไม่เคยคิดนำเรื่องส่วนตัวไปปะปนกับการบริหารบ้านเมือง พร้อมย้ำว่ารัฐบาลยึดหลักกฎหมายและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย หากกระทำผิดต้องได้รับโทษเช่นเดียวกัน


ขณะที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินคดีกับอดีตพระพุทธะอิสระ เป็นไปตามพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง ส่วนสาเหตุที่รัฐบาล หรือ คสช. ต้องกล่าวขอโทษกับภาพการจับกุมที่บางฝ่ายเห็นว่ารุนแรงเกินกว่าเหตุ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ไม่ใช่การหวั่นเกรงเสียฐานคะแนนนิยม หรือมวลชนแต่อย่างใด

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า การปฏิบัติงานของรัฐบาลยึดตามข้อเท็จจริงและให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยไม่มีอคติ และย้ำว่าการจับกุมพระสงฆ์ ถือเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลไม่ใช่เรื่องของคณะสงฆ์ หรือวงการสงฆ์โดยรวม

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์และสาส์นสำคัญ เนื่องในกิจกรรมวันวิสาขบูชา ภายใต้หัวข้อพระพุทธศาสนากับการพัฒนามนุษย์ ว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในพระธรรมคำสั่งสอนของพุทธเจ้า และสามารถนำมาเป็นเครื่องมือประยุกต์เพื่อการพัฒนามนุษย์ให้เกิดความมั่นคงในการดำเนินชีวิต มั่งคั่งทางวัฒนธรรม และการประกอบสัมมาชีพ รวมถึงความยั่งยืนทางเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม จนทำให้มนุษย์สามารถใช้ร่วมกันอย่างสันติสุขในบริบทของโลกในยุคดิจิทัล ที่กำลังเปลี่ยนแปลงและพัฒนามนุษย์อย่างยั่งยืนได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง