ศธ.ชี้แจงครูร้องยุติชำระหนี้ ช.พ.ค.ไม่กระทบภาพลักษณ์ เหตุเกษียณแล้ว

สังคม
17 ก.ค. 61
18:33
2,240
Logo Thai PBS
ศธ.ชี้แจงครูร้องยุติชำระหนี้ ช.พ.ค.ไม่กระทบภาพลักษณ์ เหตุเกษียณแล้ว
กลุ่มวิชาชีพครูออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องขอยุติการชำระหนี้เงินกู้ ช.พ.ค.ตั้งแต่ 1 ส.ค.นี้ ซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมาะสมต่อวิชาชีพหรือไม่ ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการชี้แจงว่าครูที่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นครูที่เกษียณแล้ว ไม่ใช่ตัวแทนของครูที่เป็นหนี้ทั้งหมด

วันนี้ (17 ก.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารออมสิน พักหนี้ในโครงการสวัสดิการเงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ทุกโครงการ และจะยุติการชำระหนี้กับธนาคารออมสิน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้

นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า กรณีนี้ไม่กระทบกับภาพลักษณ์ของครู เพราะกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเกษียณอายุราชการแล้ว โดยตั้งแต่เปิดโครงการ ช.พ.ค.มา 7 โครงการ ตั้งแต่ปี 2547-2558 มีครูเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 930,000 คน เป็นเงิน 760,000 ล้านบาท และข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 พบว่าเหลือครูที่ยังเป็นหนี้โครงการ 480,000 คน เป็นเงิน 410,000 ล้านบาท

และเมื่อเปิดโครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูหลายโครงการก็มีผู้เข้าร่วมมาตลอด โดยเฉพาะโครงการลดดอกเบี้ยให้ครูที่มีวินัยทางการเงินที่ดี มีครูได้รับประโยชน์ 370,000 คน ทำให้ลดดอกเบี้ยได้ถึงปีละ 2,500 ล้านบาท โดยจะมีเพียง 65,000 คน ที่ไม่ได้รับการลดดอกเบี้ย เพราะมียอดหนี้ค้างชำระและไม่มาปรับโครงสร้างหนี้ ขณะเดียวกัน มีครูประมาณ 20,000 คนที่ไม่สามารถติดตามตัวมาชำระหนี้ได้ พร้อมกันนี้เสนอว่าก่อนจะมีการอนุมัติเงินกู้ควรมีการตรวจสอบเครดิตบูโรก่อนว่าครูมีความสามารถในการชำระหนี้ได้หรือไม่

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า มีครูไม่ถึงร้อยละ 10 ที่ติดตามมาชำระหนี้ไม่ได้ ส่วนใหญ่มีวินัยในการชำระหนี้ที่ดี เชื่อว่ากรณีนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ครู ขณะเดียวกัน กระทรวงฯ ได้ออกมาตรการช่วยเหลือหนี้ครูอย่างต่อเนื่อง

นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณีข้าราชการครูบางคนใน ช.พ.ค.จะไม่ชำระหนี้ โดยระบุว่า หนี้เกิดจากนิติกรรมสัญญา การที่เรามีหนี้สินมากและไม่สามารถชำระคืนกับเจ้าหนี้ได้ จึงถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย ผลที่ตามมาคือกรณีของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หากถูกพิพากษาให้ล้มละลาย จะขาดคุณสมบัติในการเป็นข้าราชการ ตามมาตรา 30 ของกฎหมายระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรและบุคลากรทางการศึกษา ปี 2557 และเมื่อคุณสมบัติไม่ถูกต้องแล้ว มาตรา 110 ก็กำหนดให้ผู้มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการได้

ขณะที่เสียงสะท้อนจากข้าราชการบำนาญคนหนึ่งใน จ.มหาสารคาม ซึ่งกู้เงิน ช.พ.ค.จำนวน 1,200,000 บาท ผ่อนชำระมาเกือบ 7 ปี แต่เมื่อดูยอดหนี้ กลับพบว่ายังเหลือเงินต้นกว่า 1,070,000 บาท โดยครูคนนี้เกษียณมาแล้วกว่า 3 ปี ปัจจุบันรับเงินบำนาญเดือนละ 52,000 บาท หากไม่มีหนี้ สามารถใช้ชีวิตในวัยเกษียณได้อย่างสบาย แต่ในข้อเท็จจริง เขาเหลือเงินใช้เพียงเดือนละ 2,000-3,000 บาทเท่านั้น เพราะต้องหักทั้งเงินกู้สหกรณ์ เงินกู้ ช.พ.ค. เงินกู้กรุงไทยธนวัฎ และค่างวดรถยนต์ ยังไม่รวมเงินกู้ ธ.ก.ส.อีก 2,000,000 บาท ที่ต้องจ่ายเป็นรายปี

เขาเล่าถึงความจำเป็นในการกู้เงินแต่ละก้อน เริ่มจากการสร้างบ้าน ซื้อรถยนต์ ส่งลูกเรียนหนังสือ รวมทั้งตัวเขาเองต้องศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ซึ่งทั้งหมดยืนยันว่าไม่ได้เป็นความฟุ่มเฟือย แต่เป็นความจำเป็นในการใช้ชีวิตและสังคมปัจจุบัน

สำหรับโครงการ ช.พ.ค. ซึ่งครูส่วนใหญ่หวังว่าจะช่วยนำมาใช้จ่ายเพื่อพัฒนาชีวิตครู แต่สิ่งที่ครูตั้งคำถามไปยังสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อ คืออัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงและภาระการผ่อนที่ยาวนานถึง 30 ปี ทำให้จำนวนหนี้ไม่ลดลง พวกเขาจึงเรียกร้องให้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะพักชำระหนี้เป็นเวลา 3 เดือน และการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง