กฟภ.เชียงใหม่ ยืนยันเหตุไฟไหม้สายสื่อสารเกิดจากไฟฟ้าช็อต

ภูมิภาค
19 มิ.ย. 61
18:57
1,377
Logo Thai PBS
กฟภ.เชียงใหม่ ยืนยันเหตุไฟไหม้สายสื่อสารเกิดจากไฟฟ้าช็อต
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.เชียงใหม่ 2 ยืนยันเหตุไฟไหม้สายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ย่านถนนนิมมานเหมินทร์ เกิดจากไฟฟ้าช็อต ส่วนความคืบหน้าการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินยังอยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้างภายใน 3 เดือน

วันนี้ (19 มิ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่บริษัทเอกชนเร่งเข้าซ่อมแซมสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า บนถนนนิมมานเหมินทร์ ซอย 2 เขตตัวเมืองเชียงใหม่ หลังจากที่เกิดเหตุไฟไหม้สายสื่อสาร เมื่อค่ำวานนี้ (18 มิ.ย.) เป็นเหตุให้สายไฟฟ้าแรงสูงที่อยู่ด้านบนสุดเกิดระเบิด ส่งผลให้ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง ชาวบ้านย่านนิมมานเหมินทร์ ระบุว่า ย่านนิมมานเหมินทร์มีสายสื่อสารจำนวนมาก ทำให้เกิดความเสี่ยงและกังวลว่าจะเกิดเหตุซ้ำขึ้นได้

เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.เชียงใหม่ 2 ระบุว่า สาเหตุเบื้องต้น เกิดจากการช็อต ทำให้เกิดประกายไฟไหม้สายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า เป็นเหตุให้สายไฟฟ้าแรงสูงขาด ขณะนี้ได้เร่งดำเนินการซ่อมแซมให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชน

นายบุญลือ อึ๊งบำรุงพันธุ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า เทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นหนึ่งใน 4 พื้นที่ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ นำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างภายใน 3 เดือน งบประมาณ 3,978 ล้านบาท ตามแผนจะแล้วเสร็จในอีก 5 ปี

ส่วนสายสื่อสารปัจจุบัน มีทั้งเช่าและฝากพาดสายกับเสาไฟฟ้าของ กฟภ. แต่หากนำสายไฟฟ้าลงดินแล้ว กสทช.มอบหมายให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบสายสื่อสาร ซึ่งผู้ประกอบการต้องดำเนินการเช่ากับทีโอทีแทน

ก่อนหน้านี้ เทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมกับ กฟภ.ทำถนนไร้สายไฟครั้งแรก บริเวณถนนท่าแพและถนนช้างคลาน โดยใช้ระยะเวลา 7 ปีด้วยงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท

 

 

ขณะที่การนำสายไฟฟ้าลงไปไว้ในท่อใต้ดินเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครมานับสิบปี แต่ยังทำไม่ได้ทุกจุด จากข้อจำกัดเรื่องแนวท่อที่ไม่ครอบคลุม จุดแรกที่ทำเป็นอันดับแรกๆ คือถนนสีลม ตอนนี้ไม่มีสายไฟ แต่ยังเหลือสายสื่อสารอีกจำนวนมาก

สำหรับภาพสายไฟระโยงระยางตาม 2 ข้างทาง กลายเป็นภาพชินตาในกรุงเทพฯ ทั้งที่ข้อเท็จจริงภาครัฐ นำโดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นำร่องโครงการนำสายไฟฟ้าลงดิน ตั้งแต่ปี 2530 หนึ่งในนั้น คือถนนสายสีลม ที่มีการเก็บสายไฟลงใต้ดินแล้ว แต่ภาพสายไฟพาดผ่านหลังคา หน้าร้าน และที่พักอาศัยของประชาชน คือสายเคเบิล และสายสื่อสาร ที่ยังไม่ได้ถูกเก็บลงดิน

"สีลมเป็นโครงการแรกๆ ที่เก็บสายไฟลงดิน แต่สายที่เห็นคือสายสื่อสาร เช่น สายม้วนเป็นวงกลม คือสายยังไม่มีผู้เช่า และสายที่ชำรุดแล้วยังไม่ได้เก็บ เพราะผู้ประกอบการไม่จัดการเนื่องจากมีต้นทุนสูงกว่าเดิม 10 เท่า"

คำกล่าวอ้างของผู้ประกอบการมากจากการประเมินจาก "ค่าเช่าพาดสาย" ในอัตรา 2,975 บาท ต่อ 1 กิโลเมตรต่อปี ทั้งที่หลายแห่ง มีบริษัทให้บริการเช่าท่อร้อยสายลงใต้ดิน

ทั้งนี้ จากการสำรวจของทีมข่าวไทยพีบีเอส พบว่าทางเลี้ยวเข้าแยกศาลาแดงต่อจากถนนสีลม มีสายไฟพาดผ่านมากที่สุด โดยเฉพาะสายเคเบิลและสื่อสารที่ถูกม้วนไว้ และลากซ้อนกันตลอดแนวอาคาร ซึ่งผู้ประกอบการในละแวกนั้น ยืนยันว่ามีสายไฟหย่อนลงมาบ่อยครั้งในฤดูฝน และกลัวว่าจะเกิดอันตรายกับผู้สัญจรไปมา แต่ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่เข้ามาแก้ไข

ขณะที่บางคนคุ้นชินกับสายไฟรกตา แต่ไม่หวังจะให้เจ้าหน้าที่เก็บสายไฟลงใต้ดิน ขอเพียงการจัดเก็บที่เป็นระเบียบเรียบร้อยเท่านั้น หลังการสอบถามผู้ประกอบการส่วนใหญ่ พบว่าไม่ทราบว่ามีการเก็บสายไฟลงดินแล้ว แต่สายที่เหลือส่วนใหญ่เป็นสายสื่อสาร หรือสารเคเบิล แต่อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของประชาชนในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของการเก็บสายไฟและสายโทรคมนาคมลงใต้ดิน คงไม่ใช่เพื่อทัศนียภาพที่สวยงามเท่านั้น แต่เป็นการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนในการใช้ชีวิตระหว่างการสัญจรผ่านสายไฟเหล่านี้

 

 

ทั้งนี้ เวลาที่เราเห็นสายตกท้องช้าง พาดลงมาจนเกือบจะถูกตัวเรา สิ่งแรกที่ทุกคนคงจะรู้สึกเหมือนกัน คือกลัวไฟดูด ยิ่งเห็นสายทองแดงด้านใน ยิ่งกลัว แต่ใช่สายไฟหรือไม่ ดูยังไงมาดูข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้าใน กทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ ว่าเสาสายไฟฟ้าอากาศ 1 ต้น ประกอบด้วยสายอะไรบ้าง ซึ่งชั้นบนสุดถูกออกแบบมาให้เป็นสายไฟฟ้าแรงสูง 12,000 โวลต์ และ 24,000 โวลต์ ถัดลงมา เป็นสายไฟฟ้าแรงต่ำ 230-400 โวลต์ และชั้นล่างสุด คือสายสื่อสาร

กฟน.ยืนยันว่าสายไฟทั้ง 2 ชั้น มีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อน ติดไฟยาก หากมีประกายไฟ จะไหม้เป็นจุด ไม่ลุกลาม และมีระบบรองรับ โดยสายที่เกิดปัญหาไฟไหม้ส่วนใหญ่ คือสายสื่อสารที่ไม่ได้มาตรฐาน และรกรุงรังเพราะไม่ได้ย้ายสายเก่าออก เมื่อมีการติดตั้งสายใหม่ และมีผู้ประกอบการมีแอบลักลอบติดตั้งโดยไม่แจ้ง แม้บางส่วนจะแก้ไขให้เป็นไฟเบอร์ออพติกที่ไม่ติดไฟแล้ว แต่ยังมีสายเก่าที่ทำจากลวดทองแดง ที่เกิดการเหนี่ยวนำจนเกิดไฟลุกไหม้ได้

ส่วนสาเหตุที่ต้องมีสายสื่อสาร เพราะ พ.ร.บ.กสทช.กำหนดให้ กฟน.และ กฟภ.ต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการที่ได้รับในอนุญาตจาก กสทช.ให้สามารถพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าอากาศได้ โดยให้ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าบริการพาดสาย 2,975 บาทต่อกิโลเมตรต่อปี ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาสายรกรุงรัง กฟน.ไม่มีอำนาจไปตัดสายใครได้

แต่หลายๆ จุดที่ กฟน.ได้ดำเนินการปรับปรุงเป็นระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน มีโครงการนำสายสื่อสารลงดินไปด้วยตามแผน คือระยะทาง 214 กิโลเมตร ขณะนี้ ดำเนินการแล้ว 43.5 กิโลเมตร ที่ถนนพหลโยธิน, ถนนพญาไท, ถนนสุขุมวิท, ถนนราชวิถี, ถนนพระรามที่ 1, ถนนราชปรารภ, ถนนศรีอยุธยา, ถนนพิษณุโลก ส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 171 กิโลเมตร ได้แก่ ถนนสาธุประดิษฐ์, ถนนนราธิวาสราชนครินทร์, ถนนพระรามที่ 3, ถนนรัชดาภิเษก, ถนนพระรามที่ 5 ซึ่งในอนาคต กฟน.มีโครงการที่จะนำสายสื่อสารใส่ในท่ออากาศในจุดที่ท่อใต้ดินไม่ครอบคลุม

สำหรับสาเหตุที่ไม่เอาสายสื่อสารลงไปด้วย เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เฉพาะการตัดสินใจของ กฟน.เท่านั้น เพราะหน่วยงานดูแลเรื่องการพาดสาย คือ กสทช.ใต้ดินเป็นพื้นที่ของ กทม.ดังนั้น ถ้าจะเอาสายสื่อสารลงใต้ดิน กทม.และ กสทช.ต้องคุยกัน แต่ กทม.อนุญาตให้ลงได้แค่ท่อสายสื่อสารของทีโอที กับ แคท เท่านั้น ซึ่งค่าใช้จ่ายถ้าเอาลงดิน จะมีค่าใช้จ่ายแพงกว่าปกติ 10 เท่า สมมติต้นทุนบนอากาศ เมตรละ 10 บาท ใต้ดิน 100 บาท ทำให้ผู้ประกอบการสายสื่อสารไม่อยากลงทุน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง