กลุ่มผู้เลี้ยงสุกร จ.ราชบุรี เรียกร้องช่วยเหลือราคาหมูตกต่ำ

ภูมิภาค
18 มิ.ย. 61
18:52
1,688
Logo Thai PBS
กลุ่มผู้เลี้ยงสุกร จ.ราชบุรี เรียกร้องช่วยเหลือราคาหมูตกต่ำ
กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรใน จ.ราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียง เข้าพบรองผู้ว่าฯ ราชบุรี เพื่อหารือมาตรการช่วยเหลือ หลังราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มเหลือเพียง 53 บ./กก. ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ 60-63 บ./กก. เบื้องต้น เสนอร่วมผลักดันราคาสุกรให้อยู่ที่ 63 บ./กก. ภายใน 4 เดือน

วันนี้ (18 มิ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้ร่วมพูดคุยกับผู้ประกอบการฟาร์มหมูในภาคตะวันตก ซึ่งประกอบด้วย จ.ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ที่มารวมตัวกันที่โรงแรมโกลเด้นท์ ต.โคกหม้อ อ.เมือง จ.ราชบุรี เพื่อหาวิธีในการแก้ปัญหาราคาหมูที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้ โดยมีหัวข้อว่า "เปิดอก ถกประเด็น อยู่หรือไป สุกรไทยในภาคตะวันตก" หลังผู้ประกอบการฟาร์มหมูได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาหมูที่ถูก ซึ่งขายที่หน้าฟาร์มกิโลกรัมละ 53 บาท ทั้งที่ต้นทุนของหมูนั้นอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 60 - 63 บาท ทำให้ผู้ประกอบการฟาร์มหมูต้องแบกรับภาระการขาดทุนมาเกือบ 1 ปี วันนี้ จึงได้มารวมตัวกันเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยการรวมตัวกันและให้เสนอแนวคิดในการดำเนินการ

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร จ.ราชบุรี และเป็นอุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า วันนี้ได้เชิญกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรในภาคตะวันตก มาพูดคุยกันถึงสถานการณ์ราคาหมูตกต่ำ หลังผ่านมาประมาณ 10 เดือนและไม่มีทีท่าว่าจะขึ้น เนื่องจากเหตุผลที่ว่ามันมีการสะสมในพื้นที่และโยกย้ายหมูออกไปที่อื่น ทำให้ราคาในพื้นที่ภาคตะวันตกมีราคาตกต่ำที่สุดในประเทศไทย ซึ่งราคาหน้าฟาร์มอยู่ที่ 53 บาท ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ประเมินราคาไว้ที่ 63 บาท ต่อหมู 1 ตัว 100 กิโล ราคา 5,300-5,400 บาท แต่ต้นทุนอยู่ที่ 6,300 บาท ซึ่งขาดทุนถึง 900-1,000 บาท ซึ่งเป็นในลักษณะนี้ประมาณ 7-8 เดือนแล้ว นี่คือปัญหาที่รุมเร้ามาเรื่อยๆ ซึ่งค่า GDP ของ จ.ราชบุรี หายไปประมาณ 10,000 ล้านบาท เพราะว่า จ.ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เลี้ยงหมูถึง 25% ของทั้งประเทศ

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสาเหตุที่เราต้องทำการเชิญมาร่วมพูดคุยกันเพื่อหาวิธี และรวมตัวกันประกาศราคาหมูให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมในวันนี้ทางเราได้มีการประชุมย่อยกับทางกรมปศุสัตว์มาหลายครั้งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับนโยบายแผนการผลิต แผนการตลาดของประเทศไทยในภาวะที่มีซัพพลายล้นตลาด โดยมติที่ประชุมลงความเห็นว่าจะขอความร่วมมือทุกภาคส่วนให้ช่วยดันราคาไปถึง 63 บาท ภายใน 4 เดือน เพื่อลดภาระของเกษตรกรรายใหญ่ รายกลาง และรายย่อย ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมคงไม่น่าเป็นห่วง ซึ่งหลังจากดันขึ้นไปถึง 63 บาทแล้วค่อยลงมาดูปริมาณซัพพลายในพื้นที่ว่าเหลือมากน้อยเพียงใดถึงจะประเมินสถานการณ์แล้วค่อยประกาศราคาอีกครั้งหนึ่ง

ที่ผ่านมา ทางผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีได้พยายามหารือเพื่อหาทางแก้ไข ซึ่งได้เชิญไปคุยที่กรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ มีการเปิดตลาดประชารัฐในแต่ละอำเภอ แต่ในเบื้องต้นในนามของสมาคม ไม่อยากให้กลุ่มเกษตรกรรายย่อย รายกลางหายไป ซึ่งแต่เดิมแล้ว จ.ราชบุรี เคยมีผู้เลี้ยงสุกรตั้งแต่ปี 2555-2556 มากถึง 1,900 ราย แต่ในวันนี้น่าจะเหลือประมาณ 1,100 -1,200 ราย และส่วนที่ลดลงไปเป็นเกษตรกรรายย่อย และรายกลางทั้งสิ้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง