สันติภาพและความคาดหวัง ประชุมสุดยอด "ทรัมป์-คิม"

ต่างประเทศ
12 มิ.ย. 61
08:08
1,503
Logo Thai PBS
สันติภาพและความคาดหวัง ประชุมสุดยอด "ทรัมป์-คิม"
แน่นอนว่านอกจากการสานสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน การพบปะกันของ 2 ผู้นำในวันนี้จะต้องมีประเด็นการปลดอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งนอกจากปัญหาความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลีที่เรื้อรัง สิ่งใดบ้างที่ทั่วโลกอาจคาดหวังว่าจะได้เห็นหลังจากการประชุมครั้งประวัติศาสตร์นี้

การพบปะกันครั้งประวัติศาสตร์ในวันนี้ ทางการเกาหลีเหนือระบุว่า นายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ และประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะหารือกันถึงกลไกในการรักษาสันติภาพอย่างถาวรและยั่งยืน รวมถึงการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีและประเด็นอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้ง 2 ประเทศ

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศชัดว่า ตนกำลังทำภารกิจเพื่อสันติภาพ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า สันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี ย่อมหมายรวมถึงการยุติสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการ ในทางเทคนิคเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ยังคงอยู่ในภาวะสงคราม หลังเปิดฉากต่อสู้กันเมื่อปี 1950 โดยมีจีนและองค์การสหประชาชาติหนุนหลัง กระทั่งปี 1953 จึงลงนามในข้อตกลงหยุดยิง โดยยังไม่เคยมีการทำสนธิสัญญาสงบศึกนับแต่นั้นมา

เป้าหมายหนึ่งของการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ ซึ่งคาดว่าจะผลักดันการยุติสงครามเกาหลี เป็นประเด็นที่ทรัมป์ยอมรับว่าจะสำเร็จได้โดยง่าย เมื่อเทียบกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์ หลังจากคิม จอง อึน ขึ้นรับตำแหน่งผู้นำสูงสุดเมื่อปี 2012 เกาหลีเหนือเร่งพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์อย่างชัดเจน มีการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์หลายต่อหลายครั้ง แม้จะเผชิญมาตรการคว่ำบาตรจากองค์การสหประชาชาติ

สถานการณ์ตึงเครียดหนักเมื่อเกาหลีเหนือทดสอบระเบิดไฮโดรเจน ช่วงต้นปี 2016 และประกาศความสำเร็จในการพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปที่ยิงได้ไกลถึงสหรัฐอเมริกา เมื่อปลายปี 2017 แม้ล่าสุด เกาหลีเหนือจะทำลายสถานที่ทดสอบนิวเคลียร์ไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มองว่า น่าจะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 10 ปีกว่าจะบรรลุเป้าหมายการปลดอาวุธนิวเคลียร์ตามที่สหรัฐฯ ต้องการ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ 4 ข้อ คือ การปลดอาวุธโดยสมบูรณ์ ตรวจสอบได้ นำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้ และมีการรื้อถอนปัจจัยที่เกี่ยวข้อง

แต่เป้าหมายดังกล่าวอาจไม่เกิดขึ้นในการเจรจาเพียงนัดเดียวเพราะเกาหลีเหนือมองว่าอาวุธนิวเคลียร์คือหลักประกันความมั่นคง และจะไม่ยอมสูญเสียคลังอาวุธที่สั่งสมมาแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ได้อะไรตอบแทน

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า นอกจากการคลายมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและจีน ต่างต้องให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่เกาหลีเหนือ สอดคล้องกับความตั้งใจของคิม จอง อึน ที่ประกาศจะหันไปพัฒนาเศรษฐกิจแทนการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

สิ่งที่น่าจับตามองนอกจากการเจรจาที่อาจไม่ประสบผลสำเร็จโดยง่ายคงหนีไม่พ้นความพยายามในการสานสัมพันธ์ครั้งใหม่ของผู้นำ 2 ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นปรปักษ์ต่อกัน แม้ทั้งคู่จะแสดงท่าทีเชิงบวกก่อนการประชุม แต่สุดท้ายแล้ว ต่างฝ่ายต่างทราบดีถึงสิ่งที่อีกคนหนึ่งปรารถนา

คิม จอง อึน ทราบดีว่าทรัมป์ต้องการปลดอาวุธนิวเคลียร์ ขณะที่ทรัมป์รู้ว่าเกาหลีเหนือต้องการการยอมรับและความช่วยเหลือจากประชาคมโลก ซึ่งทั้งคู่ต่างไม่มีใครต้องการกลับบ้านมือเปล่า เพราะหากไม่เกิดสันติภาพขึ้นในการประชุมครั้งนี้ ก็มีโอกาสสูงว่าทางเลือกอื่นที่แข็งกร้าวรุนแรงกว่าเดิม อาจถูกนำมาใช้เพื่อตอบโต้กันและกัน ซึ่งทั่วโลกคงต้องตั้งตารอผลการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์นี้ต่อไป ว่าจะช่วยสร้างสันติภาพได้ ตามที่ทั่วโลกคาดหวังหรือไม่

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง